"เงินทิป" คงเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ครั้งแรกทางด้านการเงินของใครหลายๆคน แต่สำหรับหลายคนอาจเป็นการเปิดบัญชีธนาคารครั้งแรก การออมเพื่อซื้อของที่ชอบครั้งแรก การให้เพื่อนยืมเงินครั้งแรก การทวงหนี้ครั้งแรก ความสำเร็จหรือความล้มเหลวครั้งแรกจากการลงทุน ฯลฯ ซึ่งเรื่องราวส่วนใหญ่เกิดจากการตั้งต้นต่อตัวเองเป็นหลัก

"เงินทิป" เราคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี และกองบรรณาธิการจึงลองแชร์ประสบการณ์ครั้งแรกกันว่าประสบการณ์ด้านไหนที่น่าสนใจ และน่าจะมีบทเรียนด้านการเงินและการใช้ชีวิตมาฝากผู้อ่านด้วย สุดท้ายเราพบว่าเรื่องการได้ทิป (TIP) ครั้งแรกนั้นฟังดูน่าสนใจมาก เพราะเป็นการได้ทิปจากต่างแดน และเป็นการได้ทิปครั้งแรกและครั้งเดียวในวันสุดท้ายในการทำงานร้านอาหารที่มอบบทเรียนหลายอย่าง

การเลือกออกเดินทางไปใช้ชีวิตต่างแดน ดูจะเป็นแรงขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ที่ผลัดกันตบเท้าออกไปหาประสบการณ์ และรายได้ในการตั้งตัวกันมากขึ้นกว่ายุคก่อนๆ ร้านอาหารไทยในต่างแดนก็ถือเป็นโรงเรียนชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ได้เรียนรู้จชจากการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน และลูกค้าหลายระดับที่เสมือนเป็นครูประจำชั้นของใครหลายคน

เส้นทางกว่าจะได้ทิปครั้งแรกนั้นไม่ง่ายเลย เพราะส่วนใหญ่พนักงานใหม่ที่เข้าไปทำร้านอาหารนั้นจะต้องเรียนรู้จากหลังครัวไปสู่หน้าร้าน นั่นคือต้องเรียนรู้ว่าใครทำหน้าที่อะไร อาหารจำพวกต้ม ผัด ทอด อยู่ตรงไหน จานแบบไหนใส่อาหารประเภทใด การเสิร์ฟอาหารให้ได้มากที่สุดสามารถเสิร์ฟได้ด้วยวิธีใด

จากนั้นต้องจดจำชื่อเมนู และราคาอาหารให้แม่นยำ เพราะนอกจากรับออร์เดอร์ที่ลูกค้าภายในร้านจะสั่งแล้ว ยังต้องคอยรับออร์เดอร์จากทางโทรศัพท์ และลูกค้าขาจรที่เดินเข้ามาสั่งอีก จากนั้นต้องจำเลขโต๊ะเพื่อกันเสิร์ฟผิดพลาด รวมถึงวิธีการคิดเงิน และการตั้งและตอบคำถามกรณีลูกค้ามีข้อสงสัย

ทั้งหมดที่เล่ามานั้นเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เลย แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนเป็นฟันเฟืองของกันและกัน ถ้าใครตกหล่นตรงไหนก็ยังมีคนอื่นสามารถรองรับได้ในบางตำแหน่ง นี่คือภาพใหญ่ในระบบการทำงานต่อการสร้างรายได้ไม่ต่างจากการทำงานออฟฟิศของมนุษย์เงินเดือนในปัจจุบัน

ย่อลงมาในส่วนของภาพเล็กหรือรายบุคคล พนักงานเสิร์ฟจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่ลูกค้ามากเป็นพิเศษ ตั้งแต่การทักทายตอนลูกค้าเดินเข้าร้าน การสอบถามตำแหน่งที่นั่งที่ลูกค้าพึงพอใจ การแนะนำอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการจดจำประวัติของลูกค้าประจำว่าชื่ออะไร ชอบกินเมนูไหน แพ้อาหารประเภทใด ในขณะเดียวกันก็ยังต้องคอยหมั่นเดินตรวจความเรียบร้อยของโต๊ะ แก้ว จาน ชาม และปริมาณเครื่องดื่มในแก้วน้ำของลูกค้าไม่ให้ขาดอยู่เสมอ แถมยังต้องรับความกดดันจากคำตำหนิติเตียนจากลูกค้ากรณีรออาหารนาน หรือเสิร์ฟอาหารผิดโต๊ะอีกต่างหาก

