[แชร์ประสบการณ์] ดาบสองคมของสังคมออนไลน์

ช่วงตอนเย็นเรามีนัดกับเพื่อนที่นานๆเจอกันทีก็มีเรื่องเล่าให้ฟังมากมาย หลังจากที่เราทานของหนักเสร็จแล้วก็ต่อด้วยของหวาน เราเลือกนั่งคุยกันต่อที่ร้านกาแฟบรรยากาศน่ารัก ในร้านมีเค้กหน้าตาชวนให้อ้วนมากเพราะเราอยากกินแทบทุกชิ้น โชคดีมากที่อิ่มมาบ้างแล้วเลยสั่งเค้กไป 1 ชิ้น พร้อมกับชาและกาแฟอย่างละแก้ว

 

เรื่องมันเกิดขึ้นตอนที่เรากินกาแฟหมดแก้วนี่แหละ เราเห็นยางมัดของเส้นยาวสีเหลือง 1 เส้นที่ก้นแก้วกาแฟ คำถามแรกที่แวบเข้ามาในหัว “มันมาได้ไง เมื่อกี้เรากินอะไรเข้าไปบ้าง” แล้วกำลังคิดว่าจะบอกผู้จัดการร้านหรือปล่อยผ่านไป เพื่อนแนะนำให้บอกผู้จัดการร้านจะได้หาสาเหตุว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง ตอนนั้นเราพูดกับตัวเองเบาๆว่า “อย่าวีน  อย่าเหวี่ยง ใจเย็นๆ ไม่มีใครอยากจะให้เกิดความผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้น” แล้วดูว่าผู้จัดการร้านจะจัดการกับเรื่องนี้ยังไง

 

สรุปว่าเราตัดสินใจเรียกผู้จัดการร้านมาคุยแล้วโชว์หลักฐานให้เห็นว่ามียางที่ก้นแก้วจริงๆ เราเพียงแค่ต้องการให้ทางร้านระมัดระวังกับความสะอาดให้มากกว่านี้ ถ้าเจอลูกค้าคนอื่นอาจจะถ่ายรูปยาง รูปร้านแล้วโพสลง Facebook หรือ Pantip เขียนรีวิวข้อพกพร่องของร้านจนอาจจะทำให้เขาตกงานก็ได้

 

ผู้จัดการร้านก็ทำหน้าตกใจแล้วงงว่ายางมันมาได้ยังไง เพราะในส่วนที่ทำกาแฟก็ไม่มียางแบบนี้ เราก็บอกกลับไปว่า คุณคิดว่าเราจะใส่ยางเข้าไปในแก้วแล้วเรียกให้มาดูหรอคะ เราจะทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร เราไม่ต้องการเรียกร้องความสนใจแบบนั้นหรอกนะ แล้วผู้จัดการร้านก็นำยางเจ้าปัญหาไปให้พนักงานที่รับผิดชอบในเรื่องการชงกาแฟดูเพื่อจะกลับมาบอกเราว่า “ทางร้านไม่ทราบจริงๆว่ายางนั้นมาได้ยังไง ไม่ทราบว่าลูกค้าต้องการให้ทำอย่างไรเพื่อเป็นการขอโทษลูกค้าคะ”

 

เราเห็นสีหน้าและท่าทางของผู้จัดการร้านเป็นกังวลกับเรื่องนี้มาก เขาเล่าว่าตอนบ่ายที่ผ่านมาตัวผู้จัดการร้านเองก็พึ่งไปประชุมเรื่องนี้มาว่าอย่าทำให้ลูกค้าไม่พอใจจนกระทั่งไปวิจารณ์เสียหายในสังคมออนไลน์ เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ของร้านก็จะเสีย สุดท้ายตัวผู้จัดการเองนั่นแหละที่ต้องตกงานด้วย

 

เราบอกผู้จัดการร้านไปว่า “เราไม่ได้หวังอะไรมาก แค่หวังดีอยากจะเตือนให้ระวังความสะอาดก็แค่นั้นและไม่ควรเก็บค่ากาแฟแก้วนั้นด้วย” เหตุผลที่เราตอบแบบนั้นเพราะผู้จัดการแสดงความสำนึกผิดแล้วกล่าวขอโทษ สำหรับเราแค่นี้คือจบละ ไม่ติดใจอะไร

 

แต่ทางร้านไม่จบ…

 

อีกไม่กี่นาทีต่อมาน้องที่ทำกาแฟแก้วนี้ให้เราก็เดินออกมายกมือไหว้ขอโทษเราที่หน้าร้าน จนเรายกมือรับไหว้แทบไม่ทัน เราเห็นหน้าของน้องคนนี้น่าจะตกใจกว่าผู้จัดการเพราะกลัวตกงานมากๆ เราก็ตอบกลับไปว่า “ไม่เป็นไร แค่ระวังให้มากขึ้นก็พอ”

