แกะรอยหุ้น IPO "TQM" กับธุรกิจนายหน้าประกันภัยยุค 4.0
"TQM" หรือ "บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)" ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่นที่ ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการนายหน้าประกันภัย โดยมีบริษัทย่อยได้แก่ (1) TQM Insurance Broker ที่ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัย ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยทุกรูปแบบที่ TQM Insurance Broker ขายจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน คปภ.แล้วทั้งสิ้น (2) TQM Life Insurance Broker ที่ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันชีวิตและ (3) Casmatt บริษัทย่อยที่สนับสนุนธุรกิจหลักซึ่งให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทร่วมอีก 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ทีคิวแอลดี จำกัด “TQLD” ที่ให้บริการให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย (รวมเรียกว่า “กลุ่มบริษัทฯ”)
กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการชั้นนำในธุรกิจนายหน้าประกันภัย และมีวิสัยทัศน์ (Vision) เป็นผู้นำด้านที่ปรึกษาประกันภัยและการเงิน ด้วยคุณภาพ ความยั่งยืน และตอบแทนสังคม โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 กลุ่มบริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ สาขา และศูนย์บริการทั่วประเทศ รวม 74 สาขา และ 21 ศูนย์บริการ โดยมีรูปแบบกรมธรรม์ประกันวินาศภัยและประกันชีวิตเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า รวมทั้งสิ้นกว่า 150 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมาจากบริษัทประกันภัยที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกว่า 40 แห่ง
ทำไมถึงเรียก TQM ว่านายหน้าประกันภัยยุค 4.0?
เหตุผลสำคัญคือธุรกิจอีก 2 อย่างที่ TQM ถือเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างทันสมัยและสามารถตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปัจจุบันมีกระบวนการการซื้อประกันภัยแตกต่างไปจากอดีต จากยุคก่อนที่ประกันชีวิตและประกันวินาศภัยจะถูกขายผ่านตัวแทนเป็นหลัก ก็ขยับขยายมาขายผ่านนายหน้าและธนาคารมากขึ้น จนล่าสุดเมื่อมาถึงในยุคออนไลน์ก็ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เลือกซื้อประกันภัยเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยคนส่วนใหญ่จะนิยมศึกษาเปรียบเทียบจุดดีจุดเด่นของประกันภัยจากแต่ละค่ายก่อนตัดสินใจทำประกัน
ธุรกิจ TQLD คือธุรกิจให้บริการด้านคำแนะนำเกี่ยวกับประกันภัยออนไลน์
อีกหนึ่งธุรกิจที่สำคัญของบริษัทฯ คือ TQLD หรือ บริษัท ทีคิวแอลดี จำกัด ประกอบธุรกิจให้คำแนะนำเกี่ยวกับประกันภัย ผ่านรูปแบบการกรอกข้อมูลและแสดงข้อมูลกรมธรรม์ผ่านเว็บไซต์ www.noon.in.th ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าไปเลือกเปรียบเทียบข้อมูลประกันภัยที่สนใจได้เอง เมื่อลูกค้าตัดสินใจได้ บริษัทก็จะทำการเก็บข้อมูลและให้ตัวแทนของบริษัทติดต่อไปนำเสนอกรมธรรม์
สังเกตว่าระบบการทำงานของ TQLD ช่วยลด pain point ของธุรกิจนายหน้าประกันภัยไปได้มาก ทั้งในมุมผู้บริโภคและผู้ขาย ผู้บริโภคเองก็ไม่กดดันว่าจะต้องรีบตัดสินใจ นอกจากนี้ ยังคงสามารถปรับข้อมูลเพื่อศึกษากรมธรรม์ที่เหมาะกับตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องกดดัน จนเลือกช้อยส์ที่เหมาะสมกับตัวเองจริงๆ ในขณะที่ฝั่งผู้ขายก็ขายได้อย่างสบายใจ เพราะลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาย่อมมีความตั้งใจจะซื้อประกันภัยอยู่แล้ว พูดคุยด้วยข้อมูลและกรมธรรม์ เรียกว่ามีความสุขกันทุกฝ่าย
นอกจาก TQLD (TQM ถือหุ้น 40.0%) แล้ว Casmatt หรือบริษัท แคสแมท จำกัด (TQM ถือหุ้น 100.0%) ก็เป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจในกลุ่มบริษัทฯ โดย Casmatt ประกอบธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์ เช่น ให้คำปรึกษาด้านการจัดการกระบวนการทางธุรกิจ งานวิจัยตลาดดิจิทัล รวมไปถึงการพัฒนาด้านการติดตั้งระบบปฏิบัติงานและการติดตั้งระบบศูนย์ข้อมูล เป็นต้น นี่ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่มีความเป็น 4.0 ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเจาะและทำการตลาดออนไลน์ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า TQM มีองค์ความรู้ด้านการตลาดสมัยใหม่อย่างเต็มเปี่ยม ถือว่าเป็นจุดแข็งของบริษัทฯ