ประสบการณ์เหล่านี้คือชีวิตที่ต้องแลกแรงกายแรงใจเพื่อค่าจ้างในการดำรงอยู่ โดยค่าจ้างในการทำงานร้านอาหารจะจ่ายเป็นกะหรือเป็นรอบเวลาเสิร์ฟ ซึ่งส่วนใหญ่ต่อวันจะเปิดอยู่สองช่วงคือเช้ากับเย็นจนถึงค่ำ โดยจะมีกล่องทิป (Tip Box) ตั้งอยู่บริเวณหน้าเคาน์เตอร์ เพื่อให้ลูกค้าที่พึงพอใจ และยินดีที่จะจ่ายให้ ซึ่งทิปในกล่องนี้จะถูกนำไปหารเฉลี่ย เพื่อให้แก่พนักงานเสิร์ฟ และคนในครัวหลังเลิกงาน

จนกระทั่งวันสุดท้ายของการทำงานในร้านอาหาร มีลูกค้าคู่รักคู่หนึ่งเดินมายื่นธนบัตรจำนวนหนึ่งให้แก่เรา พร้อมกับบอกว่า

“For You Only...Good Food Best Service”

การได้ "เงินทิป" ครั้งนั้นแม้จะไม่ใช่เงินจำนวนมาก แต่ก็ให้บทเรียนหลายอย่างในชีวิตและคุณค่าของเงินที่หามาได้

1. ให้เกียรติในงานที่ทำ

ถึงแม้ว่างานนั้นจะไม่ใช่งานที่เรารักที่สุดในตอนนั้น แต่ก็มีคนได้รับผลกระทบต่อสิ่งที่เราทำอยู่ดี เช่น เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้าที่รออาหารจากเรา

2. ความอดทนคือคุณสมบัติของคนที่รอคอยความสำเร็จเป็น

วันนี้ลูกค้าอาจจะไม่พอใจกับการทำงานที่ล่าช้าของเรา แต่เราต้องหัดให้โอกาสตัวเองในการแก้ไข จนได้รับคำชื่นชมอีกครั้ง ชีวิตก็มีขึ้นมีลงแบบนี้

3. แม่เหล็กในการให้รายได้วิ่งมาหา

คือการที่เราต้องแลกบางอย่างต่อรายได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นแรงกาย ความผิดพลาด หรือความไม่รู้ นี่คือกฎเกณฑ์ที่ต้องแลกกับรายได้ที่เราอยากได้เสมอ

4.  ไม่มีความสบายที่สอนให้เราเติบโตเท่าความยากลำบาก

ยิ่งผ่านมามากเราจะยิ่งเข้าใจ และมีความชำนาญในการปรับตัวและยืดหยุ่นต่อการแก้ไขปัญหาได้มากเท่านั้น

5. การทำงานคนเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ได้

การทำงานเป็นทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแง่คิดกับประสบการณ์ในช่วงเวลาที่ปัญหาถาโถมเข้ามานั้นจะได้รับทางเลือกแก้ไขที่หลากหลายกว่าที่เราจมความคิดอยู่ตัวคนเดียว

6. จดจำคำตำหนิไว้เตือนสติในวันที่เราหลงระเริง

และนึกถึงคำชื่นชมที่เคยได้รับเพื่อมอบให้ตัวเองในวันที่หมดกำลังใจ

7. รายได้คือมูลค่าจากการทำงานที่เราสามารถมอบความสุขให้แก่ตัวเองได้

แต่ประสบการณ์นั้นคือคุณค่าที่ประเมินไม่ได้ที่เราควรนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นให้มากที่สุด

8. เก็บจำนวนเงินที่ได้จากเหตุการณ์ที่ยากลำบาก

หรือเหตุการณ์ที่ประทับใจเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่งกว่าจะได้มานั้นเราต้องแลกกับอะไรมาบ้าง

9. เงินยังคงเป็นสิ่งสำคัญ

การเรียนรู้ถึงความยากลำบากในการหามาได้นั้นมีคุณค่ายิ่งกว่าการมีเงินหลักล้านโดยที่ไม่รู้ว่าเงินเหล่านั้นมาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร

10. อย่าคิดมากเกินไปจนเกิดความกลัว

เพราะโอกาสในการใช้ชีวิตมีระเบิดเวลาตั้งอยู่เสมอ ผลักตัวเองลงไปในสนามในความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ นี่แหละ ธรรมชาติจะสอนให้เราเอาตัวรอดเอง

ประสบการณ์ครั้งแรกนั้นมีค่า และมันจะมีค่ามากไปอีก ถ้าคุณอ่านแล้วแชร์ออกไปให้คนอื่นๆ ได้อ่าน เพื่อออกไปค้นหาเป้าหมายของคำว่า ‘ครั้งแรก’ ที่เราตั้งใจอยากพิชิตไว้ อย่าลืมว่าโอกาสในการใช้ชีวิตมีระเบิดเวลาตั้งอยู่เสมอ

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

 Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/

ทีมกองบรรณาธิการ aomMONEํY