ถ้าเรารู้ความฝันของตัวเองว่าต้องการใช้เงินทำอะไรบ้าง ก็จะรู้ว่าแต่ละเดือนควรเก็บเงินอย่างไร เก็บที่ไหน เพื่อจะได้เป็นไปตามความฝันที่คิดไว้ เพราะรายได้เรามีจำกัด แต่ความต้องการมีไม่จำกัด ทำให้เราจะต้องเรียงลำดับความฝันว่าอะไรสำคัญมากที่สุด ปานกลางและน้อยที่สุด ถ้าแต่ละเดือนมีเงินเหลือจำนวนมาก เราทำทุกความฝันพร้อมกันได้ แต่ถ้าเหลือน้อยก็จะต้องเลือกทำความฝันที่สำคัญที่สุดก่อน 


แอดมินก็ลองนำโจทย์เดิมที่เราใช้รีวิวแอพ Wealth me pro มาสร้างทางเลือกในการเก็บเงินว่าแต่ละเดือนควรแบ่งเก็บอย่างไร เก็บที่ไหน เก็บเท่าไหร่ ข้อดีและข้อควรระวังมีอะไรบ้าง ไม่จำเป็นจะต้องทำตามเป๊ะๆ เพราะแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน แฟนเพจควรนำไปปรับใช้ให้เข้ากับความฝันของตัวเองนะจ๊ะ


จากโจทย์เดิมวิเคราะห์จากแอพ Wealth me pro


เริ่มต้นจาก...ความฝันของเรามีอะไรบ้าง

ตัวอย่าง ผู้หญิง อายุ 30 แต่ละความฝันจะต้องใช้เงินเท่าไหร่บ้างเพื่อให้ฝันกลายเป็นจริง

1. เงินฉุกเฉิน ต้องเก็บเพิ่มอีก 22,300 บาท 

2. มีเงินดูแลสุขภาพตัวเองตามสมควร หากเจ็บป่วยสามารถใช้สวัสดิการจากที่ทำงาน ประกันสังคมได้เท่าไหร่ หากเพียงพอแล้วก็ไม่ต้องทำเพิ่ม แต่ถ้ายังไม่พอเพราะมองว่าค่ารักษาในอนาคตที่สูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 6-7% สวัสดิการเดิมที่มีอาจจะน้อยเกินไป ทำให้ต้องทำประกันสุขภาพเพิ่ม เราก็ต้องดูว่าควรทำเพิ่มอีกเท่าไหร่ ให้ครอบคลุมกับความต้องการ  

3. มีเงินดูแลครอบครัว จากภาระหนี้สิน ดูแลพ่อแม่ลูก จากทุนประกันเดิมที่มีอยู่ ยังขาดอยู่อีก 3,000,000 บาท หากเราหมดลมหายใจ เงินก้อนนี้จะเข้ามาดูแลครอบครัวต่อจากเราได้

4. ท่องเที่ยว 100,000 บาท จะใช้เงินอีก 2 ปีข้างหน้า

5. สร้างธุรกิจอีก 4 ปีข้างหน้า เก็บเงินได้เดือนละ 2,000 บาท 

6. ต้องการมีเงินใช้หลังเกษียณเดือนละ 30,000 บาท คาดว่าจะเสียชีวิตตอนอายุ 90 


ภาพรวมของเป้าหมายจะออกมาแบบนี้ที่รู้สามเหลี่ยมตรงกลาง เรามีเงินสดเท่าไหร่ให้ดูที่ภาพข้างล่างนี้ฝั่งซ้ายบนจากช่องรายได้ - รายจ่าย มีเงินสดคงเหลือ 125,400 บาท (หรือเดือนละ 10,450 บาท) เราถึงจะวางแผนได้ว่าควรแบ่งเงินไปเก็บไว้ที่ไหน เท่าไหร่ อภินิหารเงินออมลองทำมาให้ดู 3 ทางเลือก ดังนี้


