เงิน 1,000 บาท ใน 100 ปีก่อนเยอะแค่ไหน?

 

เวลาที่เราคุยกันระหว่างเพื่อนฝูงว่าจะไปกินโน้นกินนี่กัน มื้อนึง 300 บ้าง 500 บ้าง ถ้าไปเล่าให้คนสูงอายุหรือรุ่นพ่อรุ่นแม่ฟังเขาก็อาจจะตกใจไม่น้อย แล้วก็อาจจะอุทานขึ้นมาว่า ก๋วยเตี๋ยวสมัยก่อนชามละ 1 บาทเอง ขนมก็แค่หลักสลึง แต่พอในรุ่นของผมและเพื่อนๆที่เกิดในยุค 90 ก็จะเห็นขนมห่อนึงใหญ่บะเร่อ ซองละ 5 บาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 15 บาท แต่พอมาในสมัยนี้ยุค 201X ขนมห่อนึงปริมาณเท่าๆกันสมัยผมเป็นเด็กๆก็ปาไป 20-30 บาทละ เรื่องของกินไม่ต้องพูดเลย ข้าวและก๋วยเตี๋ยวชามนึงก็ 40-50 ขั้นต่ำแล้ว

 

หลายคนก็เลยถามว่า สมัยก่อนที่เขาใช้ๆเงินกันเนี่ย ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนมันจะความรู้สึกกันกี่บาทกันนะ วิธีการคำนวณก็มีหลายวิธีนะครับ จะขอเสนอไอเดียบางวิธีให้ลองคำนวณเล่นๆกัน

1.เปรียบเทียบโดยใช้อัตราเงินเฟ้อ

 

วิธีการนี้ก็จะใช้ตัวเลขไปเข้าสูตรของมูลค่าเงินอนาคต FV = PV(1+i)n โดยเรากำหนดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยดูว่าที่ผ่านมาเป็นเท่าไหร่ รวมแล้วเป็นจำนวนกี่ปีแล้วก็จะได้ตัวเลขคร่าวๆออกมาได้นะ โดยคำอธิบายมีดังนี้

 

FV = Future Value (ตัวเลขมูลค่าในอนาคต)

PV = Present Value (ตัวเลขมูลค่าในปัจจุบัน)

i = อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย

n = จำนวนปี

 

ตัวอย่างง่ายๆเช่น 100 ปีที่แล้วนั้นเราอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 และเงินเฟ้อโดยเฉลี่ย 100 ปีคือ 6% (เลขสมมติโดยใช้ตัวเลขใกล้เคียงจากปัจจุบัน) มาดูมูลค่ากันครับ

 

FV = ตัวเลขมูลค่าในอนาคต ซึ่งคือปี 2559

PV = ตัวเลขปัจจุบันในสมัย รัชกาลที่ 6 ด้วยมูลค่า 1,000 บาท

i = เงินเฟ้อ 6% โดยเฉลี่ย

n = 100 ปี

 

FV = PV (1+i)n

FV = 1,000 (1+0.06)100

FV =  339,302.28 บาท

 

คำนวณได้ที่ http://www.calculator.net/future-value-calculator.html

 

แต่วิธีนี้ผมเห็นข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่งก็คือ เราไม่รู้ว่า 100 ปีที่แล้วเงินเฟ้อรวมๆแล้วเฉลี่ยเท่าไหร่นะสิ และตัวเลขดังกล่าวก็เป็นตัวเลขสมมติเท่านั้นนะครับ อิอิ สมัยรัชกาลที่ 6 ก็คงยังไม่ได้มีใครเก็บสถิตินี้ไว้แน่ๆเลย

 

2.การเปรียบด้วยราคาทองคำ

 

ว่ากันว่าทองคำเป็นสิ่งที่คงทน ทองอยู่ที่ไหนก็คงยังเป็นทอง ผ่านไป 100 ปี ทองก็ยังหน้าตาเหมือนเดิม แต่ราคาของมันอาจจะเปลี่ยนไป และราคาทองคำในอดีตนั้นก็พอจะมีข้อมูล หาได้ง่ายกว่าอัตราเงินเฟ้อ ผมลองดูเล่นๆในเว็บไซต์ onlygold.com ที่มีการแสดงให้เห็นราคาทองคำย้อนหลังตั้งแต่ปี 1792 มาจนถึง 2015 จะเห็นได้ว่าในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 นั้น ทองราคาเฉลี่ยอยู่ที่ $20.67 ในขณะที่ปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ $1,060 ซึ่งเราสามารถดูจากเส้นกราฟราคาทองได้จากเว็บไซต์ macrotrends.net ได้เช่นกันนะครับ

 

เงิน 1,000 บาท ใน 100 ปีก่อนเยอะแค่ไหน?

