ปี 2022 กำลังจะผ่านเราไปแล้ว สำหรับใครหลายคนถือว่าเป็นปีที่ไม่ง่ายนัก เศรษฐกิจค่อนข้างแย่ เจอเงินเฟ้อเข้าไปอีกยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปอีก โชคยังดีที่ประเทศไทยเปิดประเทศมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาช่วยพยุงช่วงปลายปีไม่ให้มันชีช้ำลงไปกว่าเดิม

เชื่อว่าสำหรับปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงนั้นหลายคนน่าจะเตรียมรับมือกับภาวะความผันผวนที่จะเกิดขึ้นกันไว้บ้างพอสมควรแล้ว บางคนก็ปรับพอร์ตหุ้น กองทุน เตรียมรับมือกับผลกระทบของภาวะตลาดถดถอย (Recession) ที่กำลังจะเกิดขึ้นทางฝั่งอเมริกาและยุโรป และเก็บเงินสดเอาไว้พร้อมเตรียมรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นของการเปิดประเทศของจีนในช่วงต้นปีหน้าด้วย

แน่นอนว่าเราลงทุนก็อยากให้มันสินทรัพย์เติบโต แต่นั่นเป็นเพียงด้านหนึ่งของชีวิตเท่านั้น เพราะอย่าลืมว่าแม้สินทรัพย์เติบโตแต่ตัวคุณเองกลับไม่มีความสุข ทำงานโดยไม่มีเวลาพักผ่อน ให้ครอบครัว ให้ตัวเอง หรือ สุขภาพย่ำแย่ มันก็เป็นเรื่องที่ไม่ดีนัก โชคดีอย่างหนึ่งสำหรับคนที่เป็นนักลงทุนคือหลักการเดียวกันเราใช้เพื่อสร้างความมั่งคั่งสามารถนำไปใช้เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับตัวเองในรูปแบบอื่นๆ ได้ด้วย

เรียกว่าเป็นการสร้างพอร์ตสำหรับการใช้ชีวิต เงิน และเวลาเพื่อให้มันสร้างผลตอบแทนในระยะยาวหลายเดือนหลายปีต่อจากนี้ก็ว่าได้

การลงทุนในตัวเอง หรือคำศัพท์ในภาษาของนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Human Capital” หรือ “ทุนมนุษย์” คือการสร้างแนวทางให้ชีวิตของเราดีขึ้น ไดแอน ริง (Diane Ring) คณบดีชั่วคราวและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของวิทยาลัยบอสตัน ก่อนหน้านี้ได้วิจัยพัฒนาการใหม่ๆ ในการลงทุนในทุนมนุษย์และเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน เธอชี้ให้เห็นถึงการเติบโตหลักสามประเภทที่ได้รับจากการลงทุนในตัวเราเอง ได้แก่ อาชีพการงาน เรื่องส่วนตัว และสุขภาพ ริงกล่าวว่า

“ทั้งสามอย่างนี้เชื่อมต่อกัน คิดซะว่ามันเป็นผลตอบแทนที่อยากได้สำหรับตัวเราเอง มันแตกต่างกันเล็กน้อย แต่ก็ขับเคลื่อนไปสู่ความมั่นคงเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายปลายทางเป็นสิ่งที่มีความหมายกับเราและแผนของเราเท่านั้น”


ลองนำหลักการการลงทุนเรื่องการเงินมาปรับใช้กับการลงทุนในตัวเองในปี 2023 ดูบ้าง

1. วางแผนสำหรับการลงมือในระยะยาว

การลงทุนความสำเร็จระยะยาวของตัวเองนั้นเป็นอะไรที่มากกว่าแค่การไปสมัครเป็นสมาชิกของยิมหรือซื้อเสื้อวิ่ง รองเท้าวิ่งมาเตรียมออกกำลังกาย การตั้งเป้าหมายระยะยาวสำหรับการลงทุนในหุ้นหรือกองทุน เราต้องดูแลและคอยจัดการอยู่เสมอ ไม่ใช่การทำครั้งเดียวแล้วจบ การลงทุนในตัวเองก็เหมือนกันครับ เราจะทำครั้งเดียวแล้วคิดว่ามันจะได้ผลในระยะยาวมันเป็นไปไม่ได้

