กลับมาแล้วสำหรับบทความสุดท้ายในซีรีส์ “พอร์ต 7 สี มณี 7 แสง” โมเดลการลงทุนสำหรับนักลงทุนทั่วไป ที่อยากได้ไอเดียในการจัดพอร์ตลงทุน ให้เหมาะสมกับเป้าหมาย และสไตล์การลงทุนที่ตัวเองต้องการ

หลังจากที่เราดองกลยุทธ์รูปแบบสุดท้ายไว้นาน และได้ปล่อยบทความอธิบายโมเดล 4 แบบแรกไปแล้ว (ตามอ่านได้ที่นี่เลย >> ตอนที่ 1 และ ตอนที่ 2) ในครั้งนี้เราขอพูดถึงโมเดล 3 รูปแบบที่เหลือ ที่มีเป้าหมายหลักคือ ลงทุนเพื่อให้เงินเติบโต!!! NAV ที่เพิ่มขึ้นคือคำตอบสุดท้าย เราจะลงทุนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ผลตอบแทนมันโตทบต้นทบดอกให้รวยกันไปข้างนึง !!!

คนที่จะจัดพอร์ตฯตามแบบโมเดลสองตัวนี้ ต้องคนที่รับความเสี่ยงได้มาก และมากมากแล้ว ฮ่าๆ เพราะชื่อของมันก็บอกอยู่ว่า Growth เงินลงทุนต้องเติบโตนะ อีกอันก็ Aggressive Growth เติบโตแบบดุดันมาก แต่ละอันมีแนวความคิดยังไงบ้าง ไปดูพร้อมกันเลย

GROWTH MODEL

แนวความคิดของ Asset Model

GROWTH MODEL เป็นโมเดลมุ่งเน้นการเติบโตของเงินลงทุนในแบบพอดี ไม่หวือหวา เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว เน้นทำผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุนเติบโตอย่างต่อเนื่อง เงินปันผลมีก็ดีไม่มีก็ได้ โนสนโนแคร์ จุดจุดนี้ขอให้ NAV ของกองทุน หรือราคาหุ้นเพิ่มอย่างเดียวพอ

ซึ่งความเสี่ยงในการเติบโตของพอร์ตแบบนี้ ส่วนมากจะมาจากสินทรัพย์ที่เป็นหุ้นสามัญ นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนในหุ้นสามัญรายตัวด้วยตัวเอง หรือเลือกจัดพอร์ตโดยใช้กองทุนรวมในหุ้น ที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active มีจุดมุ่งหมายต้องเอาชนะตลาดให้ได้!!

การจัดสรรสินทรัพย์ของ Asset Model

สัดส่วน 65% ของพอร์ต ผมเลือกลงทุนในหุ้นสามัญหรือกองทุนรวมในหุ้นที่มีความเสี่ยงระดับ 6 ใน RISK SPECTRUM ปกติแล้วรูปแบบการลงทุนในหุ้นเมื่อแบ่งตามความเสี่ยงและโอกาสจะมีอยู่สองแบบ คือ แบบตั้งรับ หรือ Passive มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนเทียบเท่าตลาด โดยเลือกลงทุนในกองทุนรวมดัชนี หรือ เลือกหุ้นที่อยู่ใน SET50 เพื่อเพลย์เซฟไว้ก่อน

กับอีกแบบคือการลงทุนเชิงรุก หรือ Active ที่ต้องการเอาชนะตลาด โดยมีนโยบายลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีโมเมนตั้ม เรียกง่ายๆ ว่าอุตสาหกรรมไหนหรือหุ้นชนิดไหนกำลังมาแรง เราก็เลือกลงทุนตามนั้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทน แต่ความเสี่ยงก็จะสูงกว่าการลงทุนในหุ้นแบบตั้งรับ

ซึ่ง 65% นั้นประกอบด้วย 45% ที่ลงทุนในหุ้นสามัญแบบทั่วไป เน้นหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม SET100 หรือ SET50 เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินงานของหุ้น อีก 20% ลงทุนในหุ้นขนาดกลางเล็กที่มีโอกาสในการเติบโตระยะยาวสูง ถ้าเลือกหุ้นไม่เป็นก็เลือกใช้กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนใน Mid-Small cap แทนก็ได้

สัดส่วนการลงทุนจะแบ่งตามนี้...

