ถ้าเราได้เริ่มจากการศึกษางบดุลก็จะพอทราบแล้วว่า ที่มาของทรัพย์สินที่จะใช้ในการนำมาประกอบกิจการ ก็มาจาก "การยืม" และ "การใช้ทุนตัวเอง" แน่นอนว่าทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นเงินสด อาคาร เครื่องใช้ไม้สอยและอีกหลายๆสิ่งที่จะถูกนำมาใช้เพื่อแสวงหากำไร แหม... ออกเงินออกทองมาเช่าหน้าร้าน จ้างพนักงาน แล้วก็ต้องมีการผลิตของขายกันแล้วนิ เป้าหมายของการทำธุรกิจก็คงเหมือนๆกันทุกที่คือ ขายของให้มีกำไร ไม่มีกำไรใครจะขายของละครับ ลองคิดง่ายๆเลยนะ ถ้าคุณเปิดร้านบะหมี่เกี้ยวเป็ดนย่างใส่แจ่วน้ำจิ้มตำบนครก (ชื่อจะยาวไปไหม?) คุณก็ต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้การลงทุนของเรามันงอกเงย  ฮ่าๆ แน่นอนว่ามันก็เกิดเป็นสมการง่ายๆในการคิดกำไรจากการทำธุรกิจดังนี้

รายได้ - ต้นทุน = กำไร

ดูง่ายไปไหมนะ? แน่นอนว่าถ้าเราทำธุรกิจเล็กๆที่เราเข้าใจง่ายมันก็จะมองง่าย แต่ถ้าเราไปมองในธุรกิจที่ซับซ้อนมันก็จะมองยากมาก เรามาดูแต่ละอย่างกันนะครับว่ามันคืออะไรบ้าง

รายได้

รายได้หรือยอดขายหรืออะไรก็ตามแต่มันมากจากการที่เราขายสินค้าซักชิ้นหนึ่งให้กับลูกค้าให้ได้เงินมา ถ้าเราเดินออกไปข้างนอกตามร้านสะดวกซื้อหรือซุปเปอร์มาเก็ต ก็จะเห็นสินค้าเต็มไปหมด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 5-10 บาท ไอศครีม 20 บาท น้ำดื่มขวดละ 10 บาท เราก็จะจ่ายกันในราคานี้ล่ะ ขายได้เท่าไหร่ก็เอาไปคูณเลย เช่น ขายบะหมี่ได้ 200 ชาม ชามละ 40 บาท ก็จะมารายได้ทั้งหมด 8,000 บาท

ต้นทุน

ขายของก็จะมีรายได้ใช่ไหมครับ บางคนคิดว่ารายได้ ยอดขายของบริษัทดีแปลว่าบริษัทจะเติบโตได้เยอะ อันนี้ไม่ใช่แล้วเพราะทุกอย่างย่อมมีที่มาที่ไปในการดำเนินงาน เรียกว่าต้นทุน บางธุรกิจยอดขายมโหรานแต่ถ้ามีต้นทุนเยอะก็แปลว่ากำไรน้อย แต่บางบริษัทขายได้ไม่ได้เยอะมากหรอกแต่ต้นทุนน้อยมากๆ กำไรก็เยอะได้ทันที

ต้นทุนสินค้าและบริการ (ต้นทุนมีและเกิดไปพร้อมสินค้า)

สมมติเราเปิดร้านขายบะหมี่ เราขายชามละ 40 ต้นทุนที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการโดยตรงก็คือ เส้นหมี่ ลูกชิ้น เกี๋ยว เป็ด เห็ด ไข่ หมู และ อื่นๆที่มันอยู่ในชาม พวกนี้เป็นต้นทุนของสินค้า มันเกี่ยวข้องโดยตรงกับตัวธุรกิจ ยิ่งธุรกิจของเรามีต้นทุนทางตรงที่ต่ำก็จะสามารถสร้างกำไรในเบื้องต้นที่สูงกว่าคนอื่นได้ เราอาจจะขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท แต่ต้นทุนของเรา 15 บาท ส่วนร้านฝั่งตรงข้ามเราต้นทุน 20 บาท ขายของราคาเดียวกัน ต้นทุนต่างกัน ถ้าขายได้ 5,000 ชามเท่ากัน เราก็จะได้กำไรมากกว่าเขา ใช่ไหมครับ

มาดูว่าถ้าเราก๋วยเตี๋ยวชามละ 40 บาท ต้นทุน 15 บาท เราจะมีกำไรในเบื้องต้นเท่าไหร่

รายได้ 200,000 บาท

ต้นทุนสินค้า 75,000 บาท

กำไรขั้นต้นจากการขาย 125,000 บาท

ต้นทุนในการบริหารงาน (ต้นทุนที่ขายของไม่ได้ก็ต้องเสียอยู่ดี)

