แม้จะเป็นข้อกล่าวหาที่ดูร้ายแรงเกินไปหน่อยกับคำกล่าวที่ว่า “คนรวยเห็นแก่ตัว” แต่บ่อยครั้งที่สังคมทั้งไทยและต่างประเทศมักออกความเห็นตราหน้าว่าคนรวยเอาเปรียบคนที่อยู่ในสถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าอยู่เสมอ ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นก็บ่งชี้ว่า คนที่มีชนชั้นทางสังคมสูงกว่า มีโอกาสเอาเปรียบ หลอกลวง ทำผิดศีลธรรมและขาดความเห็นอกเห็นใจมากกว่าคนที่ฐานะยากจนกว่า

โดยเรื่องนี้ Paul Piff ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและพฤติกรรมทางสังคม และ Dacher Keltner ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ผู้ก่อตั้ง ‘Berkeley Social Interaction Lab’ มหาวิทยาลัย Berkeley ตีพิมพ์บทความงานวิจัยชื่อ ‘Higher Social Class Predicts Increased Unethical Behavior’ ลงใน #PNAS (สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา) เมื่อปี 2012 โดยงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าคนรวยนั้นสนใจเรื่องของตนเองมากกว่าเรื่องอื่น

ตัวอย่างจากงานวิจัยของทั้งคู่พบว่า เมื่อสังเกตพฤติกรรมการขับขี่ของกลุ่มตัวอย่างในสี่แยกที่พลุกพล่านบริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก คนขับรถหรูมีแนวโน้มจะตัดหน้ารถยนต์คันอื่นเพื่อเลี้ยว หรือเร่งความเร็วผ่านทางม้าลายที่มีคนที่พยายามข้าม ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งที่คนขับเป็นผู้ชายและผู้หญิง

งานวิจัยอีกชิ้นก็บอกว่า คนรวยมีแนวโน้มที่จะ #โลภมาก กว่าคนจนด้วย โดยการทดลองนี้จะให้กลุ่มตัวอย่างระบุฐานะตนเองว่ารวยหรือจนก่อน แล้วนำขวดโหลที่บรรจุลูกอมไว้ และบอกให้กลุ่มตัวอย่างหยิบไปเท่าไหร่ก็ได้ โดยลูกอมที่เหลือจะนำไปบริจาคให้เด็ก ผลปรากฏว่า คนที่ระบุว่าตนเองว่ารวยจะหยิบลูกอมไปมากกว่าคนที่ระบุว่าตนเองจน

"เพื่อที่จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในสังคม สิ่งสำคัญคือต้องใช้ทุก ๆ โอกาสที่ผ่านเข้ามา" Paul Piff กล่าว

Kathleen Vohs ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Minnesota เธอเคยทำงานเป็นอาจารย์อาวุโส มีรายได้ 32,000 ดอลลาร์ต่อปี แต่เมื่อมาทำงานในโรงเรียนธุรกิจที่แคนาดาที่ได้รับรายได้สูงกว่าเดิม 5 เท่า ทำให้เธอไม่เคยขอให้เพื่อนไปส่งเธอที่สนามบินอีกเลย รวมถึงมีเงินจ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในการซื้อสินค้าส่วนตัว (personal Shopper) เรื่องนี้ทำให้เธอเกิดข้อสงสัยและเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการทดลองเพื่อหาข้อบ่งชี้ว่า การคิดแต่เรื่องเงินลดทอนความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้หรือไม่

Vohs ทำการทดลองโดยใช้วิธีปลูกฝังความคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินให้กลุ่มทดลองโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว และสังเกตปฏิกิริยาหลังจากนั้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม ในการทดลองครั้งหนึ่งเธอขอให้ผู้เข้าร่วมทดลองไปนั่งรอในห้องที่เตรียมไว้สำหรับการทดลองทีละคน ในห้องนี้จะมีโต๊ะตัวใหญ่หนึ่งตัวกลางห้อง บนโต๊ะก็จะมีแบงก์ของเกมเศรษฐีวางกระจัดกระจายเต็มไปหมด ซึ่งก็เหมือนกับให้ผู้เข้าร่วมการทดลองเห็นเงินและคิดถึงเรื่องเงินในหัว โดยไม่ได้บอกอะไรเลย

หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที เธอก็พาผู้เข้าร่วมการทดลองไปอีกห้องแล้วให้กรอกข้อมูลมากมาย ตรงนี้ก็เพื่อสร้างความสับสน เมื่อกรอกเสร็จก็บอกว่าจบการทดลองแล้ว (ผู้เข้าร่วมการทดลองก็อาจจะรู้สึกงงๆ ว่าทดลองไปเมื่อไหร่) แต่ขณะที่ผู้ร่วมทดลองจะออกจากห้อง จะมีเจ้าหน้าที่อีกคน (ที่ถูกเตรียมไว้โดย Vohs) แกล้งหอบของพะรุงพะรังเข้ามาชนกับผู้ร่วมทดลอง จนของในมือ ปากกา ดินสอ หล่นกระจายทั่วห้อง ผลที่ได้คือ ผู้ร่วมทดลอง (ที่ผ่านการปลูกฝังให้คิดถึงเรื่องเงินมาในตอนแรก) จะช่วยหยิบดินสอที่กระจายตามพื้นน้อยกว่ากลุ่มควบคุมถึง 15%

Vohs กล่าวว่า

“คนที่คิดถึงแต่เรื่องเงินไม่ใช่คนคิดร้ายอะไร เพียงแค่พวกเขาไม่ใส่ใจ และดินสอพวกนั้นไม่ใช่ปัญหาของพวกเขา”