- เงินฝากออมทรัพย์ / กองทุนรวมตลาดเงิน สัดส่วน 5%
- หุ้นกู้ภาคเอกชน / กองทุนรวมตราสารหนี้ สัดส่วน 20%
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 10%
- หุ้นสามัญรายตัวที่อยู่ใน SET100 / กองทุนรวมในหุ้น (เน้นนโยบาย Active) สัดส่วน 45%
- หุ้นสามัญขนาดกลางเล็ก / กองทุนรวมในหุ้น นโยบาย Mid small capitalize สัดส่วน 20%

ที่ยังใส่สินทรัพย์อื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนเป็น Fixed Income มาให้อีก 30% ก็สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่มั่นใจกับการลงทุนในหุ้น แล้วอยากได้ผลตอบแทนที่มั่นคง ไม่หวือหวามาก แต่ถ้ารับได้แล้วก็สามารถเปลี่ยนเป็นหุ้นเลยก็ได้ แต่แนะนำว่าให้เก็บเงินสดไว้บ้างเพื่อรอโอกาสในการลงทุนดีๆ ที่อาจจะเข้ามาในอนาคต

เป้าหมายและผลตอบแทนของ Asset Model

เมื่อคำนวณผลตอบแทนที่คาดหวังของโมเดลนี้ออกมา Base Case ที่น่าจะได้ก็คือ 9.74% ต่อปีโดยเฉลี่ย ส่วนกรอบความผันผวนจะอยู่ระหว่าง -7.32% ถึง 26.80% ต่อปี มีโอกาสขาดทุนอยู่มาก และยังมีความผันผวนที่สูงมากด้วย เพราะเงินลงทุนอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงอย่างกองทุนรวมในหุ้น แบบ Active รวมกันเป็นสัดส่วน 65% ของพอร์ตฯ

อยากให้เพื่อนๆ เข้าใจแนวความคิดว่า โมเดลนี้เราออกแบบมาเพื่อ การเติบโตของเงินลงทุน เป็นหลัก โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงก็มีมาก แต่โอกาสการขาดทุนก็เยอะอยู่เหมือนกัน ถ้าไม่มั่นใจในฝีมือตัวเองให้ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นไปก่อน เพราะในระยะยาวหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ทำผลตอบแทนแบบ Capital Gain และได้ผลตอบแทนมากกว่าสินทรัพย์ชนิดอื่นด้วย

แล้วเมื่อไหร่ที่พร้อมก็สามารถลงทุนในหุ้นรายตัวด้วยฝีมือของตัวเอง แล้วคุณจะรู้เลยว่าโอกาสที่จะทำผลตอบแทนได้มากกว่า 20% ต่อปีมันมีจริงๆ!!!

AGGRESSIVE GROWTH MODEL

แนวความคิดของ Asset Model

ถ้าโมเดลการเติบโตแบบแรก ยังไม่สะใจพอ ลองมาดูโมเดลที่โหดที่สุด เสี่ยงที่สุดในซีรีส์พอร์ต 7 สีฯ กับ AGGRESSIVE GROWTH เติบโตแบบรวดเร็วก้าวร้าว โนสนโนแคร์ว่าความเสี่ยงจะมากแค่ไหน แต่ถ้าทำให้พอร์ตเติบโตอย่างรวดเร็วมากเท่าไหร่ยิ่งดี

ด้วยความเสี่ยงที่มากที่สุดโมเดลนี้จึงสามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงที่สุดได้ เพราะเน้นการลงทุนไปที่หุ้นรายตัว โดยกระจายการลงทุนในหุ้นขนาดกลางเล็กมากกว่าโมเดลอื่นๆ เพราะหุ้นประเภทนี้มี Space ทางธุรกิจให้เติบโตได้ในอนาคต

ซึ่งการจัดพอร์ตโดยเลือกหุ้นรายตัวเข้าพอร์ต ผมแนะนำสำหรับคนที่มีความรู้ความสามารถ กับประสบการณ์ลงทุนในตลาดหุ้นมาแล้วระยะหนึ่งจะดีกว่า เพราะความเสี่ยงของการจัดพอร์ตแบบนี้สูงมากๆ ความรู้และประสบการณ์จะช่วยให้นักลงทุนมองออกว่าควรลงทุนในหุ้นแบบไหน ถึงจะเหมาะกับตัวเอง

แต่ต้องเลือกหุ้นให้ถูกตัวนะ ไม่งั้นอาจจะเห็นดอยอยู่ลางๆ..ก็..เป็น..ได้

การจัดสรรสินทรัพย์ของ Asset Model

ความเสี่ยงและความผันผวนของโมเดลนี้สูงที่สุดแล้ว เพราะเน้นการลงทุนในหุ้นรายตัวที่เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ให้สัดส่วนถึง 75% แบ่งออกเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่ถูกจัดอันดับใน SET100 สัดส่วน 40%และหุ้นขนาดกลางเล็กที่มีความผันผวน 35%

