นอกจากอาการเจ็บป่วยที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยแล้ว ค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายแรงก็ขึ้นชื่อว่าเป็นค่าความเสียหายก้อนใหญ่ที่สามารถสร้างอาการบาดเจ็บให้เงินในกระเป๋าได้เช่นกันเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ เราทุกคนมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละคนจะได้เจอกับรูปแบบอาการป่วยที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิตหรือกรรมพันธุ์

เราไม่สามารถให้คำตอบได้เลยว่าโรคร้ายแรงเหล่านี้จะมาเยี่ยมเยียนเราในช่วงไหนของชีวิต แต่เราสามารถเลือกที่จะหลีกเลี่ยง และมีป้องกันความเสียหายเหล่านี้ได้ ด้วยความซับซ้อนและอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ทำให้ค่ารักษาพยาบาลของบรรดาโรคร้ายแรงนั้นมีราคาสูง เพราะต้องใช้แพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเครื่องมือพิเศษราคาแพง

แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากทนทรมานจากโรคร้ายเป็นเวลานานหรอก ทุกคนต่างมองหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับตัวเองเสมอ

ดังนั้น โรงพยาบาลเอกชนจึงเป็นทางออกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่อยากต่อคิวรอผู้ป่วยจำนวนมากในโรงพยาบาลรัฐ แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมันก็ช่างแพงแสนแพง

โรคร้ายแรงยอดนิยมของคนไทยจากข้อมูลที่ผมได้เก็บมาได้จะมีค่ารักษาเฉลี่ยตามโรคดังนี้

• โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ค่าผ่าตัดรักษา 600,000 บาท

• กระบวนการรักษาโรคมะเร็งร้ายแรงทั้งหมด 700,000 – 1,500,000 บาท

• ค่าผ่าตัดมะเร็งเต้านม 200,000 บาท 

• ค่ารักษาโรคตับแข็ง 650,000 บาท (นักดื่มจำตัวเลขไว้นะ) 

• ค่ารักษาโรคหลอดเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน 300,000 บาท

• ค่าผ่าตัดเนื้องอกในสมอง 400,000 บาท

ทั้งหมดเป็นแค่ค่ารักษาพยาบาลสำหรับแต่ละโรคเท่านั้นยังไม่รวมค่าพักฟื้นของผู้ป่วยในที่อาจจะมีค่ายา ค่าห้อง ค่าแพทย์เข้าพบ และค่าบริการอื่นๆเข้าไปอีก

สำหรับโรงพยาบาลเอกชนค่าใช้จ่ายขั้นที่ตามมาในช่วงเวลาพักฟื้นอาจจะอยู่ที่ 6,000 – 20,000 บาทต่อวัน ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลที่เข้าไปรับการรักษาด้วย ยิ่งอยู่นาน ค่าความเสียหายก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เบ็ดเสร็จแล้วกว่าที่สุขภาพจะกลับมาแข็งแรงเหมือนปกติ เราอาจจะต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลแน่นอน

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริงๆนะ หากเราต้องสูญเสียเงินก้อนไปกับเรื่องเหล่านี้ เพราะมันส่งผลกระทบโดยตรงต่อ “แผนการเงิน” ของเรา และ “เป้าหมายการเงิน” อาจจะประสบความสำเร็จได้ช้าลงและแผนการเกษียณอาจสั่นคลอนได้ถ้าเจอค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้เข้าไป โดยเฉพาะในช่วงช่วงบั้นปลายของชีวิต

เรามาดูวิธีการป้องกันความเสียหายเหล่านี้กันดีกว่า ว่ามีวิธีไหนบ้าง

(เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับตนเองและคนรอบข้าง ผมแนะนำให้แชร์เรื่องนี้ไว้ก่อนเลยครับ)

1. ทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ

จ่ายเงินค่าเบี้ยประกันรายปี เพื่อแลกกับความคุ้มครองจำนวนมหาศาล เป็นการป้องกันความเสี่ยงทางการเงินที่คุ้มค่าที่สุด เพราะถ้าเบี้ยประกันรายปีถูกรวมเป็นค่าใช้จ่ายในแผนการเงินของเราแล้ว มันยิ่งช่วยให้เราอุ่นใจได้มากขึ้น

เพราะเงินเก็บและเงินลงทุนของเราทั้งหมดถูกคุ้มครองด้วยประกันฯที่ทำไว้ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาลจำนวนมหาศาล

การทำประกันจึงเหมือนการจ่ายเงินก้อนเล็กเพื่อคุ้มครองเงินก้อนใหญ่ในอนาคต

เพราะทันทีที่เราถูกตรวจพบโรคร้ายแรง ต้องเข้ารับการรักษา ประกันสุขภาพจะทำงานทันที โดยบริษัทประกันจะเป็นคนช่วยจ่ายเงินค่ารักษาแทนเราตามสัญญาที่ทำไว้

2. ซื้อแผนตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

แผนตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลเอกชนโดยส่วนมาก สามารถตรวจโรคร้ายแรงได้ค่อนข้างครบ จะซื้อเป็นคอร์สใหญ่ราคาสูงเพื่อได้รายละเอียดที่ครบถ้วน หรือแยกซื้อคอร์สแยกเลือกตรวจหาเฉพาะโรคที่เราเป็นกังวลก็ได้

3. ดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดีที่สุด

อาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด(เพราะไม่ต้องเสียเงิน) แค่รู้จักวิธีดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง กินอาหารที่ดีให้ถูกหลักโภชนา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดื่มน้ำเป็นประจำ และนอนหลับให้ถูกวิธี ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่โรคร้ายแรงจะเกิดขึ้นกับตัวเราได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงที่มีจะหมดไป

ถ้าถามว่าวิธีไหนป้องกันได้ดีที่สุด ผมขอแนะนำว่าทำทั้งสามวิธีได้ผล 100%

เพราะความเสี่ยงยังคงเหลืออยู่หากดูแลสุขภาพตัวเองได้ไม่เต็มที่ แม้ตรวจสุขภาพเป็นประจำแล้ว ความเสี่ยงก็ยังมีโอกาสหลุดรอดมาได้

สุดท้ายถ้าเป็นโรคร้ายแรงจริงๆก็ต้องเสียค่ารักษาอยู่ดี ทำประกันซ้อนไว้อีกชั้นจึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด

ดีที่สุดคือทำมันทั้งสามวิธีนั่นแหละ!

ก็เพราะคนเราเกิดมาแค่ครั้งเดียว ดูแลรักษาสุขภาพให้ดีที่สุด เพื่อให้ชีวิตมีความสุขในทุกมิติเถอะครับ