สวัสดีกันอย่างเช่นเคยครับ ในทุกสัปดาห์กับสรุปประเด็นเด็ดจากรายการ "กองทุนไหนดี ? Weekly" ที่จะมาพบกันกับพรี่หนอม TAXBugnoms เจ้าเก่าเจ้าเดิม เพิ่มเติมด้วยคำตอบที่จะทำให้คุณรู้ว่า กองทุนไหนดี กองทุนไหนเด่น เพื่อให้ทุกคนสามารถเลือกเฟ้นกองทุนได้เหมาะสมกับตัวคุณที่สุดครับ

สำหรับ กองทุนไหนดี ? ตอนที่ 12 นี้ หมอนัทคู่หูขาประจำติดภารกิจเร่งด่วนครั้งสำคัญครับ ตอนแรกว่าจะยกเลิกรายการแล้ว แต่เพื่อคุณผู้อ่านและคุณผู้ชมทุกท่านทำให้เราต้องเดินกันต่อครับ กับประเด็นเรื่องของภาษีกับการวางแผนลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งก็มีคนถามเข้ามาไม่น้อยเลยล่ะครับ พรี่หนอมถือว่าเป็นโอกาสที่ดีเลยขอเอามาทำเทปพิเศษวันนี้แทนครับผม

แต่ก่อนจะชวนคุย มีเรื่อง Update นิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องการเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ครับ ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างน่าติดตามเหมือนกันครับ พรี่หนอมเคยสรุปไว้ในเพจแล้วครับ เลยเอามาแชร์ให้อ่านกันอีกครั้งตรงนี้ละกันครับ

กองทุนตราสารหนี้ ทำไมต้องเก็บภาษี

ใครที่เป็นนักลงทุน คงรู้กันดีว่า "กำไรจากการลงทุนในกองทุนรวม" นั้นได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าจะให้พรี่หนอมพูดแบบกฎหมายก็ต้องบอกว่า ยกเว้นตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (32) นั่นแหละฮะ #เอาเป็นว่าจำง่ายๆว่ายกเว้น

แต่ทีนี้มีประเด็นเรื่องของการจัดเก็บภาษีของกองทุนตราสารหนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ว่าจะมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% เหมือนเงินฝากประจำ ของกองทุนประเภท Term Fund ทำให้ใครหลายคนใจสั่นกันขึ้นมา

สาเหตุที่จะเก็บก็เพราะว่า กองทุน Term Fund นั้นที่มีอายุโครงการชัดเจนเหมือนกันกับเงินฝากธนาคารประเภทฝากประจำ ซึ่งถ้าหากเก็บเงินฝากแล้ว ไหนเล่าไม่เก็บจากกองทุนประเภทนี้บ้าง มันไม่ยุติธรรมกับคนฝากเงินนี่หว่า

ในแง่ของการเก็บแบบนี้ มองในแง่ดีมาก ๆ ก็คงต้องบอกว่ามันจะช่วยให้คนลงทุนระยะยาวมากขึ้น (ถ้าเก็บเฉพาะ Term Fund แล้วไม่เก็บกองทุนประเภทอื่นๆนะ) และถ้าดีแบบสุด ๆ คนอาจจะขยายไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้น หรือประเภทอื่นแทน เพื่อสร้างผลตอบแทนให้มากขึ้น (เว่อไปไหม ฮ่าๆ)

ถ้าถามพรี่หนอมว่าเห็นด้วยไหมกับการเก็บภาษีตรงนี้ คงต้องบอกว่าถ้ามองในแง่ความเท่าเทียมก็คงใช่ เพราะเงินฝากประจำกับ Term Fund ผลตอบแทนใกล้กัน แต่ Term Fund ชนะขาดที่ภาษีแน่ ๆ อยู่แล้ว

แต่ถ้ามองในแง่ของโอกาสที่คนจะมาเริ่มต้นลงทุนกองทุนรวม อาจจะสับสน งงงวยและไม่กล้าหรือเปล่า (อะไรมันดูแปลก ๆ ฝากเงินเหมือนเดิมละกันตรู) ส่วนในแง่ของ บลจ. จัดการกองทุน ก็ต้องแสดงผลงานและฝีมือในการบริหารเพื่อดึงดูดให้คนมาลงทุนกันต่อไป

สรุปสั้น ๆ คือ มองในแง่ภาพรวมมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงหลังจากการเก็บภาษีนั้น เราต้องดูกันต่อไปแหละฮะ ท่านผู้ชม

ฝากเคล็ดลับนิดๆ สำหรับคนที่มีภาษีเสียในอัตราไม่ถึง 15% นั้นอาจจะไม่ต้องกังวลอะไรเพราะสามารถนำมายื่นแบบแสดงรายการภาษีรวม แล้วขอคืนภาษีส่วนเกินที่ถูกหักไว้ได้เหมือนเดิมครับ

ลงทุนในกองทุน ลงทุนในหุ้น มีปันผล ควรทำไงดี?

