การวิเคราะห์ทางเทคนิค จะใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการเทรดหุ้น 2 อย่าง ได้แก่ ราคา และปริมาณการซื้อขาย แสดงออกมาในรูปของกราฟ (Chart) ข้อมูล 2 ตัวนี้จะเป็นผลลัพธ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ และพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นของกลุ่มคนที่เข้ามาซื้อขายหุ้นในตลาด การวิเคราะห์กราฟหุ้นจึงมีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจอารมณ์ของคนที่ซื้อขายอยู่ในตลาด และทำให้เราสามารถประเมินทิศทางราคาหุ้นที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จากนั้นก็ค่อยหาจังหวะที่ดีในการลงมือซื้อขายหุ้นต่อไป

 

     จะเห็นได้ว่าจะเล่นหุ้นแนวเทคนิคนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานเลยก็ได้ แต่ก็มีหลายคนที่สงสัย และถามเข้ามาครับว่า

“อยากเล่นหุ้นแนวเทคนิค แต่สนใจพื้นฐานด้วยจะทำอย่างไรดี ?”  

     ในบทความนี้ผมจะแนะนำแนวทางการใช้งานข้อมูลปัจจัยพื้นฐานเพื่อช่วยในการตัดสินใจเทรดหุ้นแนวเทคนิค 2 แนวทาง คือ 1) ประหยัดเวลาโดยใช้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับเลือกกลุ่มของหุ้นจะสนใจเทรด หรือ 2) เสริมความมั่นใจ โดยใช้งานเป็น Indicators สนับสนุนการตัดสินใจลงมือ

 

     ขอออกตัวเล็กน้อยว่าบทความนี้ไม่ได้ตั้งใจลงรายละเอียดว่า จะใช้งานข้อมูลอะไร หรือ จะใช้เทคนิคใดเป็นพิเศษ แต่วัตถุประสงค์ของผมอยากให้มองเห็นไอเดียการนำข้อมูลพื้นฐานมาใช้งานร่วมกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคเท่านั้นครับ ถ้าพร้อมแล้วลองมาดูกันครับว่าในแต่ละวิธีจะมีแนวทางอย่างไรบ้าง

 

ใช้ข้อมูลพื้นฐานเพื่อคัดรายชื่อของหุ้นที่น่าสนใจ

 

     เวลาที่จะเทรดหุ้น แทบทุกคนจะเจอกับปัญหาว่า “หุ้นมีหลายร้อยตัว จะเลือกเล่นตัวไหนดี” ซึ่งถ้าจะให้นั่งดูกราฟหุ้นทุกตัว กว่าจะครบทุกตัวในตลาดหุ้น ก็จะเสียเวลามาก (ตอนนี้ในตลาดหุ้นไทยน่าจะมีประมาณ  800-900 ตัว) ดังนั้นวิธีหนึ่งในการเทรด เพื่อที่จะช่วยลดระยะเวลาจากการดูหุ้นจำนวนหลายตัวเกินไป คือ คัดเลือกเฉพาะหุ้นที่มีคุณสมบัติคู่ควรแก่การเทรด ซึ่งอาจจะเป็นหุ้นจำนวน 20-30 ตัวที่น่าสนใจจากหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด แล้วติดตามเฉพาะกลุ่มที่เลือกขึ้นมา

 

Sieve

 

     เทคนิคในการคัดเลือกกลุ่มของหุ้นที่มีคุณสมบัติคู่ควรแก่การเทรด สามารถใช้ได้ทั้งคุณสมบัติทางเทคนิค และคุณสมบัติทางปัจจัยพื้นฐาน ตัวอย่างคุณสมบัติทางเทคนิค เช่น ปริมาณการซื้อขาย สัญญาณจากเครื่องมือทางเทคนิค สัญญาณจาก Indicators ส่วนตัวอย่างคุณสมบัติทางปัจจัยพื้นฐาน เช่น อัตราส่วนทางการเงิน ผลการดำเนินงาน ฯลฯ

 

     การกำหนดคุณสมบัติ อาจจะกำหนดคุณสมบัติทั้งทางด้านเทคนิค และปัจจัยพื้นฐานร่วมกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคุณสมบัติด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น

“จะเทรดหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET 50 เท่านั้น และต้องมีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อวัน ”

หรือ

“ จะเทรดหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET 100  โดยมี ROE มากกว่า 12 และปันผลมากกว่า 4 % ต่อปี ต่อเนื่องกัน ไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยต้องเป็นหุ้นที่ราคายืนอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 25 วัน ”