แล้วทำไมฐานะดีจึงไม่ค่อยเห็นใจผู้อื่น

Nicole Stephens และ Hazel Markus นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยทดลองตั้งคำถามกับผู้ร่วมวิจัยที่เป็นนักดับเพลิงและนักศึกษา MBA ว่า จะรู้สึกอย่างไรถ้าเพื่อนซื้อรถรุ่นเดียวกันกับคุณ นักดับเพลิงตอบว่า “เยี่ยมมาก มันเป็นรถที่ดี” แต่คำตอบของนักศึกษา MBA ต่างออกไป พวกเขาบอกว่า “รู้สึกหงุดหงิดเล็กน้อย คนพวกนั้นทำลายความแตกต่างที่ฉันมี”

Stephens กล่าวว่า คนร่ำรวยมักให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกบุคคล เอกลักษณ์ที่แตกต่าง พวกเขาคิดว่าคนที่มีสถานะทางการเงินที่ต่ำต้อยกว่าในสังคมจะมีความเป็นเนื้อเดียวกัน พวกเขาจึงพยายามมองหาความแตกต่าง จุดนี้ทำให้นักโฆษณาทำการโปรโมตรถหรูด้วยการแสดงภาพรถใกล้ ๆ เน้นความแตกต่าง พุ่งทะยานบนทางด่วนด้วยความโดดเด่น และโดดเดี่ยว เพื่อให้กลุ่มลูกค้ารับรู้ถึงความมีเอกลักษณ์ แตกต่างและแสดงถึงความเป็นผู้นำ (อันเป็นผลมาจากการไม่อยากเป็นเนื้อเดียวกับคนที่ต่ำกว่า)

Paul Piff ให้ความเห็นว่า เมื่อมนุษย์เราพึ่งพาคนอื่นน้อยลง ก็ใส่ใจความรู้สึกของคนอื่นน้อยลง การไม่ต้องขึ้นตรงกับใครทำให้ไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงเห็นอกเห็นใจคนอื่นน้อยลงไปด้วย


Dacher Keltner ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Berkeley และ Michael W. Kraus ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่จากมหาวิทยาลัย Illinois พบว่า คนทั่วไปให้ความสำคัญกับคนรอบตัว เพราะพวกเขามีทรัพย์สินไม่มาก จึงเห็นคุณค่าทรัพย์สินอันน้อยนิดนั้น ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจคนที่มีฐานะใกล้เคียงกัน และมักยื่นมือไปช่วยเหลือเมื่อทำได้ 

เช่น คนบ้านติดกันจะช่วยดูบ้านหรือดูแลเด็กให้เมื่อเพื่อนบ้านต้องออกไปทำงานจนกระทั่งกลับมา แต่คนมีฐานะดีนั้นมีความสามารถในการจ้างคนอื่นมาช่วยเหลือ ชี้ให้เห็นว่าคนจนปรับตัวเข้าหากันและสร้างสัมพันธ์ระหว่างบุคคลได้ดี ต่างจากผู้มีเงินหรือมีอำนาจ จะมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้น้อยกว่า

แต่การไปวิพากษ์วิจารณ์คนรวยว่าเห็นแก่ตัวหรือชอบเอาเปรียบ อาจไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงนิสัยพวกเขา เพราะศาสตราจารย์ Kathleen Vohs ค้นพบว่า เมื่อคนรวยถูกโจมตีจะแสดงอาการ “ไม่สนใจ” เพราะพวกเขาเห็นว่ายังไงเรื่องเงินสำคัญกว่า และเมื่อมีคนไม่ชอบมากขึ้น พวกเขาก็จะนึกถึงแต่เงินมากขึ้นไปอีก

ตั้งแต่ช่วงปี 1970 เป็นต้นมา ความห่างระหว่างคนรวยและคนจนจึงเพิ่มมากขึ้น ความไม่เท่าเทียมขึ้นไปแตะจุดสูงสุดหลายต่อหลายครั้ง Daisy Grewal นักจิตวิทยาด้านสังคมจากมหาวิทยาลัย Yale กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอเมริกา มีความสัมพันธ์กับความมั่งคั่งและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยคนมั่งคั่งเหล่านั้นมักมีอิทธิพลทั้งระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับผู้นำประเทศ และเมื่อผู้มีอำนาจเป็นคนตัดสินใจ ผู้มีรายได้น้อยย่อมมีโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลือน้อยลงจากการที่ผู้ทรงอิทธิพลเหล่านั้นมองเห็นเรื่องของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญกว่าเรื่องของคนที่มีฐานะและอำนาจเพียงน้อยนิด

“ยิ่งสังคมมีการแบ่งขั้วในมิติของความมั่งคั่งมากเพียงใด คนรวยก็จะยิ่งไม่อยากเจียดเงินเพื่อความต้องการของส่วนรวม” Joseph E. Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอเมริกัน เขียนไว้ในหนังสือ ‘ราคาของความเหลื่อมล้ำ’

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา ก็ไม่สามารถเหมารวมว่าคนรวยมีนิสัยเห็นแก่ตัว โกงหรือหลอกลวงได้ทั้งหมด เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งการเลี้ยงดู นิสัย ความเป็นอยู่ เชื้อชาติ ศาสนา เพื่อนฝูง ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นตัวกำหนดการกระทำหรือการตัดสินใจของคน ๆ นั้นด้วยเช่นกัน

อ้างอิง

The Newyork Times

New York Magazine

PNAS

Scientific America