เมแกน แมคคอย (Megan McCoy) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่มหาวิทยาลัยรัฐแคนซัส กล่าวว่า "การลงทุนหมายถึงการปลูกเมล็ดพันธุ์และรับผลตอบแทนในอนาคต มันต้องมีเส้นทางเพื่อเดินไปข้างหน้าด้วย”

แมคคอยอธิบายว่าวิธีที่ดีที่สุดคือการจินตนาการถึงการลงทุนของเราคือถนนยาว ๆ และระหว่างทางก็มีหมุดหมายกำกับเอาไว้ เหมือนก้อนหินสำหรับเหยียบเพื่อให้เดินไปข้างหน้าได้เรื่อย ๆ หมุดหมายแต่ละอันนอกจากจะช่วยให้คุณเห็นภาพตัวเองเดินไปยังเป้าหมายปลายทางอีกก้าวแล้ว มันยังเป็นจุดที่จะทำให้คุณได้ตรวจสอบและถามตัวเองด้วยว่าการลงทุนของคุณเป็นยังไงบ้างแล้ว เขากล่าวต่อว่า

“ทุกคนยุ่งมาก ๆ และผมก็รู้สึกว่าทุกคนแค่พยายามรอดชีวิตแทนที่จะบอกว่า ‘อะไรที่กระตุ้นความคิดของฉันบ้าง? เป้าหมายของฉันคืออะไร? ความหลงใหลของฉันคืออะไร? ฉันทำทั้งหมดนี้ไปเพื่ออะไร?’ เราต้องหาเวลาเพื่อจะพัฒนาแผนที่ภายในแบบนี้ด้วยเสมอ”

มนุษย์ทุกคนที่ความต้องการที่แตกต่างกัน ความหลงใหล ความชอบ และเป้าหมายของชีวิต ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งกระตุ้นให้มีมากขึ้น มีเยอะขึ้น แต่นั่นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการเสมอไปก็ได้

เราอาจลืมถามตัวเองไปว่าเรากำลังทำทุกอย่างไปเพื่ออะไร? คอยถามตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง เพื่อให้เราเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ตามแผนระยะยาวที่วางเอาไว้


2. กระจายความเสี่ยง

เชื่อว่านักลงทุนทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘อย่าเอาไข่ไปใส่ไว้ในตะกร้าใบเดียว’ มาแล้วนับเป็นล้าน ๆ ครั้ง การกระจายความเสี่ยงถือเป็นทักษะและแนวคิดพื้นฐานสำหรับการลงทุน เราไม่ควรเอาเงินทั้งหมดไปวางไว้ในหุ้นของบริษัทเดียว เพราะถ้าเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา เงินต้นของเราก็จะกระทบไปด้วย ซึ่งริงก็บอกว่าเรื่องนี้สามารถใช้ได้กับพอร์ตของชีวิตเช่นเดียวกัน อย่าทุ่มพลังทุกอย่างไปกับเป้าหมายอย่างเดียวโดยทิ้งความสนใจอื่น ๆ ไปทั้งหมดเลย

แบ่งเวลาและความสนใจให้กับชีวิตการทำงานและการเงิน เรื่องส่วนตัว และสุขภาพเท่า ๆ กัน เพราะการทุ่มให้อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นทำงานหนักและหาเงินอย่างเดียว อาจจะทำให้การลงทุนในส่วนอื่น ๆ อย่างสุขภาพและความสัมพันธ์ของครอบครัวแย่ลงได้ (เหมือนกับการเอาเงินไปวางไว้ในตะกร้าใบเดียวนั่นแหละครับ)

ริงแนะนำให้ถามตัวเองแบบนี้เวลาจะพยายามทำงานเพื่อหาเงินเพิ่ม บอกว่า “สิ่งนี้จะกระทบกับเวลาส่วนตัวและสุขภาพของเรารึเปล่า? มันจะกระทบกับหน้าที่รับผิดชอบหลักของเราไหม?” ถ้าใช่ก็แสดงว่ามันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราควรทำ


