เมื่อ ANANDA กลับมา พร้อม “หุ้นกู้ HYBRID BOND” ดอกเบี้ย 8.5%

    ปี 2018 อาจจะเป็นปีที่ต้องจดจำอีกปีหนึ่งของ ANAN หรือบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อจำหน่าย ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจคอนโดมิเนียมในทำเลติดรถไฟฟ้าของกรุงเทพ โดยมีแบรนด์คอนโดมิเนียมชื่อดังในเครืออย่าง ASHTON, IDEO Q, IDEO MOBI, IDEO, VENIO และ ELIO

    หลังจากในช่วงต้นปีเกิดมรสุมเรื่องปัญหาการโอนคอนโดมิเนียมจนกดดันราคาหุ้นให้ตกไปอยู่ในช่วงราคา 3 บาทกว่า แต่ผ่านไปไม่นาน ปัญหาโครงการดังกล่าวก็คลี่คลายและสามารถโอนห้องชุดได้เป็นที่เรียบร้อย

ราคาหุ้นที่เคยถูกกดดันจากตลาดอย่างหนัก ก็ฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง โดยราคาหุ้นสร้างผลตอบแทนจากจุดต่ำสุดเกือบ 50% ภายในเวลา 4 เดือน


“ANAN” ถือเป็นบริษัทในกลุ่มผู้นำในตลาดอสังหาริมทรัพย์เมืองไทย

    อนันดาก่อตั้งขึ้นโดยคุณชานนท์ เรืองกฤตยา ในปี 2542 ก่อนจะเริ่มเปิดโครงการคอนโดมิเนียมแรกในปี 2550 และพัฒนาโครงการชื่อดังในกรุงเทพเรื่อยมา บริษัทถือว่ามีงบการเงินที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ อนันดามีผลกำไรย้อนหลัง 5 ปีอยู่ที่ 811, 1,301, 1,207, 1,501 และ 1,328 ล้านบาทในปี 2556 – 2560 ตามลำดับ

    อนันดาถือเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ชื่อว่ามีเป้าหมายการเติบโตแบบโดดเด่น จากวันแรกที่เปิดโครงการในปี 2550 ก็สามารถผลกำไรเกือบ 1,000 ล้านได้ในเวลาเกือบ 6 ปีซึ่งถือว่ารวดเร็วมากสำหรับบริษัทหนึ่งที่จะสร้างผลกำไรได้ในระดับพันล้าน 

    นอกจากผลกำไรที่ค่อนข้างจะมีความมั่นคงแล้ว บริษัทก็ยังจ่ายปันผลออกมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี บริษัทจ่ายเงินปันผลออกมาที่ 0.05, 0.10, 0.10, 0.13 และ 0.13 บาทต่อหุ้นตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    ปัจจุบัน อนันดามีขนาดกิจการตามมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 16,500 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีขนาดค่อนไปทางกลางถึงใหญ่ หากเทียบกับขนาดกิจการในอุตสาหกรรมเดียวกัน เมื่อเทียบทั้งในแง่ขนาด ผลกำไร และเงินปันผลแล้ว อนันดาก็ถือว่าเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างผลงานออกมาได้ดีทีเดียว ภายในช่วงเวลาการเติบโตที่ไม่มากเพียงแค่ 10 ปีเศษเมื่อนับจากโครงการแรกเปิดตัวเท่านั้น


วันนี้อนันดากลับมาพร้อม “หุ้นกู้ HYBRID BOND” ที่ให้ดอกเบี้ย 8.50% ในช่วง 5 ปีแรก

    "HYBRID BOND" หรือ "หุ้นกู้ประเภทด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน" คือการระดมทุนประเภทหนึ่งที่มีลักษณะกึ่งหนี้สินกึ่งทุน โดย HYBRID BOND มีลักษณะเป็นการกู้เงิน แต่สามารถบันทึกลงในส่วนทุนหรือ equity ได้หากตรงตามเงื่อนไขที่ทางบัญชีกำหนด

    ลักษณะสำคัญของ HYBRID BOND คือตราสารหนี้ประเภทที่ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (ตราสารหนี้ชนิดนี้จึงมีลักษณะคล้ายทุน เพราะไม่กำหนดวันไถ่ถอนเหมือนตราสารหนี้ทั่วไป) บริษัทผู้ออกตราสารมีหน้าที่จ่ายดอกเบี้ยไปตลอดระยะเวลา (ในที่นี้คือจนกว่าบริษัทจะปิดกิจการ) ตราสารประเภทนี้จึงมักจะมาพร้อมลักษณะการด้อยสิทธิหลายอย่างเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพระยะเวลาที่ไม่กำหนด โดยสิทธิที่มักจะมาคู่กันเลยคือสิทธิที่ผู้ออกตราสารจะไถ่ถอนก่อนกำหนด

    

“หุ้นกู้ HYBRID BOND” ของอนันดามีรายละเอียดที่สำคัญอย่างไรบ้าง?