แพ็กเกจเก็บเงินรายเดือนที่ตอบโจทย์ความฝัน


ทางเลือกที่ 1 (ช่องสีเหลือง)

เป้าหมายที่ 1  เงินฉุกเฉินฝากที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงเดือนละ 2,000 บาท พอครบ 22,300 บาทแล้ว ค่อยนำไปเก็บตามความฝันเกษียณในข้อ 6

เป้าหมายที่ 2และ3 ดูแลตัวเองและครอบครัว เก็บไว้ที่ประกันชีวิตควบการลงทุนเดือนละ 1,000 บาท ความคุ้มครอง 3,000,000 บาท เพื่อเป็นแผนสำรอง…(เราควรมีความเข้าใจเรื่องการลงทุนเพราะผลตอบแทนขึ้นๆลงๆ)

  • หากค่าเทอมลูกไม่พอ ถอนเงินในประกันไปใช้ได้ (ควรส่งมาแล้วมากกว่า 6 ปี จะไม่มีค่าธรรมเนียมการถอน)
  • ทุพพลภาพมีเงินก้อนดูแลตัวเอง 3,000,000 บาท 
  • เสียชีวิตมีเงินก้อนดูแลครอบครัว 3,000,000 + เงินจากการลงทุน
  • ทุพพลภาพและเสียชีวิต มีเงินก้อนของทุพพลภาพ 3,000,000 + เสียชีวิต 3,000,000 + เงินจากการลงทุน
  • ถอนเงินก้อนใช้ตอนเกษียณ

เป้าหมายที่ 4 ท่องเที่ยว เก็บที่กองทุนรวมตลาดเงินเดือนละ 4,140 บาท

เป้าหมายที่ 5 สร้างธุรกิจในฝัน อีก 4 ปีข้างหน้า เก็บที่กองทุนรวมตราสารหนี้เกรด A เดือนละ 2,000 บาท

เป้าหมายที่ 6 เก็บเงินเกษียณที่กองทุนรวมหุ้นเดือนละ 1,310 บาท ใจต้องนิ่งไม่ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง ควรลงทุนอย่างมีวินัยสม่ำเสมอ เพราะความผันผวนระยะสั้นเป็นเรื่องปกติของการลงทุนระยะยาว หากเราอายุน้อยมีเวลาเก็บเงินมากกว่า 10 ปี ถือข้ามรอบวิกฤตเศรษฐกิจได้และเข้าใจความเสี่ยงเป็นอย่างดีก็ไม่ต้องกังวลกับการขาดทุนระยะสั้น หลังเกษียณสามารถถอนเงินก้อนจากประกันชีวิตควบการลงทุนมาใช้ได้


ทางเลือกที่ 2 (ช่องสีฟ้า)

เป้าหมายที่ 1 เงินฉุกเฉินเก็บที่เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงเดือนละ 500 บาท

เป้าหมายที่ 2และ3 ประกันชีวิตโรคร้ายแรงความคุ้มครอง 3,000,000 บาท เบี้ยประกันเดือนละ 8,102 บาท (ทั้งหมดเป็นเบี้ยหลักที่มีมูลค่าเงินสด) เป็นแผนสำรองให้ครอบครัวได้….

  • ถ้าไปตรวจแล้วหมอบอกว่าเป็นโรคร้ายแรงระดับต้นถึงปานกลาง มีเงินก้อนมารักษาตัวเอง 600,000 บาท
  • หากโรคนั้นรุกลามเป็นระดับรุนแรง มีเงินก้อนมารักษาตัวเอง 2,400,000 บาท 
  • เสียชีวิตครอบครัวได้รับเงิน 3,000,000 บาท 
  • มีชีวิตอยู่ถึงอายุ 99 ได้รับเงินก้อน 3,000,000 บาท ถ้าปิดประกันก่อนจะได้รับเงินก้อนตามมูลค่าเงินสนในขณะนั้น (หากลูกหลานรู้ว่าเรามีเงินก้อนนี้อยู่ ตอนที่นอนเป็นผักอยู่บนเตียง เราก็จะรู้ว่าควรให้เงินก้อนนี้กับใครที่ดูแลเรา)