 

ถ้าเมื่อ 100 ปีก่อน ราคาทองคือ $20.67 ปัจจุบันราคาทองคือ $1,060 แปลว่ามูลค่าของทองคำนั้นมันเปลี่ยนไป 51.28 เท่า อันนี้คือการเทียบกับ USD นะครับ ถ้าแปลงเป็นเงินบาทอาจจะมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ตรงนี้คำนวณค่อนข้างยากเพราะในสมัยรัชกาลที่ 6 ค่าเงินบาทนั้นไปเทียบกับเงินปอนด์ของอังกฤษอยู่แถวๆ 13 บาทต่อปอนด์ และมาเปลี่ยนเป็นการอ้างอิงสกุลเงินดอลลาร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ถ้าผมคิดคร่าวๆในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ค่าเงินบาทใน 100 ที่แล้วคร่าวๆ นั้นเป็นดังนี้นะครับ

  • 1 ปอนด์ = 13 บาท (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลังระหว่างปี 1907-1919)
  • 1 ปอนด์ = 4.70 ดอลลาร์ (http://www.miketodd.net/encyc/dollhist.htm)
  • เทียบไปเทียบมาแปลว่า 2.77 บาท เท่ากับ 1 ดอลลาร์

 

ทั้งหมดแพงขึ้นกี่เท่า?

 

100 ปีที่แล้วราคาทองคำเฉลี่ยเปรียบเทียบคือ $20.67 หรือ 57.26 บาท (USD 1 : THB 2.77 )

วันนี้ราคาทองคำเฉลี่ยเปรียบเทียบคือ $1,060 หรือ 37,100 บาท (USD 1 : THB 35)

รวมความแตกต่าง 647.92 เท่า ตามสูตรนี้ 1,000 บาทในสมัย 100 ปีก่อน ก็ตกอยู่ที่ 647,920 บาท

 

มาดูตัวอย่างมูลค่าต่างๆเช่นค่าก่อนสร้าง ค่าโรงแรม เงินเดือนของข้าราชการในสมัยนั้นกันนะครับ

 

ค่าก่อสร้างพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระราชวังพญาไท 46,000 บาท

  • คิดโดยเงินอัตราเงินเฟ้อ 6% เป็นเวลา 100 ปี = 15,607,895 บาท
  • คิดโดยการอ้างอิงราคาทองคำกับค่าเงิน USD 647.92 เท่า 100 ปี = 29,804,320 บาท

 

เงิน 1,000 บาท ใน 100 ปีก่อนเยอะแค่ไหน?

 

ค่าห้องพักที่แพงที่สุดและหรูหราที่สุด โฮเต็ลวังพญาไท 120 บาท (หลังสมัย ร.6 นิดๆ)

  • คิดโดยเงินอัตราเงินเฟ้อ 6% เป็นเวลา 100 ปี = 40,716 บาท
  • คิดโดยการอ้างอิงราคาทองคำกับค่าเงิน USD 647.92 เท่า 100 ปี = 80,990 บาท

 

เงิน 1,000 บาท ใน 100 ปีก่อนเยอะแค่ไหน?

 

 

เงินเดือนสุดท้ายของพระยาบริหารราชมานพ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงระดับเจ้ากรมชั้นที่ 1 เดือนละ 600 บาท (อ้างอิงจากจดหมายเหตุวชิราวุธ)

  • คิดโดยเงินอัตราเงินเฟ้อ 6% เป็นเวลา 100 ปี = 203,581.25 บาท
  • คิดโดยการอ้างอิงราคาทองคำกับค่าเงิน USD 647.92 เท่า 100 ปี = 388,752 บาท

 

แต่ท่านเริ่มรับราชการครั้งแรกที่เงินเดือน 65 บาทนะ (หรือ 2-3 หมื่นในปัจจุบันนะ) และพอท่านเป็นระดับผู้บริหาร(ผู้บังคับบัญชา) เงินเดือนของท่านก็มากขึ้นตามตำแหน่งที่รับผิดชอบ ผมว่าถ้าเปรียบเทียบผู้บริหารในบริษัทเอกชนสมัยนี้ก็มีตัวเลขที่ใกล้เคียงกันนะครับ

 

เงิน 1,000 บาท ใน 100 ปีก่อนเยอะแค่ไหน?

 

ทั้งหมดก็เป็นตัวอย่างการเปรียบเทียบค่าเงินคร่าวๆ โดยที่ผมพยายามจะหาข้อมูลที่ใกล้เคียงกับ 100 ปีที่แล้วให้ได้มากที่สุดนะครับ ก็เป็นแค่การเปรียบเทียบคร่าวๆ บางตัวเลขก็ไม่ได้ 100 ปีเปะๆ เอาใกล้เคียงในสมัยนั้น ตัวเลขไม่มีถูกผิดแบบเปะๆหรอกนะครับ เป็นแค่สมมติฐานและการไล่เรียงตามข้อมูลที่พอจะเป็นไปได้ ใครอยากรู้ว่าสมัยก่อนของราคาเท่าไหร่ก็ลองเปรียบเทียบกันดูได้นะครับ

 

เรื่องการเงิน สนุกเนอะ ^_^