หมายเหตุ:
/1 ข้อมูลสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นข้อมูลจากงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมที่จัดทำโดยบริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้จัดประเภทรายการใหม่ (Reclassification) และปรับปรุงรายการงบการเงินในปี 2558 – 2559 ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมปี 2560 ดังนั้น ข้อมูลสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ดังกล่าวจะมีจำนวนไม่เท่ากับงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่แสดงในงบการเงินรวมปี 2559
/2 ดำเนินการโดย TQM Broker และ Casmatt
/3 รายได้อื่น ได้แก่ ดอกเบี้ยรับ กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทอื่นเพื่อปรับโครงสร้าง รายได้จากการให้บริการและให้คำปรึกษา เงิน ชดเชยค่าเสียหาย รายได้ค่าบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและซอฟต์แวร์จาก Casmatt เป็นต้น
จากข้อมูลงบการเงินของ TQM ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558 – 2560 พบว่า รายได้หลักกว่า 90% ของ TQM มาจาก TQM Broker ที่เป็นผู้ขายประกันวินาศภัย สอดคล้องกับจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายกว่า 130 ผลิตภัณฑ์ และรายได้ส่วนนี้ก็มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้ส่วนที่เหลือมาจาก TQM Life ที่ยังไม่ใช่รายได้ก้อนใหญ่นัก ส่วนธุรกิจ Casmatt และ TQLD จะเป็นประโยชน์ในการสร้างกลวิธีในการพัฒนาการขายของ TQM Broker และ TQM Life ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันและในอนาคต
หมายเหตุ:
/1 ข้อมูลสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นข้อมูลจากงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมที่จัดทำโดยบริษัทฯ ซึ่งจะมีจำนวนไม่เท่ากับงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558ที่แสดงในงบการเงินรวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ที่ตรวจสอบโดย บริษัท สำนักงาน เอ็กซ์เพิร์ท ออดิท จำกัด เนื่องจากบริษัทฯ มีรายการปรับปรุงงบการเงินในปี 2558 – 2559 ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินรวมปี 2560
สำหรับงบกำไรขาดทุนของ TQM ย้อนหลัง 2558 – 2560 ถือว่ามีการเติบโตของรายได้และกำไรค่อนข้างเด่นชัด รายได้รวมของบริษัทฯ เท่ากับ 2,184 ล้านบาท 2,226 ล้านบาท และ 2,281 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 140 ล้านบาท 178 ล้านบาท และ 268 ล้านบาทตามลำดับ รายได้มีการเติบโตเฉลี่ย 2.20% ต่อปี ในขณะที่กำไรเติบโตเฉลี่ย 38.24% ต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงทีเดียว ในขณะงบการเงินงวดเก้าเดือนแรกของปี 2561 ก็มีการเติบโตทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิ
ภาพรวมของ TQM จึงเรียกได้ว่ามีงบการเงินที่มีการเติบโตของทั้งแง่รายได้และกำไรสุทธิ ในด้านของพื้นฐานธุรกิจก็ต้องถือว่ายังมีโอกาสอีกมาก เพราะขนาดตลาดประกันภัยถือว่าใหญ่มาก โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีรายได้จากการเป็นนายหน้าอยู่ระดับ 2,000 กว่าล้านบาทต่อปี ถ้าเทียบกับขนาดตลาดแล้วก็ยังถือว่ามีศักยภาพในการจะเติบโตได้อีก
ความน่าสนใจคือ TQM ให้ความสำคัญกับพลวัตของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปไว เห็นได้ชัดจากการลงทุนใน Casmatt ที่มีจุดโฟกัสเกี่ยวกับการตลาดดิจิทัล และ TQLD ที่มีแนวคิดการทำธุรกิจแบบสตาร์ทอัพ Fintech ที่จะเข้ามาปฏิวัติการซื้อขายประกันภัยแบบเดิมๆ ให้ตอบโจทย์ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมากขึ้น
ขีดเส้นใต้ว่าบทความนี้ไม่ใช่การแนะนำซื้อ ถือ หรือขายหลักทรัพย์แต่อย่างใด แต่เป็นการสรุปข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนให้ผู้ที่สนใจเข้าใจภาพธุรกิจและสามารถนำไปทำการบ้านต่อยอดได้ บวกกับความเห็นของผู้ใช้บริการจริงของ TQLD ที่เรียกว่าโดยส่วนตัวประทับใจกับเว็บไซต์ noon มากทีเดียว
ยุคนี้จะลงทุนทั้งที ต้องมองหาอะไรที่ 4.0 กันหน่อยแล้ว!
บทความนี้เป็น Advertorial