อภินิหารเงินออมเขียนบทความนี้ช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตโรคไวรัสโควิช ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้หลายบริษัทปิดกิจการ พนักงานจะต้องไปหางานใหม่แบบไม่ทันตั้งตัว ในขณะที่บางคนอาจจะได้รับวันพักร้อนยาวๆแบบไม่ได้รับเงินเดือน 

แต่ระหว่างรอเพื่อกลับไปทำงานอีกครั้งจะต้องกินต้องใช้ จังหวะนี้เอง “เงินฉุกเฉิน” ที่เราตุนไว้จะเข้ามาช่วยสร้างสภาพคล่อง วิธีทำให้เงินอยู่นานที่สุด ควรวางแผนการถอนอย่างเป็นระบบเพื่อพยุงตัวเองให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ออกไปได้

 

ไอเดียถอนเงินมาใช้จ่ายช่วงไม่มีงานทำ

 

เรียงลำดับถอนเงินมาใช้ช่วงไม่มีงานทำ


ลำดับที่ 1 : ถอนใช้ง่ายสุด

เราเก็บเงินฉุกเฉินไว้ในที่หยิบออกมาใช้ง่ายๆ มีความเสี่ยงต่ำ เงินต้นอยู่ครบ เก็บไว้ 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่าย เช่น รายจ่ายเดือนละ 20,000 บาท เราเก็บเงินฉุกเฉินไว้ 60,000 - 120,000 บาท แบ่งแหล่งเก็บเงินออกเป็น 2 แบบ คือ

 

=> ถอนง่ายที่สุด สภาพคล่องสูง เช่น ในกระปุกออมสิน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง เงินฝากออมทรัพย์สหกรณ์ ส่วนเงินฝากประจำถอนก่อนครบกำหนดก็จะได้รับดอกเบี้ยน้อยลง

 

=> มีระยะเวลาการถอนเงิน เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้(บางกองก็มีขาดทุน) ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 1 วัน คือ เราขายกองทุนวันนี้ก่อนเที่ยง พรุ่งนี้ช่างบ่ายเราได้รับเงิน ในขณะที่บางกองเปิดขายเป็นช่วงเวลา เช่น ขายได้ทุกวันจันทร์แล้วจะได้รับเงินวันอังคาร แปลว่าการถอนเงินแต่ละครั้งต้องรอ 7 วัน กองทุนที่เราซื้อจะขายได้วันไหนบ้าง อ่านได้ในหนังสือชี้ชวนจ้า

 

ลำดับที่ 2 : สินทรัพย์การเงินและทรัพย์สินมีค่า

ถ้าเราใช้เงินฉุกเฉินลำดับที่ 1 หมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำงานใหม่สักที แนวรับแรกเงินหมดแล้วก็ต้องไปหาแนวรับต่อไป ครั้งนี้ก็จะต้องขายสินทรัพย์ทางการเงินและจำนำทรัพย์สินมีค่า เช่น

 

=> สินทรัพย์ทางการเงิน :  มีทั้งขาดทุนและกำไร

  • สลากออมสิน , สลาก ธกส. : ขายก่อนกำหนด ได้รับดอกเบี้ยน้อยลง
  • กองทุนรวมหุ้น , กองทองคำ , กองต่างประเทศ , หุ้นรายตัว : ขายแล้วประมาณ 2 - 5 วันกว่าจะได้รับเงิน ถ้าขายช่วงมีกำไรก็จะเสียโอกาสการลงทุนให้เงินเติบโต แต่ถ้าขายช่วงขาดทุนก็จะทำให้เงินต้นหายไป ได้รับเงินมาใช้น้อยลง
  • ทองคำแท่ง ทองคำรูปพรรณ : ขายแล้วได้รับเงินทันที อาจจะได้รับเงินไม่เท่าที่คิดไว้เพราะมีค่าสึกหรอจากการใช้งาน

 

=> ทรัพย์สินมีค่า : เรามีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยรายเดือน ถ้าจ่ายดอกเบี้ยไม่ไหวถูกยึดทรัพย์สิน

  • จำนำโทรศัพท์ กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกา มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องประดับ ฯลฯ
  • เปลี่ยนรถยนต์เป็นเงินสด

 

ลำดับที่ 3 : การกู้ประกันชีวิตของตัวเอง

นอกจากประกันชีวิตคุ้มครองชีวิต ลดหย่อนภาษี ยังช่วยเหลือเราในช่วงช๊อตเงินด้วยนะจ๊ะ เพราะแบบประกันชีวิตที่ทำไปนานๆก็จะมีมูลค่าเงินสดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มี 3 แบบ คือ แบบสะสมทรัพย์ , แบบตลอดชีพ , แบบบำนาญ เราจะกู้ประกันชีวิตได้เท่าไหร่ให้ดูที่มูลค่าเงินสด วิธีคำนวณอยู่ในภาพนี้เลยจ้า


เรียงลำดับถอนเงินมาใช้ช่วงไม่มีงานทำ 

อภินิหารเงินออมเชื่อว่าคนที่เข้มงวดกับเรื่องการเงินของตัวเอง เงินฉุกเฉินที่ตุนไว้ในลำดับที่ 1 น่าจะเพียงพอในช่วงรองานใหม่ แบบไม่ต้องรบกวนเงินในลำดับที่ 2 และ 3 เพราะการลงทุนกองทุนรวม หุ้น ทองคำ ฯลฯ จะมีผลกับเป้าหมายการเงินในอนาคต เช่น แผนเกษียณที่ต้อง DCA กองทุนรวมรายเดือนจะสะดุดลง เมื่อถอนเงินมาใช้ตอนนี้หมดแล้วจะต้องเริ่มต้นเก็บเงินใหม่

 

ช่วงเวลาว่างงานแบบนี้ นอกจากต้องใช้เงินแบบระมัดระวังแล้ว ควรใช้เวลาหาความรู้ให้ตัวเองเพื่อรออาชีพใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วยนะจ๊ะ วิกฤตนี้เราต้องผ่านไปให้ได้ สู้ๆ

 

เพจอภินิหารเงินออม