เอาล่ะครับ กลับมาที่ประเด็นกันต่อครับ สำหรับคนที่ลงทุนนั้น มักจะมีรายได้หลายทาง แล้วเกิดความสงสัยว่าควรจะทำยังไงต่อไปดี พรี่หนอมอยากให้ดูตัวอย่างนี้ประกอบครับผม

ถ้าในปี 2560 นายบักหนอมมีเงินเดือน ปีละ 1,100,000 บาท (ไม่มีค่าลดหย่อนอื่นๆ) ได้รับเงินปันผลกองทุนรวม 100,000 บาท และยังมีเงินปันผลจากหุ้น 80,000 บาท (ซึ่งเสียภาษี 20% แล้ว) คำถามคือทำยังไงนายบักหนอมจะประหยัดภาษีที่สุด

สำหรับคนที่ต้องการคำตอบไวๆ ไม่อยากเสียเวลาคำนวณภาษีอะไรเลย คำแนะนำของพรี่หนอมมีสั้นๆ 2 ข้อครับ นั่นคือ

  1. ถ้าเสียภาษีเกินฐาน 10% เมื่อไร ไม่ต้องเอาเงินปันผลจากกองทุนรวมมารวมคำนวณทุกกรณี
  2. ถ้ามีเงินปันผลจากหุ้นให้นำมารวมคำนวณทุกกรณี

จำไว้แค่นี้สั้น ๆ ครับ เพราะว่ากรณีของเงินปันผลนั้น เราสามารถเลือกใช้สิทธิที่เรียกว่า Final TAX หรือเสียภาษีครั้งเดียวจบได้เลยโดยการถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ที่ 10% และไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี ครับ แต่เหตุผลที่พรี่หนอมบอกว่ามีเงินปันผลจากหุ้นให้นำมารวมคำนวณทุกกรณีนั้น เพราะมันมีเรื่องของเครดิตภาษีเงินปันผลอยู่ นั่นคือ จะไม่มีการเสียภาษีเงินได้ซ้ำซ้อนกันถึงสองรอบครับ เพราะเงินปันผลก้อนนี้เสียภาษีเงินได้จากบริษัทมาแล้ว

อ่านเรื่องนี้ได้แบบเต็มๆที่นี่ครับ ครบทุกความเข้าใจ กำไรจากการขายหุ้น รอลุ้นเครดิตภาษี โดยพี่ TAXBugnoms

กลับมาที่ตัวอย่างกันก่อนครับ … จะเห็นว่ากรณีที่เป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น หากไม่นำเงินปันผลทั้งคู่มารวมคำนวณภาษี เราจะเสียภาษีที่ 103,000 บาทซึ่งมาจากเงินได้สุทธิจำนวน 940,000 บาท ซึ่งคำนวณแบบนี้ครับ

(รายได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน)  = 1,100,000 - 100,000 - 60,000  = 940,000 บาท

หมายเหตุ : ที่มาของตัวเลขรายได้คือเงินเดือนทั้งหมด ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นกฎหมายกำหนดไว้ให้หักได้ 50% ของรายได้แต่สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนค่าลดหย่อนส่วนตัวคือ 60,000 บาทครับ

เอาล่ะครับ ทีนี้เรามาลองดูกันบ้างว่าควรจะทำยังไงต่อมาดูรูปด้านล่างเลยครับ

จะเห็นว่าตอนนี้เงินได้สุทธิของนายบักหนอมก่อนรวมคำนวณภาษี เสียอยู่ในฐาน 20% แต่เงินปันผลกองทุนรวมถูกหักภาษีไว้ที่ 10% นั่นแปลว่า ยิ่งเอามายื่นรวมคำนวณยื่งจะเสียภาษีเพิ่ม เพราะเงินปันผลนั้นมันหักค่าใช้จ่ายไม่ได้เลยครับ ดังนั้นจึงเข้ากับทฤษฏีที่ผมบอกว่า “ถ้าฐานภาษีเกิน 10% แล้ว ไม่ต้องเอาเงินปันผลจากกองทุนรวมมารวมคำนวณภาษีครับ”

แต่สำหรับหุ้น มีเรื่องเครดิตภาษีเงินปันผล ซึ่งคำนวณออกมาเพื่อย้อนกลับ