เข้าสู่เดือนมีนาคมแบบนี้ หลายคนคงจะยื่นภาษีไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งบางคนอาจจะได้ภาษีคืน บางคนอาจจะต้องจ่ายภาษีเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความรู้สึกที่แตกต่างกันไป แต่พรี่หนอมเชื่อว่าทุกคนต้องมีจุดยืนร่วมกันอยู่อย่างนึง นั่นคือ อยากจะวางแผนภาษีให้เสียน้อยที่สุด ใช่ไหมครับ

ทีนี้เราลองมาดูกันดีกว่าครับว่า ถ้าหากเราอยากจะเสียภาษีน้อยอย่างที่ว่ามานี้ ปี 2561 นี้เราควรจะทำอย่างไรให้เราเสียภาษีน้อยที่สุดแบบจริงๆ ซึ่งพรี่หนอมเองก็ได้ตกผลึกความคิดออกมาเป็นขั้นตอนการวางแผนภาษีง่ายๆสำหรับปี 2561 นี้ ได้ 3 ขั้นตอนตามนี้ครับ


1. ตรวจสอบสถานะการเงินของปีที่ผ่านมา จริงๆข้อนี้คือข้อแรกที่ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาแล้วล่ะครับ แต่ไหนๆก็คงไม่ทันแล้ว ดังนั้นการเริ่มต้นในตอนนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ดีครับ เพื่อทบทวนว่าปีที่ผ่านมาเรามีสินทรัพย์ หนี้สิน หรือการจัดการการเงินที่เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้มองเห็นถึงข้อผิดพลาดและแนวทางการแก้ไขในปีนี้เพิ่มเติม โดยใช้วิธีการวางแผนภาษีมาเป็นตัวช่วยในการวางแผนของเราด้วยอีกทางหนึ่งครับ

ยกตัวอย่างของพรี่หนอมให้ฟังครับ ในปี 2560 ที่ผ่านมา พรี่หนอมวางแผนเงินที่ใช้ซื้อ LTF และ RMF พลาดไปหน่อยในช่วงแรก ทำให้ช่วงปลายปีต้องมีการซื้อเพิ่มจนได้ราคาที่แพงกว่าที่คิดไว้ เลยทำให้ต้องจัดการหมุนเงินบางส่วนมาใช้จัดการในส่วนนี้เพิ่มเติม ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงทำให้แผนการโปะเงินผ่อนบ้านที่วางไว้ต้องพับไป ซึ่งปี 2561 นี้พรี่หนอมได้วางแผนแก้ไขไว้แบบชัดๆเลยครับว่า จะกันเงินส่วนที่ซื้อ LTF และ RMF สำหรับปีนี้ไว้ต่างหาก โดยแยกออกมาให้พอซื้อตามจำนวนที่ต้องการทั้งปี จะได้ไม่ไปกระทบส่วนอื่นเลยล่ะครับ 


2. วางแผนการเงินของปีนี้ด้วยเครี่องมือลดหย่อนภาษีที่เราต้องใช้อยู่แล้ว สำหรับคนที่มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตตามอายุกรมธรรม์ การซื้อ RMF ตามเงื่อนไขทางภาษีทีต้องซื้อติดต่อกันทุกปี หรือการวางแผนซื้อ LTF เพื่อสร้างผลประโยชน์ในการลงทุนระยะยาวของตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้เริ่มต้นในปี 2561 นี้ คือการสรุปจำนวนที่ต้องจ่ายออกมาในแต่ละเดือนครับ ซึ่งเราจะรู้อยู่แล้วว่าเดือนไหนต้องจ่ายค่าอะไร ตรงนี้จะช่วยให้เราวางแผนการบริหารเงินในแต่ละเดือนได้ง่ายขึ้นครับ เพราะรู้ว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรรอไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว เช่น ประกันชีวิตต้องจ่ายประจำทุกเดือนนี้ หรือทยอยซื้อ LTF และ RMF ตั้งแต่ต้นปี แบบนี้ครับ

และที่สำคัญตรงนี้ เราสามารถนำเครื่องมืออื่นๆมาช่วยได้ด้วย ยกตัวอย่างคนที่มีวินัยการเงินดี ก็อาจจะใช้บัตรเครดิตในการบริหารจัดการการเงินที่ต้องจ่ายให้ชะลอไปได้อีกเดือนเพื่อรักษาผลประโยชน์ หรือสร้างโอกาสได้รับเงินเพิ่มจากการลงทุนเล็กๆน้อยๆมาช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ รวมถึงบัตรเครดิตแต่ละแห่งก็มีโปรโมชั่นต่างๆที่สนับสนุนการจ่ายอยู่ บางทีอาจจะช่วยให้เราสามารถลดเงินที่ต้องจ่ายได้มากขึ้นโดยที่ไม่เสียสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีอีกด้วยครับ

อย่างพรี่หนอมเอง ปีนี้ตั้งให้ตัดซื้อกองทุน LTF และ RMF เท่าไร รายเดือนแบบอัตโนมัติไปเลยครับ (เพื่อความสะดวกในการจัดการ) ส่วนเรื่องของประกันผมก็ใช้บัตรเครดิตที่มีโปรโมชั่นช่วยผ่อน 0% มาจ่ายค่าเบี้ยประกันรายปี หรือว่ามีการแลกแต้มหรือได้รับสิทธิเงินคืนมาช่วยอีกทางหนึ่งครับ


3, มองหาวิธีการลดหย่อนภาษีใหม่ๆ ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องของการบริหารจัดการภาษีให้ดีขึ้นครับ ถ้าหากมีเงินเหลือจากการจัดการในข้อ 1 และ 2 แล้ว อยากได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่ม เราควรมองหาตัวช่วยอื่นเพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษี ตั้งแต่เพิ่ม % การซื้อกองทุนต่างๆ หรือการมองหาประกันที่สนับสนุนเป้าหมายด้านอื่นเช่น ประกันบำนาญหรือประกันสุขภาพ รวมถึงติดตามข่าวสารการลดหย่อนภาษีและนโยบายต่างๆที่อาจจะมีเพิ่มเติมในระหว่างปี เพื่อใช้สิทธิให้คุ้มค่าอย่างที่สุดครับ

อย่างในปี 2560 ที่ผ่านมา พรี่หนอมเองก็ได้มีการเพิ่มตัวประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มเข้ามาครับ เพื่อใช้ช่วยในการวางแผนเกษียณและลดหย่อนภาษีไปพร้อมๆกัน และที่สำคัญมันเป็นการสร้างวินัยการเงินของตัวเองเพิ่มอีกทีทางหนึ่งด้วยครับ


เห็นไหมครับว่า จริงๆแล้วหลักการวางแผนภาษีนั้้น มันคือหลักการบริหารจัดการเงินของเราให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยผ่านการกลั่นกรองและวางแผนอย่างเหมาะสมกับตัวเราเอง และที่สำคัญตัวเราต้องได้ประโยชน์มากกว่าการลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว ผมเชื่อว่ามันจะดีมากๆครับ ถ้าเรารู้จักนำสิ่งเหล่านี้หลอมรวมกันมาเป็นส่วนช่วยต่อยอดในการบริหารจัดการชีวิตเราให้ดีขึ้นในด้านการเงินและวินัยการใช้จ่ายครับ

ดังนั้นถ้าหากใครยังไม่ได้เริ่มต้นทำ พรี่หนอมว่าอย่างน้อยตอนนี้ก็ยังไม่สายนะครับผม :)