เมื่อก่อนคำว่า ‘พอ’ สำหรับผมเมื่อก่อนคือคำอธิบายของ ‘คนขี้แพ้’ แต่วันหนึ่งก็รู้ว่าตัวเองเข้าใจผิดมาโดยตลอด

ความฝันของผมตอนเป็นเด็กคือการได้เป็นโปรแกรมเมอร์ มันเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ของเด็กบ้านนอกคนหนึ่ง แม้จะใช้เวลาหลายปี ต้องเดินทางไกลจากบ้านไปเรียนต่างประเทศ แล้วสุดท้ายผมก็ทำมันสำเร็จตอนอายุราว ๆ 25 ปี ได้ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

และไม่นานต่อจากนั้นผมก็คิดว่า ถ้าจะสำเร็จจริง ๆ ก็ต้องเป็นหัวหน้าสิ ดูแลทีมดูแลโปรเจกต์ ผมก็ทำงานอย่างหนักเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น

ถ้ามีรถยนต์สักคันผมคงมีความสุขกว่านี้ และผมก็ได้รถยนต์ในฝันด้วยน้ำพักน้ำแรงการทำงาน

ถ้ามีบ้านสักหลังมันจะต้องมีความสุขแน่ ๆ เลย บ้านในฝันที่จะสร้างครอบครัว นี่แหละคือเป้าหมายชีวิต แต่สุดท้ายพอซื้อบ้านมาแล้ว ก็รู้สึกว่าโรงรถมันเล็กจัง ถ้าขยายโรงรถคงดีกว่านี้ สนามหญ้าดูไม่เขียวเลยต้องไปซื้อหญ้ามาปลูก ทำไมมันมีอะไรให้ทำเยอะแยะไม่รู้จบ

โอ้ว…แล้ววันหนึ่งชีวิตก็ผกผัน เป้าหมายชีวิตเปลี่ยน เพราะต้องกลับมาเมืองไทยและการเป็นโปรแกรมเมอร์ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป

ความฝันครั้งใหม่คือการเป็นนักเขียนอาชีพ แค่ออกหนังสือสักเล่มผมจะมีความสุขมาก ๆ เลย และหลังจากถูกปฏิเสธนับครั้งไม่ถ้วนอยู่หลายปี ผมก็มีหนังสือเล่มแรก

จะเรียกว่าสำเร็จก็ต้องออกกับสำนักพิมพ์หัวใหญ่ ๆ สิ และผมก็พยายามอีกครั้งจนได้ออกกับแซลมอน หลังจากนั้นผมก็ได้ออกอีกเล่ม แล้วก็อีกเล่ม…ถึงตอนนี้กำลังเขียนเล่มที่ 8 ของตัวเองแล้ว

มองย้อนกลับไปมันทั้งภูมิใจและเหนื่อยซะเหลือเกิน

แต่นี้คือธรรมชาติของมนุษย์ ความต้องการของเรานั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด เราอยากมีมากขึ้นอย่างไม่ลดละ ขยับเป้าหมายให้ไกลออกไปเรื่อย ๆ บางทียังไม่ถึง ก็เริ่มมองหาเป้าหมายใหม่ซะแล้ว

ถ้ามองในเชิงวิวัฒนาการแล้วมันเป็นเรื่องที่มีเหตุผล มนุษย์มาถึงจุดนี้ได้เพราะการผลักดันให้ตัวเองทำให้ดีขึ้น มีมากขึ้น

แต่การโหยหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้เป็นเส้นทางไปสู่ความสุขจริง ๆ รึเปล่า? บางทีมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้

นักเขียน เคิร์ต วอนเนกุต (Slaughterhouse Five) และโจเซฟ เฮลเลอร์ (Catch-22) อยู่ในงานปาร์ตี้สุดหรูนอกนครนิวยอร์ก วอนเนกุตยืนอยู่ในบ้านอันโอ่อ่าของเจ้าบ้านมหาเศรษฐีเริ่มคุยกับเพื่อนอย่างอยากรู้อยากเห็น (บทสนทนานี้ถูกตีพิมพ์ใน ‘New Yorker’ ปี 2005)

“ผมถามว่า ‘โจ คุณรู้สึกยังไงเมื่อรู้ว่าเจ้าของงานปาร์ตี้นี้ทำเงินได้เมื่อวานวันเดียวอาจจะมากกว่าที่นายทำได้จากนิยาย Catch-22 ของนายเลย?’
และโจก็บอกว่า ‘ผมมีบางอย่างที่เขาไม่มีวันจะมีได้’
และผมก็พูดว่า ‘มันเป็นได้ยังไง โจ?’
และโจก็บอกว่า ‘ผมรู้ว่าตัวเองมี ‘พอ’ แล้ว’”

ผมเคยมองคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า รู้สึกว่าพวกเขาช่างดูมีความสุขเหลือเกิน ชีวิตพวกเขาต้องดีมากแน่ ๆ เลย จะต้องทำยังไงถึงจะไปอยู่ตรงนั้นได้ ทำยังไงถึงจะมีเหมือนคนอื่น ๆ