เป็นต้น

 

     หลังจากที่เราได้หุ้นที่ผ่านเงื่อนไขทางปัจจัยพื้นฐานที่เรากำหนดขึ้นแล้ว เราก็จะเก็บหุ้นเหล่านี้ไว้ใน Watch List และ คอยติดตามเฉพาะกราฟของหุ้นเหล่านี้เพื่อหาจังหวะในการซื้อขายที่ดีต่อไป ซึ่งวิธีนี้จะช่วยประหยัดเวลาในการวิเคราะห์หุ้นได้อย่างมาก

 

ใช้ข้อมูลพื้นฐานเป็น Indicators เพื่อเสริมความมั่นใจ

 

     ในการวิเคราะห์ทางเทคนิค จะใช้ Indicator ช่วยเสริมความมั่นใจในการลงมือซื้อหรือขายหุ้น ถ้าข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์กราฟ Indicators มีทิศทางเดียวกันหรือสอดคล้องกับผลของการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้น ก็จะช่วยยืนยันความน่าเชื่อถือของผลที่ได้จากการวิเคราะห์กราฟหุ้นว่าน่าจะมีโอกาสผิดพลาดน้อย

 

Indicators

   

     ขั้นตอนการใช้งาน Indicators เริ่มต้นจากเกิดสัญญาณให้ลงมือซื้อหุ้นจากกราฟราคาหุ้น ข้้นตอนต่อมาเราค่อยไปวิเคราะห์ Indicators ที่เราถนัดหรือชื่นชอบ ถ้าผลลัพท์ที่ได้จากการวิเคราะห์ Indicators เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลที่ได้จากการวิเคราะห์กราฟราคา  ก็จะเป็นการยืนยันและเสริมความมั่นใจในการลงมือซื้อหุ้นครั้งนั้น ๆ

 

     ยกตัวอย่างเช่น  กราฟราคาหุ้นบอกกับเราว่าแนวโน้มราคาหุ้นมีทิศทางเป็นขาขึ้นและ Indicators ให้ข้อมูลว่า Momentum เชิงบวกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นด้วย น่าจะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก ก็จะช่วยเสริมความมั่นใจในการเทรด

 

     แต่ถ้าข้อมูลที่ได้จาก Indicators ไม่สนับสนุน หรือส่งสัญญาณในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เรากำลังจะลงมือ ก็จะเป็นสัญญาณเตือน ซึ่งเราอาจจะตัดสินใจไม่ลงมือซื้อขายในครั้งนั้น ๆ หรือถ้าจะซื้อขายก็ต้องใช้ความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

 

     ซึ่งวิธีการใช้ Indicators เพื่อช่วยเสริมความมั่นใจ อาจจะใช้ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานช่วยสนับสนุนการตัดสินใจ หรือช่วยเตือนได้ด้วยเช่นเดียวกัน

 

     ตัวอย่างอัตราส่วนทางการเงินที่ผมเห็นนักวิเคราะห์หลายคนชอบใช้ เช่น P/E (Price Earning Ratio) ที่เป็นการเปรียบเทียบระหว่าง ราคาในปัจจุบัน และผลกำไรต่อหุ้น โดยวาดออกมาเป็นกราฟต่อเนื่องควบคู่กับกราฟราคา มีกรอบบนกรอบล่าง เพื่อใช้ดูว่าราคาถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับผลกำไร โดยเปรียบเทียบกับกรอบของ P/E ในอดีต

 

PE Band

รูปตัวอย่างกราฟ SET ที่วาดควบคู่กับ กราฟ P/E Bands ที่ระดับ P/E=10, P/E=12, P/E=14, P/E=16, P/E=18

ที่มา Aspen for Windows

 

     หลังจากที่ได้สัญญาณให้ลงมือซื้อหุ้นจากการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว เราลองใช้ค่า P/E Bands เพื่อตรวจสอบความถูกแพงว่าตอนนี้หุ้นมีค่า P/E เป็นอย่างไร ถ้าราคาหุ้นอยุ่ในช่วงที่มีค่า P/E ต่ำ หรือกรอบล่างของ P/E Bands ก็จะแปลความหมายว่าราคาหุ้นในเชิงปัจจัยพื้นฐานยังไม่แพงมาก ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจลงมือซื้อหุ้น หลังจากเกิดสัญญาณ

Related Story