สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับปิ่นอีกครั้งนะคะ คราวที่แล้วเราคุยกันว่า สภาพเศรษฐกิจก็ไม่ต่างอะไรจากการตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี และเราสามารถใช้ตัวเลขจีดีพีตรวจสุขภาพของเศรษฐกิจได้ยังไงบ้าง เช่นเดียวกับสุขภาพของคน เวลาเราจะตรวจสุขภาพของเศรษฐกิจ เราจะใช้ตัวชี้วัดตัวเดียวไม่ได้ ต้องดูตัวอื่นๆ มาประกอบกันด้วย วันนี้ปิ่นก็เลยจะมาเล่าให้ฟังเรื่อง ‘เงินเฟ้อ’ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่งที่สถาบันต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ใช้เป็นตัวชี้วัดสุขภาพของเศรษฐกิจค่ะ


อาการ เงินเฟ้อ บอกอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด

ทุกๆคนทราบดีว่าเงินเฟ้อคือเปอร์เซ็นต์การขึ้นราคาของสินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉลี่ยทั้งประเทศ แต่อย่าลืมว่า ราคาจะเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเหตุผล 2 อย่าง คือ ปริมาณสินค้า (Supply) และความต้องการของคน (Demand) ที่มีต่อสินค้านั้นๆ ฉะนั้น เวลาเศรษฐกิจดีขึ้น คนจะมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ เริ่มสูงขึ้น จึงทำให้เงินเฟ้อขยับขึ้นได้ค่ะ


เงินเฟ้อ อีกหนึ่งอาการที่ต้องตรวจสุขภาพเศรษฐกิจ


หลายคนคงตั้งคำถามว่า แล้วแบบนี้เวลาเงินเฟ้อสูงขึ้น แปลว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเหรอ คำตอบคือ ต้องดูว่าส่วนไหนของเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นค่ะ

ก่อนอื่น ราคาของสินค้าและบริการต่างๆ ที่เอามาคิดเงินเฟ้อ แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน

  • ส่วนที่ 1 คือ ราคาของพลังงานต่างๆ เช่น ราคาน้ำมัน ราคาแก๊สหุงต้ม คิดเป็นประมาณ 12% ของสินค้าทั้งหมด
  • ส่วนที่ 2 คือ ราคาอาหารสดต่างๆ คิดเป็นประมาณ 16% ของสินค้าทั้งหมด
  • ส่วนที่ 3 คือ ราคาของสินค้าและบริการที่เหลือ ซึ่งอัตราการขึ้นของราคาสินค้าประเภทนี้ เรียกกันว่า ‘อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน’ ซึ่งคิดเป็น 72% ของสินค้าทั้งหมดค่ะ

ทีนี้เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศค่อนข้างเล็กที่นำเข้าพลังงาน เช่น น้ำมัน ราคาของพลังงานต่างๆ จึงผันผวนตามปริมาณและความต้องการในตลาดโลกมากกว่าความต้องการในประเทศไทย 

นอกจากนี้ ราคาของอาหารสดยังแปรผันตามจำนวนผลผลิตที่ขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศ และสภาวะโรคพืชโรคสัตว์ต่างๆ ที่อยู่เหนือการควบคุม ราคาของอาหารสดจึงไม่สามารถสะท้อนความต้องการของคนในประเทศได้เท่าที่ควร


เงินเฟ้อ อีกหนึ่งอาการที่ต้องตรวจสุขภาพเศรษฐกิจ


เพราะฉะนั้น เวลาเราจะใช้ตัวเลขเงินเฟ้อตรวจดูสภาพเศรษฐกิจไทย เราควรตัดราคาพลังงานและอาหารสดออกไป เหลือไว้แต่ส่วนของราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ปรับตามความต้องการของคนในประเทศได้มากกว่าค่ะ แต่ถ้าราคาของสินค้าพวกนี้เพิ่มขึ้นเพราะเหตุผลอื่นๆ เช่น เพราะปริมาณสินค้าลดลงผิดปกติ เพราะการขึ้นภาษี หรือเพราะความต้องการจากต่างประเทศมีมากขึ้น อันนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจดีขึ้นนะคะ

เงินเฟ้อส่งสัญญาณอะไรกับเศรษฐกิจไทย

  1. ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาขึ้น จากตัวเลขล่าสุดในเดือนกรกฏาคม เงินเฟ้ออยู่ที่ 1.46% 
  2. แต่ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะราคาพลังงาน ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั่วประเทศถึง 10.18% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลก
  3. ในทางตรงกันข้าม ราคาอาหารสดลดลง 1.61%
  4. ส่วนราคาของสินค้าและบริการที่เหลือเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั่วประเทศเพียง 0.79% ค่ะ

เงินเฟ้อ อีกหนึ่งอาการที่ต้องตรวจสุขภาพเศรษฐกิจ


สรุปคือ ตัวเลขเงินเฟ้อส่งสัญญาณบอกเราว่า การที่ราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ราคาน้ำมัน แต่ไม่ได้เกิดจากการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศมากนัก เมื่อนำมาดูพร้อมๆกับตัวเลขจีดีพี ก็จะเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า การฟื้นตัวของสุขภาพเศรษฐกิจไทยยังไม่กระจายไปทั่วทั้งร่าง ผลจากรายได้โดยรวมของประเทศที่ดีขึ้น ยังไม่ได้ทำให้ความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยของคนในวงกว้างเร่งตัวมากขึ้นซักเท่าไหร่ หลายคนจึงยังไม่ค่อยรู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้นค่ะ

อีกอย่างนึง อย่าลืมนะคะ ว่าเวลาคำนวณเงินเฟ้อ เค้าใช้ราคาของทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่สำหรับคนที่อยู่ในเมืองที่ค่าครองชีพสูงอย่างกรุงเทพฯ ความจริงมันโหดร้ายกว่านั้นค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมเราถึงรู้สึกว่าของมันแพงกว่าที่ตัวเลขเงินเฟ้อบอกเราค่ะ 

ถ้ามีคำถามอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจ คอมเมนต์มาได้เลยนะคะ แล้วคราวหน้า ปิ่นจะมาเล่าเรื่องต่างๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจอีกค่ะ สุดท้ายนี้ขอฝากไว้ว่า อยากรู้เรื่องเศรษฐกิจ ปิ่นว่าไม่ยากหรอกค่ะ