ตลอดชีวิตที่ผ่านมาผมทำงานหนักมาตลาด คำว่า ‘พอ’ สำหรับผมเมื่อก่อนคือคำของคนขี้แพ้ ไม่ทะเยอทะยาน จนกระทั่งเหตุการณ์หนึ่งได้ทำให้ผมรู้ว่ามันไม่จริงเลย

เมื่อประมาณ 2 ปีก่อนที่ลูกสาววัย 5 ขวบอยู่ในช่วงปิดเทอมกำลังเตรียมตัวจะขึ้นประถมหนึ่ง เขาอยากไปว่ายน้ำที่สระน้ำในหมู่บ้าน ซึ่งเขาก็ชวนมาหลายวันแล้วแต่ผมยังไม่ว่างพาไปสักทีเพราะมีงานที่ต้องทำ (เหมือนอย่างตลอดทุกครั้ง) จนกระทั่งวันหนึ่งเธอก็ถามว่า ‘ป๊าทำงานหนักเพราะอะไรเหรอ?’ ผมก็ตอบว่า ‘ก็อยากให้ครอบครัวเราสบายไง อยากให้ลูกมีความสุข’ แล้วเธอก็ตอบว่า ‘แต่ตอนนี้หนูไม่มีความสุข หนูอยากไปว่ายน้ำกับป๊า แต่ป๊าไม่ว่างสักที’

แค่นั้นแหละครับ…โลกของผมพลิกเลย เหมือนมีคนมาเปิดไฟในห้องที่มืดมิดมานาน คำว่า ‘พอ’ สำหรับผมเปลี่ยนไปทันที เริ่มมีความสงบนิ่งมากขึ้น ไม่วิ่งวุ่น ทำ ทำ ทำ แทบไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองมีน้อยหรือด้อยกว่าคนอื่น ๆ อีกต่อไป

แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ก็นำมาซึ่งความกังวลเช่นกันว่าพอรู้สึกแบบนี้งานจะไม่ก้าวหน้าหรือไม่พัฒนารึเปล่า? ถ้ารู้สึกพอเพียงหรือพอใจทำไมยังต้องทำงานหนักอีกล่ะ?

ความรู้สึกไม่เพียงพอหรือไม่พอใจทำให้ผมสร้างผลงานที่ดีจริง ๆ เหรอ? ที่จริงแล้วความรู้สึกเหล่านั้นแหละที่ทำให้ต้องรับงานมากมายจนไม่มีเวลาเหลือให้กับสิ่งสำคัญอื่น ๆ ในชีวิต (อย่างเวลาที่จะได้ไปว่ายน้ำกับลูกจะเกิดขึ้นได้อีกสักกี่ครั้งกันในชีวิตนี้?)

แต่ผลงานหรืองานที่ผมทำจริง ๆ นั้นมาจากการทำเพราะเรารักในสิ่งที่ทำ ผมเขียนเพราะรักในอาชีพ นั่นต่างหากคือสิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่ข้างใน ไม่ใช่แค่รู้สึกว่าตัวเองต้องมีมากขึ้น ให้เหมือนคนอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จมากกว่า

เฮลเลอร์เขียนนวนิยายอีก 6 เล่มหลังจาก ‘Catch-22’ ซึ่งก็ขายดีเช่นกัน เขาไปสอน เขียนบทละครและภาพยนตร์ต่อด้วย

ความรู้สึก ‘พอ’ ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้อง ‘หยุด’ ทำงานหรือพัฒนางานที่เรารัก

สำหรับผมตอนนี้ คำว่า ‘พอ’ ไม่ใช่สำหรับ ‘คนขี้แพ้’ อีกต่อไป

มันคือคำที่เอาไว้เตือนตัวเองว่าความสุขไม่ได้มาพร้อมกับการมีมากขึ้นหรือต้องมีเหมือนคนอื่น ๆ แต่มันคือความเข้าใจว่า เงิน ชื่อเสียง หรือแม้แต่การยกย่องเชิดชูจากคนอื่น ๆ นั้นไม่ว่ามากแค่ไหนก็ไม่เคยเพียงพอถ้าเราไม่รู้จักคำว่าพอ

ทุกคนไม่ว่าจะยากดีมีจนขนาดไหน ก็มีปัญหาของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป มันไม่จริงเลยที่คนประสบความสำเร็จหรือคนที่ร่ำรวยมหาศาลจะไม่มีความทุกข์

มันคือการกลับมามองตัวเองและงานที่ทำใหม่อีกครั้ง โดยรู้ว่าการมีมากขึ้นไม่ใช่คำตอบ ยิ่งอยากได้ยิ่งอยากมียิ่งเป็นทุกข์ นั่นคือความย้อนแย้งของความสุข

เล่าจื้อนักปรัชญาชาวจีนเคยกล่าวไว้ว่า

“เมื่อตระหนักได้ว่าเราไม่ได้ขาดแคลนอะไร เมื่อนั้นโลกทั้งโลกก็เป็นของเรา”

เมื่อเข้าใจคำว่าพอในมุมมองนี้ คุณอาจจะเหนื่อยน้อยลง ทำน้อยลง แต่กลับเติมเต็มและมีความสุขมากยิ่งกว่าเดิม

https://www.themarginalian.org/2014/01/16/kurt-vonnegut-joe-heller-having-enough/