“รายได้มากก็ต้องเสียภาษีมาก มันเป็นเรื่องธรรมชาติของคนรวย” มิตรสหายคุณหมอท่านหนึ่งกล่าวกับผม @TAXBugnoms เมื่อวันก่อน ด้วยน้ำเสียงท้อแท้ปนเสียใจ คล้ายกับต้องยอมรับความจริงที่ว่า โครงสร้างอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยนั้นเป็นแบบอัตราภาษีก้าวหน้า นั่นแปลว่า ยิ่งมีรายได้สูงแค่ไหน ยิ่งเสียภาษีนั่นเองคร้าบ

โดยเจ้าเงินได้สุทธิที่ว่านี้ คำนวณมาจาก (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ลดหย่อน) ซึ่งถ้าหากใครยังสงสัยหรือไม่แน่ใจเรื่องการคำนวณภาษีในส่วนนี้ แนะนำให้อ่านเพิ่มที่ซีรีย์ "ภาษีง๊ายง่าย" ทั้ง 3 ตอนกันก่อนครับ

แต่ถ้าใครได้อ่านบทความเรื่อง ภาษีง้ายง่ายในตอนที่ 2 จบไปแล้วก็จะรู้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการคำนวณภาษีนั้นคือ การเลือกประเภทของเงินได้ให้ถูกต้อง เพราะกฎหมายนั้นได้อ้างอิงการหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้นั่นเองครับ

ยิ่งถ้าเจาะลึกลงไปสำหรับอาชีพแพทย์ (คุณหมอ) แล้ว เราจะเห็นว่า รายได้สำหรับคุณหมอนั้นเข้าเกณฑ์ถือเป็นเงินได้ตามกฎหมายถึง 4 ประเภทจากเงินได้ทั้งหมด 8 ประเภทดังนี้ครับ

  1. เงินได้ประเภทที่ 1 หรือ เงินเดือน เช่น พวกเงินเวร เงิน พ.ต.ส. เบี้ยเลี้ยงที่ได้จากทางโรงพยาบาลได้ตกลงจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน
  2. เงินได้ประเภทที่ 2 หรือ เงินได้จากหน้าที่ที่เราได้รับจากผู้ว่าจ้าง เช่น เงินได้จากการเข้าเวรที่โรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่คุณหมอท่านนั้นได้ทำงานประจำอยู่
  3. เงินได้ประเภทที่ 6 หรือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ โดยวิชาแพทย์ถือเป็นการประกอบโรคศิลป์
  4. เงินได้ประเภทที่ 8 หรือ เงินได้อื่น ซึ่งได้จากการประกอบธุรกิจของคุณหมอโดยตรง อย่างการเปิดสถานพยาบาล (คลินิก) เป็นของตัวเองและต้องมีเตียงสำหรับผู้ป่วยเพื่อรับการรักษาพยาบาลค้างคืนด้วยครับ

โดยการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทนั้น แตกต่างกันมากกก โดยเงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 นั้นต้องนำมารวมกันและหักได้สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาทต่อปีเท่านั้นเอง แต่เงินได้ประเภทที่ 6 และ 8 นั้นสามารถเลือกหักแบบเหมาและตามจริง(จำเป็นและสมควร) ได้ โดยประเภทที่ 6 จะเลือกหักเหมาได้ในอัตรา 60% และประเภทที่ 8 หักเหมาในอัตรา 75%

ลองคิดตัวอย่างง่ายๆครับ ถ้าคุณหมอมีรายได้จากวิชาชีพแพทย์ 1 ล้านบาทเท่าๆกัน จะเลือกหักค่าใช้จ่ายหักได้แตกต่างกันตามประเภทของเงินได้ดังนี้ครับ

หมายเหตุ : เงินได้ประเภทที่ 1 และ 2 หักค่าใช้จ่ายรวมกันได้สูงสุดจำนวน 60,000 บาท

จากตารางข้างต้นนี้ เราจะเห็นว่าวิธีการจัดการที่จะช่วยลดเงินได้สุทธิให้ได้ดีที่สุดนั้น มีอยู่ 2 วิธี นั่นคือ การเพิ่มหน่วยภาษี หรือ การจัดประเภทรายได้ นั่นเองครับ

1. การเพิ่มหน่วยภาษี

คือ การกระจายรายได้ไปให้กับบุคคลอื่นแทน โดยแรกเริ่มเดิมทีคุณหมอส่วนใหญ่จะได้รับคำแนะนำให้วางแผนภาษีด้วยวิธีการตั้ง “คณะบุคคล” ขึ้นมา ซึ่งตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป คณะบุคคลดังกล่าวจะถูกกฎหมายบังคับให้เลิกใช้โดยปริยาย เนื่องจากมีเรื่องของการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนจากการแบ่งกำไร และจะต้องมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายอีกมากมายครับ (หากใครสนใจอ่านได้ที่บทความผมที่เขียนไว้ในบล็อกภาษีข้างถนน คือ บทความ ปรับปรุงภาษีห้างหุ้นส่วนและคณะบุคคล และ บทความ 5 ขั้นตอนควรรู้ก่อนยื่นภาษีห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล ครับ)

2. การจัดประเภทรายได้

คือ การจัดประเภทรายได้จากเงินได้รูปแบบหนึ่ง ให้กลายเป็นเงินได้อีกรูปแบบหนึ่งตามกฎหมาย เช่น จากงานรับจ้างธรรมดา (ประเภทที่ 2) กลายเป็น การประกอบวิชาชีพ (ประเภทที 6) โดยใช้เทคนิคและวิธีการต่างๆ เช่น

- การตกลงทำสัญญากับโรงพยาบาลเพื่อประกอบโรคศิลป์เป็นการส่วนตัว (เงินได้ประเภทที่ 6) โดยที่ไม่ใช่การว่าจ้างจากโรงพยาบาล

- การเปิดคลินิกพยาบาลในสถานที่ต่างๆ โดยใช้แทนการรับจ้างตรวจ เช่น เปิดคลินิกที่โรงงานเพื่อรับตรวจรักษาให้กับพนักงานในโรงงาน (เงินได้ประเภทที่ 6)

- เปิดเป็นสถานพยาบาลของตัวเอง โดยมีเตียงค้างคืนสำหรับผู้ป่วย (เงินได้ประเภทที่ 8)

และจากตัวอย่างที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ขอบอกเลยครับว่า หลักการวางแผนภาษีเรื่องการจัดประเภทรายได้นั้นถือเป็นหลักการที่เหมาะสมและถูกต้องมากกว่าการเพิ่มหน่วยภาษีครับ และเมื่อจัดประเภทรายได้เรียบร้อยแล้ว ก็มาพิจารณาเรื่องของการวางแผนภาษีโดยใช้ค่าลดหย่อนที่มีเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้สามารถประหยัดภาษีได้สูงสุดอีกต่อหนึ่งครับ

สุดท้ายนี้สิ่งหนึ่งที่อยากจะเน้นย้ำให้ฟังอีกสักครั้งก็คือ หลักการวางแผนภาษีที่ดีนั้น ไม่ใช่วางแผนเพื่อประหยัดภาษีให้มากที่สุด แต่ควรวางแผนโดยยึดความถูกต้องก่อนแล้วจึงค่อยหาทางเลือกในการประหยัดภาษีตามมา เพราะการวางแผนภาษีแบบผิด ๆ ในบางครั้งอาจจะทำให้ชีวิตเรามีปัญหาและถึงขั้นพังได้เลยนะคร้าบบบ