3. จ่ายปันผลให้กับตัวเองด้วย

เคที มิลค์แมน (Katy Milkman) ศาสตราจารย์ด้านการดำเนินงาน ข้อมูล และการตัดสินใจที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกล่าวว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราสร้างระบบที่ให้รางวัลตัวเองเมื่อทำถึงเป้าหมายบางอย่างได้จะยิ่งทำให้เราประสบความสำเร็จมากขึ้นไปด้วย

ศาสตราจารย์มิลค์แมนและ แองเจลา ดักเวิร์ธ (Angela Duckworth ผู้เขียนหนังสือ Grit) เพื่อนร่วมงานของเธอได้ร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งเพื่อดูว่าการสร้างแรงจูงใจส่งผลต่อการเข้ายิมยังไงบ้าง สิ่งหนึ่งที่พบก็คือว่าคนที่ไปพลาดการออกกำลังกายเมื่อได้รับสิ่งจูงใจเพิ่มเติม (ในรูปแบบของคะแนนที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้) หากกลับมาออกกำลังกายอีกครั้ง มีโอกาสกลับมายิมเพิ่มขึ้นถึง 27% เลย

รางวัลช่วยทำให้เป้าหมายระยะยาว อย่างเช่นการสร้างนิสัยใหม่ ๆ หรือการตัดสินใจว่าจะใช้เวลาในแต่ละวันให้มีประโยชน์ที่สุดได้ยังไงกลายเป็นภารกิจระยะสั้น ศาสตราจารย์มิลค์แมนเรียกสิ่งนี้ว่า “Temptation Bundling” หรือการผูกพฤติกรรมที่ไม่อยากทำเข้ากับสิ่งที่อยากทำเพื่อสร้างพฤติกรรมเชิงบวกนั่นเอง เธออธิบายว่า

“หากคุณผูก [งาน/สิ่งที่ไม่อยากทำ] ไว้กับสิ่งที่สนุกสุด ๆ สำหรับคุณ เช่นว่า ‘ฉันจะเปิดไวน์สุดโปรดได้ก็ต่อเมื่อทำอาหารให้ครอบครัวเท่านั้น’ หรือ ‘ฉันดูรายการทีวีที่ชื่นชอบแบบยาว ๆ ได้ก็ตอนที่อยู่ที่ยิมเท่านั้น’ คุณจะเห็นความสำเร็จมากขึ้นเลย”

เพราะฉะนั้นเมื่อคุณอยากจะลงทุนกับตัวเองก็อย่าลืมจ่ายปันผลเป็นรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างทางด้วย

อีกอย่างหนึ่งที่ศาสตราจารย์มิลค์แมนพบก็คือว่าเมื่อเราพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดหรือเชี่ยวชาญที่สุด แต่การเข้าร่วมกลุ่มหรือแชร์เรื่องราวที่เราได้ทำกับคนอื่น สร้างแรงส่งเชิงบวกให้คนอื่น การมอบคำแนะนำนอกจากจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นแล้วยังช่วยทำให้เรามีความมุ่งมั่นกับเป้าหมายของตัวเองมากขึ้นด้วย

การลงทุนในตัวเองคือการสร้างสมดุลระหว่างการทำงาน การเงิน ความสุข ความสัมพันธ์ และสุขภาพให้อยู่ในจุดที่ไม่ถ่วงหนักไปด้านใดด้านหนึ่งเกินไป มีเวลาให้กับตัวเองได้พัฒนาทักษะ ความรู้ และดูแลสุขภาพ มีความสัมพันธ์กับเพื่อน คนรักและครอบครัวอย่างเพียงพอ ในขณะเดียวกันก็ยังไม่เบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายทางการเงินที่วางเอาไว้ด้วย

วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“ท้ายที่สุดแล้ว มีการลงทุนอย่างหนึ่งที่เหนือกว่าสิ่งอื่นๆ ทั้งหมดนั่นคือ การลงทุนในตัวคุณเอง ไม่มีใครสามารถพรากสิ่งที่คุณมีในตัวคุณได้ และทุกคนมีศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้”

ขอให้ปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนอกจากจะเป็นปีที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนด้านการงานและการเงินแล้ว ยังเป็นปีที่เราได้กลับมาลงทุนกับตัวเองอีกครั้งหนึ่งอย่างเต็มที่ด้วยครับ


Nature

WSJ

Fool.com