ไม่ใช่ว่าขายบะหมี่ชามละ 40 ต้นทุนเพียง 15 บาท แล้วกำไรจะเข้ากระเป๋าทันที จริงๆยังมีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานอีกเช่น คนแรงคนงานที่ช่วยเรา ไม่ว่าจะจ่ายเป็นรายวันหรือรายเดือน ค่าเช่าหน้าร้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าต่างๆที่มันอยู่ในร้าน แต่ละธุรกิจอาจจะแบ่งประเภทต้นทุนไม่เหมือนกันนะครับ ถ้าเราสมมติวว่าเราต้องจ้างพนักงาน 2 คน เงินเดือนคนละ 10,000 บาท และค่าสาธารณูประโภคต่างๆ อีก 5,000 บาท เราจะมีกำไรหลังจากหักค่าบริหารงานเท่าไหร่

กำไรขั้นต้นจากการขาย 125,000 บาท

ต้นทุนค่าพนักงาน 20,000 บาท

ต้นทุนค่าน้ำค่าไฟ 5,000 บาท

กำไรหลังจากการการหักค่าบริหารงาน คือ 100,000 บาท

ต้นทุนทางการเงินและทรัพย์สิน (ต้นทุนเงินทอง ยืมมาก็ต้องจ่ายดอก ทรัพย์สินไม่ใช้ก็เสื่อมค่าไปอีก)

ต้นทุนต่อมาคือต้นทุนทางการเงิน หลายๆครั้งการประกอบกิจการจะมีต้นทุนตรงนี้ เช่น บางคนไปกู้เงินเขามาทำธุรกิจ เมื่อเราทำธุรกิจได้กำไร เราก็ต้องทยอยผ่อนชำระหนี้สินคืนเช่น ดอกเบี้ย นอกจากนี้แล้วเรายังต้องจ่ายภาษี และต้องคำนวณว่าเงินที่เคยลงทุนไปในทรัพย์สินอื่นๆเช่น โต๊ะ จาน ชาม รถยนต์ อาคาร ที่ใช้ในการก๋วยเตี๋ยวนั้นมันเสื่อมคุณภาพทางการใช้งานขนาดไหน ค่าเสื่อมราคามันเป็นตัวเลขที่บอกว่า "ทรัพย์สินมันแก่แล้ว" เป็นตัวเลขทางบัญชีนะครับ แต่ทรัพย์สินบางอย่างมันอาจจะหายไปก่อนแก่ก็ได้ก็ต้องซื้อใหม่เลย ก็เป็นต้นทุนและค่าใช้จ่ายอยู่ดี หรือบางคนอาจจะซื้อไลเซ่นธุรกิจมา 10 ปี ในแต่ละปีเราก็ต้องตัดค่ามันไปว่าเราจะใช้ได้อีกแค่กี่ปีๆ

กำไรหลังจากการการหักค่าบริหารงาน คือ 100,000 บาท

ดอกเบี้ยที่จะต้องจ่าย 10,000 บาท

ค่าเสื่อมราคา 10,000 บาท

ภาษีหลังหักค่าใช้จ่าย 10% (80,000x10%) 8,000 บาท

กำไรสุทธิ 72,000 บาท

กำไร

จากข้อมูลที่แสดงให้เห็นด้านบน ก็คงจะทราบกันแล้วว่ากำไรนั้นมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่เป็นกำไรขั้นต้น กำไรหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการบริหาร กำไรสทุทธิ อันที่จริงแล้วในการบริหารธุรกิจเนี่ยเขามองกันว่า กำไรขั้นต้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าสินค้ามันมีกำไรขึ้นต้นสูงๆ พวกการบริหารงานจะเพิ่มจะลดมันก็ง่าย แต่ถ้าหากเราขายบะหมี่จานละ 40 แต่ต้นทุนสินค้าปาไป 38 บาท กำไรขั้นต้น 2 บาท อันนี้ก็เห็นได้ชัดว่าในขั้นอื่นๆก็เตรียมตัวขาดทุนกันได้เลย ไม่มีตังจ้างพนักงาน จ่ายค่าน้ำค่าไฟต่อ ไปๆมาๆไม่กำไรกลายเป็นขาดทุนเลยซะงั้น ในกรณีต่อมาถ้ากำไรขั้นต้นเยอะแต่ค่าบริหารงานมันเยอะทำให้ขาดทุน มันก็จะสามารถลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้ บางทีเพราะพนักงานอาจจะเยอะเกินไป มีการจ่ายเงินให้กับอะไรที่เกี่ยวข้องกับร้านค้ามากเกินไป ทุกบริษัทก็จะพยายามมาลดในส่วนนี้ครับ

เมื่อธุรกิจมีกำไรมากๆ ลูกค้าจ่ายเงินเข้ามาให้กับบริษัท (แต่ลูกค้าบางรายอาจจะติดไว้ก่อน เป็นลูกหนี้การค้า) เมื่อเงินสดเพิ่มก็คือทรัพย์สินเพิ่มครับ อย่างที่ผมเล่าให้ฟังว่าที่มาของเงินมี 2 ส่วนคือ เจ้าหนี้ และ เจ้าของ เมื่อทรัพย์สินเพิ่มมันก็ต้องไปดูว่าเงินตรงนี้จะเป็นของใคร แน่นอนว่าการทำกิจการนั้นผลกำไรก็จะเป็นการเติบโตของมูลค่าหุ้นในส่วนที่เป็นเจ้าของ