เป้าหมายที่ 4 ท่องเที่ยวอีก 2 ปี เป้าหมาย 100,000 บาท เราเหลือเงินเก็บได้เดือนละ 1,848 บาท จากที่คำนวณไว้ว่าควรเก็บเดือนละ 4,140 บาท แต่เราเก็บได้น้อยกว่าที่คำนวณไว้ อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าเดิมกว่าจะได้เงินตามที่ต้องการ

เป้าหมายที่ 6 เงินเกษียณ ถ้าอายุ 70 จะต้องใช้เงินจริงๆ เราสามารถปิดแบบประกันชีวิตโรคร้ายแรงมาใช้ได้ มูลค่าเงินสด 2,253,000 บาท 


ทางเลือกที่ 3 (่ช่องสีเขียว)

เป้าหมายที่ 1 เงินฉุกเฉินเก็บไว้ที่เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงเดือนละ 2,000 บาท

เป้าหมายที่ 4 ท่องเที่ยวเก็บไว้ที่กองทุนรวมตราสารหนี้เกรด A เดือนละ 4,140 บาท

เป้าหมายที่ 6 เก็บเงินเกษียณที่พอร์ตกองทุนรวมเดือนละ 4,310 บาท

การจัดเงินแบบทางเลือกที่ 3 เราคำนวณแล้วว่าประกันชีวิตของเดิมนั้นมีความคุ้มครองเพียงพอแล้วที่มากกกว่า 3,000,000 บาท หากเราหายตัวไปเร็วกว่าที่คิดหรือว่าทุพพลภาพมีเงินก้อนดูแลครอบครัวแน่นอนและมีเงินดูแลตัวเองโดยที่พ่อแม่ไม่ต้องมาเดือดร้อนหาเงินมาเลี้ยงดูเรา ลูกได้เรียนจบตามที่เราคิดไว้ ทำให้เงินที่เหลือในแต่ละเดือนเก็บเพื่อตัวเองได้เต็มที่ 


แนวทางวางแผนใช้เงินรายเดือน

สร้างแผนที่การเงินให้ตัวเอง สมมติว่าเราตัดสินใจใช้ทางเลือกที่ 1 การแบ่งใช้เงินรายเดือนของเราจะออกมาเป็นภาพนี้ หากมองว่ารายจ่ายส่วนตัวมากเกินไป เราสามารถปรับลดได้เพื่อนำเงินที่เหลือไปเก็บไว้เป้าหมายสั้น กลางหรือยาวให้มากขึ้น

แพ็กเกจเก็บเงินรายเดือนที่ตอบโจทย์ความฝัน



เมื่อโจทย์ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน การออกแบบวิธีเก็บเงินก็แตกต่างกันด้วย สิ่งสำคัญ คือ เข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินและเปรียบเทียบประโยชน์ที่ตอบโจทย์ตัวเองให้ได้มากที่สุด  แฟนเพจลองนำวิธีนี้ไปปรับใช้กับการจัดการเงินของตัวเองนะจ๊ะ วางแผนไว้เพื่อรอรายได้ที่จะเข้ามาในอนาคต เราจะได้ไม่ตกใจเหมือนอดีตที่ผ่านมาว่าทำงานหลายปี แต่ไม่รู้ว่าเงินหายไปไหนหมด หลังวิกฤตครั้งนี้เราจะกลายเป็นคนใหม่ที่ใส่ใจเรื่องเงินมากขึ้นนะจ๊ะ

 

-----------------------------

ประชาสัมพันธ์


 

เพจอภินิหารเงินออม