เสียงกระซิบจากกองทุน ตอน ฟังเสียงหัวใจตัวเอง
จากครั้งที่แล้ว หลังจากที่ผมโดนกดดันให้รีบซื้อกองทุนก่อนธนาคารจะปิด (ฮ่า ๆ) แต่ก็ได้เลือกกองทุนที่ถูกใจมาโดยเลือกจากการที่ได้ฟังเสียงของกองทุนมากกว่าเสียงของพนักงานที่แนะนำ(เท่ห์มาก…ขอฟินแป๊ป) แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่สุดก่อนที่ท่านจะเริ่มลงทุน คือ…..ต้องฟังเสียงหัวใจตัวเองก่อน (จังหวะนี้แนะนำให้เปิดเพลง เสียงของหัวใจไปด้วยจะได้ฟิลล์มากขึ้น) หลายท่านคงเริ่มคิดที่จะหยุดอ่านแล้ว เพราะทนไม่ได้กับคนเขียน แต่อย่าเพิ่งครับ!! ลองมาดู
วิธีการประเมินตัวเองก่อนแบบง่าย ๆ สบาย ๆ ก่อนการเลือกซื้อกองทุนกัน
ขั้นแรก
หลับตา แล้วนึกว่าหากท่านมีเงินเก็บ 1,000,000 บาท (เพิ่มจำนวนได้ตามความรวยของผู้อ่าน) จากการทำงานอันแสนเหนื่อยยากลำบากจิต โดนเจ้านายด่าทุกวัน แต่ท่านก็ยังอดทน และเก็บเงินได้
ขั้นที่สอง
ให้ลองจิตนาการว่า หากเงิน 1,000,000บาทนั้นเอาไปลงทุนอะไรซักอย่าง แล้วขาดทุน เหลือเงิน 800,000 บาท ส่วนถ้าผู้อ่านเป็นผู้หญิง ให้ลองนึกว่าซื้อกระเป๋าLouis, Hermes, Chanelรุ่นท๊อปมาแล้ว วันดีคืนดี เพื่อนสนิทเราได้ฝากญาติที่อยู่เมืองนอกหิ้วมาให้ ในราคาถูกลง 20 % หลังจากที่เราซื้อได้เพียง 3 วัน จะนอนหลับได้ไหม หรือ กินข้าวได้ไหม (ผมว่าส่วนใหญ่คงคิดที่จะไปกรีดกระเป๋าเพื่อนอยู่…)
ขั้นที่สาม
ถ้าทนขั้นที่สองไม่ได้ แล้วขาดทุนเท่าไหร่ละที่รับได้ ? 5%, 10% หรือ ช้านรับขาดทุนไม่ด้ายยยเลย
ขั้นที่สี่
ถ้าหากได้ตัวเลขขาดทุนไว้ในใจแล้วละก็ ลองดูระดับความเสียว เอ้ย เสี่ยงของท่านตามด้านล่างนี้เลยครัช
จากตารางนี้ ท่านผู้อ่านสามารถกำหนดอัตราส่วนที่จะลงทุนในกองทุนได้ด้วยตนเองแบบง่าย ๆ นะครัชชช เช่น ผมมีเงินลงทุนอยู่ 100บาท และผมรับความเสี่ยงได้ปานกลางได้ (หรือรับขาดทุนได้ 5-15 %) ดังนั้นผมเองสามารถที่จะลงทุนในกองทุนเสี่ยงต่ำได้ 20บาท กองทุนเสี่ยงปานกลาง 40บาท และ กองทุนเสี่ยงสูง 40บาทนั้นเอง ง่ายใช่ป่ะ!!! แต่ที่สำคัญ สัดส่วนการลงทุนเหล่านี้ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามช่วงอายุ , เพศและ ความจำเป็นในการใช้เงินด้วยนะครับ
ที่มา : ดัดแปลงจาก สถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ส่วนท่านที่รับขาดทุนไม่ได้ ก็เก็บเงินไว้ในไหแล้วฝังดินเถอะครับ อย่าริอาจที่จะมาลงทุน จะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลาน…..…ผมล้อเล่นนะครับ!!! จริง ๆ แล้วก็ยังมีกองทุนอื่น ๆ ที่เหมาะกับคนไม่ชอบเสี่ยงอยู่ด้วยเหมือนกัน(อยากรู้ละซิ แน่นอนว่าผมจะค่อย ๆ เล่าให้ฟังภายหลัง จะได้มีเรื่องเขียนต่อ อิ ๆ)
เป็นอย่างไรบ้างครับ ?เริ่มได้ยินเสียงในใจของตัวเองหรือยังครับ ว่าเสี่ยงได้แค่ไหน
ปล. ถ้าอยากประเมินความเสี่ยงแบบละเอียดมากขึ้น เราขอแนะนำให้ผู้อ่านทดลองทำแบบประเมินได้ที่
http://www.tsi-thailand.org/index.php?option=com_wrapper&Itemid=76