 

หลังจากนั้นผู้จัดการร้านก็ยกชาโรสมาให้ 1 เหยือก แก้วชา 2 ใบ เค้กชิ้นโต 1 ชิ้นและไอศกรีม 1 ลูก มาให้ที่โต๊ะ  เรากับเพื่อนก็มองหน้ากันงงๆว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผู้จัดการร้านบอกว่าเขารู้สึกผิดมากที่ทำให้ลูกค้าไม่พอใจจึงจัดขนมเค้กและชามาให้เพื่อเป็นการขอโทษ นี่เป็นของขึ้นชื่อของร้านอยากให้เราลองทาน

 

เฮ้ยยยย นี่มันอะไรกัน มีเรื่องแบบนี้บนโลกด้วยหรือนี่!!

 

จากความรู้สึกเฉยๆกลายเป็นความประทับใจในตัวผู้จัดการร้านที่พยายามจะขอโทษเราเพื่อให้เราพอใจมากที่สุด ทั้งที่ความจริงเราไม่ได้ซีเรียสเรื่องยางที่ก้นแก้วมากขนาดนั้น เรามองว่าเรื่องมันเกิดไปแล้ว กินกาแฟหมดแล้วก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ถ้าต่อว่าเสียงดังหรือโพสประจานไปก็ทำให้ยางออกจากก้นแก้วไม่ได้  มันเป็นเพียงเรื่องของความผิดพลาดที่อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ ไม่มีใครอยากให้มันเกิดขึ้น แค่เตือนแล้วระวังมากขึ้น สำนึกผิดแค่นี้ก็จบ

 

สรุปว่าเราจ่ายเพียงค่าขนมเค้กก้อนแรกที่สั่งไปกับชาของเพื่อน ไม่ได้จ่ายค่ากาแฟที่มียางก้นแก้ว

 

เรื่องนี้ทำให้เรารู้ว่า…

  1. การสอนคนด้วยการให้อภัยมันทำให้คนจดจำได้ดีกว่าการต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง
  2. ผู้จัดการร้านสอนให้เรารู้จักคำว่า “การบริการที่เหนือความคาดหวังมันคืออะไร”
  3. ถ้าใช้สังคมออนไลน์ในทางลบก็อาจจะทำให้คนตกงานได้ แม้ว่าจะไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นก็ตาม
  4. อย่าใช้สังคมออนไลน์ทำร้ายใคร เพราะคุณไม่รู้ว่าคนนั้นต้องแบกรับภาระอะไรอยู่บ้าง

 

แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่เกี่ยวกับการออมเงินโดยตรง แต่มันเกี่ยวข้องกันทางอ้อมที่หลายคนอาจจะมองข้าม ลองคิดดูว่าถ้าเราเลือกที่จะต่อว่าผู้จัดการร้านให้อับอายพร้อมกับถ่ายรูปหลักฐานต่างๆเพื่อแชร์ในสังคมออนไลน์ได้รับรู้ว่าร้านชื่อดังแห่งนี้ว่าไม่สะอาด เป็นเรื่องดราม่าส่งต่อให้คนอื่นวิจารณ์ โดยมองว่าเป็นการแชร์เพื่อให้สังคมดีขึ้นเพราะทางร้านจะได้ปรับปรุงคุณภาพ ความจริงมันไม่จบแค่นั้นหรอกนะ เพราะคนแชร์กำลังทำร้ายพนักงานตาดำๆในร้านที่ต้องหาเงินเลี้ยงครอบครัวมากกว่าส่งเสริมให้ทางร้านปรับปรุงคุณภาพ

 

ไม่มีพนักงานคนไหนที่อยากจะทำให้ร้านเสียหายแล้วตัวเองต้องตกงานหรอกนะ จากเรื่องนี้คนแรกที่ตกงานคือ ตัวผู้จัดการร้าน ที่อาจจะเป็นเสาหลักของครอบครัว พนักงานในร้านที่อาจจะต้องถูกปรับเงินหรือลงโทษวิธีอื่นที่ทำให้ภาพลักษณ์ของร้านเสียหาย เมื่อไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นจะอยู่ได้อย่างไร สุดท้ายเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่ทำให้สังคมดีขึ้น

 

 

ลองถามตัวเองว่าการกดแชร์ทุกครั้งนั้นกำลังทำร้ายใครอยู่รึเปล่า

ถ้าเราเพียงให้อภัย คนผิดสำนึกผิดด้วยความจริงใจ

ทุกอย่างก็จบ สังคมจะอยู่ง่ายขึ้น