เราเคยเจอคำถามแบบนี้มั้ย...


  • มือใหม่เพิ่งหัดลงทุน อยากเริ่มต้นที่กองทุนราคาถูกๆก่อน มีคำแนะนำมั้ยคะ?

  • ตอนนี้หุ้นตก เราจะซื้อกองทุนรวมเพิ่มดีมั้ยหรือว่ารอก่อนดีครับ?

  • ตอนนี้ลงทุนแล้วได้กำไร เราจะขายเลยดีมั้ย?

  • เรามีเงินก้อนหนึ่งจะเก็บไว้ที่ไหนดีล่ะ หุ้น กองทุนรวม ออมทอง ฯลฯ?

  • ระหว่างกองทุนรวม XXX กับกองทุนรวม YYY กองไหนน่าซื้อกว่ากัน?

  • ทำไมกองทุนนี้ปันผลบ่อยจัง เงินต้นไม่ค่อยเติบโต ช่วยบอกให้กองทุนจ่ายปันผลน้อยลงได้มั้ยคะ?


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำถามที่อภินิหารเงินออมรวบรวมจากกลุ่มใน FB แห่งหนึ่ง ส่วนคอมเม้นของสมาชิกในกลุ่มก็มาจากประสบการณ์ของแต่ละคน คำถามเดียวกันบางคนแนะนำให้ซื้อต่อ บางคนแนะนำให้ขายเลย ถ้าเป็นคนตั้งคำถามก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะเอายังไงดีกับเงินก้อนนี้ ในบทความนี้มีไอเดียตอบคำถามเหล่านี้ได้จ้า


ในโลกออนไลน์มีวิธีจัดการเงินหลายรูปแบบ ถ้าชอบวิธีไหนก็ทำแบบนั้น บทความนี้เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้พูดคุยกับหลายๆคนเรื่องการจัดการเงิน จนกลายเป็นความเชื่อที่ว่า “เงินแต่ละก้อนก็มีหน้าที่ของตัวเอง” ถ้าอ่านแล้วชอบก็นำไปปรับใช้กับตัวเองได้นะจ๊ะ



2 เรื่องก่อนเริ่มต้นเก็บเงิน 


1. เราจะเก็บเงินก้อนนี้ไปทำอะไรบ้าง? 


ถ้าเราให้เรื่องการเก็บเงินเหมือนการไปท่องเที่ยวที่เราต้องรู้ก่อนว่าจะขับรถไปเที่ยวที่ไหน การเก็บเงินอย่างไร้จุดหมายก็เหมือนการขับรถไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าอีกไกลมั้ยจะถึงที่ท่องเที่ยว 


ไม่ชัดเจน…

ถ้าเราไม่รู้ว่าจะขับรถไปที่ไหนแล้วขับไปเรื่อยๆ นอกจากเสียเงินค่าน้ำมันรถแล้ว ยังเสียเวลาอีกด้วย การเก็บสะสมเงินก็เช่นกัน ถ้าเราเก็บเงินไปเรื่อยๆ ก็ไม่รู้ว่าจะต้องเก็บไปถึงเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่ เก็บที่ไหน เพราะเป้าหมายการเงินของเราไม่ชัดเจน ภาพในอนาคตมันก็เบลอๆไปด้วย 


ชัดเจน…

ถ้าเรารู้แล้วว่าจะเดินทางไปเที่ยวที่ไหน ก็จะรู้ว่าตอนนี้ควรทำอะไรบ้าง เช่น อีก 1 ปีจะไปเที่ยวเชียงใหม่ ตอนนี้ก็ต้องคิดแล้วว่าจะเดินทางแบบไหน (เครืองบิน รถยนต์ มอไซด์ รถทัวร์ ฯลฯ) ถ้าไปทางเครื่องบินจะได้จองตั๋วตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะจะได้ราคาถูก ทริปนี้เน้นกินหรือท่องเที่ยวโบราณสถาน ต้องใช้เงินเท่าไหร่ เราจะได้ออกแบบโปรแกรมเที่ยวให้ตรงกับความต้องการ รวมถึงการเลือกที่พักใกล้ๆ เพื่อสะดวกกับการเดินทาง 


รู้จักตัวเอง…

รู้ว่าเราจะใช้เงินไปทำอะไรบ้าง โดยการตั้งเป้าหมายการเงินที่ดีต้องชัดเจน คือ “อะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่” เพื่อที่จะได้รู้ว่าตอนนี้เราจะต้องทำอะไรก่อนหลัง สำหรับคนที่ไม่ชำนาญการใช้เครื่องคิดเลขการเงินอาจจะคำนวณแบบธรรมดาที่ยังไม่รวบเงินเฟ้อ เพื่อจะได้เห็นตัวเลขคร่าวๆว่าอนาคตควรเตรียมเงินเก็บไว้เท่าไหร่ 


ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายการเงิน (เราจะใช้เงินก้อนนี้ไปทำอะไรบ้าง)

  • มีเงินฉุกเฉินเก็บไว้ 6 เท่าของค่าใช้จ่า่ย

  • อีก 20 ปีจะเกษียณ อยากใช้เดือนละ 20,000 บาท (เตรียมเงินไว้ประมาณ 10 ล้านบาท)

  • อีก 1 ปีไปเที่ยวต่างประเทศ ใช้เงินประมาณ 50,000 บาท

  • อีก 10 ปีลูกจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จะเก็บเงินให้ลูกเรียนประมาณ 400,000 บาท


เริ่มต้นเก็บเงิน เราต้องเริ่มที่เป้าหมายการเงิน

จากภาพนี้เราอายุ 35 ปี เกษียณตอนอายุ 60 ปี ญาติผู้ใหญ่อายุเกิน 90 เกือบทุกคน เราก็เลยคิดว่าตัวเองน่าจะอยู่ถึงอายุ 90 ปี เราต้องการใช้เงินหลังเกษียณเดือนละ 20,000 บาท แสดงว่าเราควรเตรียมเงินเกษียณไว้ 7,200,000 บาท (ตัวเลขยังไม่รวมเงินเฟ้อ)


2. เลือกวิธีเก็บเงินให้ตรงกับเป้าหมาย 


สถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งใช้ระยะเวลาการเตรียมตัวแตกต่างกัน ถ้าไปเที่ยวจังหวัดใกล้ๆ ใช้เวลาเตรียมตัวไม่นาน แพ็กกระเป๋าแป๊บเดียวก็เดินทางได้ทันที แต่ถ้าไปเที่ยวต่างประเทศก็ต้องใช้เวลาเตรียมเยอะมาก ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก การเดินทาง เสื้อผ้าที่เหมาะกับสภาพอากาศ ฯลฯ 


เรื่องการเก็บเงินก็เช่นกันที่ต้องเลือกให้เหมาะกับเป้าหมายการเงิน  โดยเลือกให้ตรงกับช่วงเวลาที่จะใช้เงินและความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ เพราะผลิตภัณฑ์การเงินแต่ละแบบมีนั้นลักษณะเฉพาะของตัวเองและความเสี่ยงไม่เท่ากัน จึงเหมาะสมกับเป้าหมายการเงินที่แตกต่างกัน 


  • เป้าหมายการเงินระยะสั้น ควรเก็บไว้ที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีสภาพคล่องสูง เช่น เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง กองทุนรวมตลาดเงิน

  • เป้าหมายการเงินระยะกลางถึงยาว ควรเก็บไว้ที่ที่มีความเสี่ยงและสภาพคล่องระดับปานกลางถึงสูง เช่น สลากออมสิน(สภาพคล่องต่ำ) กองทุนรวม(ความเสี่ยงระดับ 4 ขึ้นไป) หุ้นรายตัว ฯลฯ



รู้เป้าหมาย รู้ที่เก็บเงิน


เราต้องคิดภาพใหญ่ออกมาก่อนว่าเราจะใช้เงินทำอะไร เท่าไหร่บ้าง แล้วค่อยแบ่งย่อยลงมาว่าแต่ละเดือนจะเก็บเงินเท่าไหร่และเก็บที่ไหน 


รายได้ - เงินออม - หนี้สิน = รายจ่ายส่วนตัว


ภาพข้างล่างนี้เป็นบทสรุปของวิธีจัดการเงินของตัวเองว่า “ตอนนี้เราจะต้องเก็บเงินที่ไหนและเท่าไหร่” เพื่อเป็นไปตามเป้าหมายที่คิดไว้ เช่น ฝากประจำเดือนละ 8,000 บาท ครบ 3 ปี มีเงินดาวน์บ้านเกือบ 300,000 บาท หลังกู้เงินซื้อย้านกับธนาคารแล้ว เงินออมก็จะย้ายไปอยู่ฝั่งหนี้สิน


เริ่มต้นเก็บเงิน เราต้องเริ่มที่เป้าหมายการเงิน


คำถามช่วงต้นบทความตอบได้ด้วย “การตั้งเป้าหมายการเงินของตัวเอง” โดยมองภาพใหญ่ว่าทั้งชีวิตเราต้องการเงินไปทำอะไรบ้าง ในระยะสั้น กลางหรือยาว เรารับความเสี่ยงได้เท่าไหร่ แล้วเราจะรู้ว่าตอนนี้ควรจัดการอย่างไรกับเงินที่มีอยู่ เช่น  แต่ละเดือนต้องเก็บเงินที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ กลยุทธ์การลงทุนซื้อหรือขาย การปรับพอร์ตทุกกี่เดือน ต้องการรับเงินปันผลหรือไม่ ฯลฯ 


สุดท้ายสำคัญมาก คือ การลงมือทำตามแผนที่วางไว้ด้วยนะจ๊ะ ^^