  1. อัตราดอกเบี้ย
    หุ้นกู้ของอนันดาชุดนี้จ่ายดอกเบี้ยคงที่อยู่ที่ 8.50% ต่อปีในช่วงระยะเวลา 5 ปีแรก ต่อมาในปีที่ 6 – 25 ดอกเบี้ยจะอยู่ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีบวก Initial Credit Spread บวก 0.25% และหลังจากปีที่ 25 เป็นต้นไป ดอกเบี้ยจะอยู่ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีบวก Initial Credit Spread บวก 1.00% ซึ่งถ้าเทียบกับดอกเบี้ยฝากประจำธนาคารที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.5  – 2.0% หรือดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล อย่างดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์ 5 ปีของกระทรวงการคลังปีงบประมาณ 2561 ก็อยู่ที่ 2.15% ต่อปี จะเห็นว่ามีความแตกต่างค่อนข้างมาก ซึ่งก็จะสอดคล้องกับความเสี่ยงของตราสารที่จะออกในครั้งนี้

  2. ไม่กำหนดอายุไถ่ถอนและด้อยสิทธิ
    ตามลักษณะปรกติของ HYBRID BOND หุ้นกู้ของอนันดาไม่กำหนดอายุไถ่ถอนแต่ผู้ออกตราสารสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ แปลว่าผู้ถือตราสารจะได้รับดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนกว่าบริษัทจะไถ่ถอนหุ้นกู้หรือปิดกิจการ ถึงตอนนั้นผู้ถือหุ้นกู้ก็จะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยงวดสุดท้ายคืน

    เงื่อนไขที่สำคัญเกี่ยวกับดอกเบี้ยอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่จำกัดระยะเวลาและจำนวนครั้งตามดุลยพินิจของผู้ออกตราสาร แต่สะสมไว้จ่ายงวดถัดไปได้ แปลว่าหากบริษัทต้องการใช้เงินหรือไม่พร้อมจะจ่ายดอกเบี้ย บริษัทก็สามารถทบไปจ่ายงวดอื่นได้ แต่ในกรณีที่บริษัทเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ย บริษัทก็จะไม่สามารถจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้ด้วย ซึ่งดูจากการจ่ายเงินปันผลที่ต่อเนื่องของบริษัทในอดีตก็พอจะเชื่อมั่นในระดับหนึ่งได้ว่าบริษัทคงไม่มีการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ออกไป ถ้าไม่เกิดเหตุจำเป็นจริงๆ

  3. จำหน่ายให้กับผู้ลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น
    เนื่องจากหุ้นกู้ของอนันดามีรายละเอียดสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจหลายอย่าง และหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อยู่ที่ BB+ และบริษัทอนันดาได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ BBB แนวโน้ม Stable เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ทำให้ผู้ลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักทรัพย์มากกว่าปรกติ และจำกัดการลงทุนไว้ในกลุ่มนักลงทุนที่น่าจะมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนสูงเท่านั้น (ในที่นี้คือนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่)

    นักลงทุนรายใหญ่คือนักลงทุนที่ (1) มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ไม่นับรวมที่พักอาศัยประจำ หรือ (2) มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป หรือ (3) มีเงินลงทุนโดยตรงในหลักทรัพย์ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป


สรุป HYBRID BOND อนันดาอย่างกระชับฉับไว

    HYBRID BOND ของอนันดารอบนี้มีวงเงินชุดที่ 1 อยู่ที่ 1,500 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 8.50% ในช่วง 5 ปีแรก ไม่มีกำหนดไถ่ถอน ผู้ออกตราสารมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดและเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่จำกัดระยะเวลาและจำนวนครั้ง จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณทุกๆ 100,000 บาท ช่วงเวลาขายคือ 20 – 25 กันยายนนี้ และเรตติ้งอยู่ที่ BB+ ถือว่ามีความเสี่ยงมากกว่าปรกติ (แต่ก็ยังดีกว่าหุ้นกู้อีกเป็นจำนวนมากในประเทศไทย) จึงจำกัดการขายอยู่ในนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น

หุ้นกู้ชุดนี้มีรายละเอียดเยอะมาก โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนลงทุน

หากใครสนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมและสอบถามข้อสงสัยต่างๆ ได้ที่ผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้ คือ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขา หรือ www.cimbthai.com 


ลองขอข้อมูลเพิ่มเติมมาอ่านเล่นก็ดีนะ
HYBRID BOND ในประเทศไทยมีไม่บ่อย อ่านเป็นอาหารสมองก็เพลินดี


ลงทุนศาสตร์ - Investerest


บทความนี้เป็น Advertorial