สำหรับผมแล้วหุ้นขนาดกลางเล็กมีข้อดีตรงที่การขาดทุนของมันมีข้อจำกัดอยู่ที่ 100% แต่โอกาสในการเติบโตนั้นมีไม่จำกัด ตราบใดที่ยังรักษาความสามารถในการเติบโตได้อยู่ เราสามารถเห็นหุ้นขนาดเล็กทำผลตอบแทนจากส่วนต่าง Capital Gain ได้สูงถึง 100% 500% 1,000% หรือมากกว่านั้น

และโมเดลนี้จะถ่วงดุลความเสี่ยงด้วยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้แบบ Fixed income ผมเน้นไปที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 20% และถือเงินสดเพียง 5%

Strategic Asset Allocation (SAA) ของโมเดลนี้ ซึ่งประกอบไปด้วย

- เงินฝากออมทรัพย์ / กองทุนรวมตลาดเงิน สัดส่วน 5%
- หุ้นกู้ภาคเอกชน / กองทุนรวมตราสารหนี้ สัดส่วน 5%
- กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ สัดส่วน 10%
- หุ้นที่อยู่ใน SET100 ที่มีความสามารถในการเติบโต สัดส่วน 40%
- หุ้นขนาดกลางเล็กที่สามารถเติบโตได้อย่างสม่ำเสมอ 35%

เป้าหมายและผลตอบแทนของ Asset Model

ผลตอบแทนที่คาดหวัง Base case ของโมเดลนี้ มีความเป็นไปได้ที่ 10.88% ต่อปีโดยเฉลี่ย ส่วนกรอบความผันผวนจะอยู่ระหว่าง -10.49% ถึง 32.24% ต่อปี ซึ่งขาดทุนได้อย่างมาก 10% หรืออาจจะมากกว่านี้หากลงทุนในหุ้นเน่าไม่มีอนาคต หึหึ

กรอบความผันผวนนั้นสูงมาก เพราะความผันผวนของหุ้นขนาดกลางเล็กมีสูง สาเหตุมาจากความคาดหวังของตลาดที่จะให้หุ้นขนาดกลางเล็กเติบโต เมื่อกำไรของบริษัทออกมาดี ตลาดจะแห่แหนเข้ามาให้ความสนใจกับหุ้นขนาดเล็กที่มีจำนวนหุ้นน้อย การเพิ่มขึ้นของราคาจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วงนั้น

ขณะเดียวกันโอกาสขาดทุนของมันก็มีมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่บริษัททำผลประกอบการออกมาน่าผิดหวัง ราคาหุ้นของมันก็จะร่วงหล่นอย่างรุนแรง เพราะคนในตลาดเทขายกันนั่นเอง โอกาสที่โมเดลนี้จะทำผลตอบแทนสูงสุดถึง 32.24% จึงมีความเป็นไปได้สูง

และมีโอกาสที่พอร์ตการลงทุนจะขาดทุนมากกว่า 10% ก็มีเยอะเหมือนกัน

ดังนั้นถ้าคิดจะลงทุนในโมเดล Aggressive Growth นักลงทุนต้องเข้าใจความเสี่ยงของหุ้นขนาดกลางเล็ก และเข้าใจโอกาสในการเติบโตของเงินลงทุน ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรับความเสี่ยงจากการขาดทุนได้!! เพราะเป้าหมายการลงทุนในรูปแบบนี้คือ คาดหวังการเติบโตของเงินลงทุน

ใครที่รับความเสี่ยงได้น้อยก็อย่าโลภ เลือกโมเดลที่ความเสี่ยงต่ำ รูปแบบผลตอบแทนเหมาะสมกับตัวเองน่าจะดีกว่า อย่างเช่นโมเดลพิเศษที่เป็นลูกผสมของ INCOME MODEL และ GROWTH MODEL ที่ยังไม่ได้กล่าวถึง นั่นคือ “INCOME & GROWTH MODEL”

INCOME & GROWTH MODEL

ถ้าจะพูดถึงโมเดลนี้อย่างรวบรัดมันก็คือ การผสมผสานแนวความคิดของ Income Model และ Growth Model (อ่านแนวความคิดของ Income Model ที่นี่) เป็นการลงทุนที่หวังผลตอบแทนแบบ Fixed Income และให้เงินลงทุนเติบโตด้วย

ความเสี่ยงของมันจะมีน้อยกว่าพอร์ตฯเติบโตแบบปกติ เพราะสัดส่วนการลงทุนจะเน้นหนักไปที่ Fixed Income Asset อย่างตราสารหนี้ และกองทุนอสังหาริมทรัพย์มากถึง 60% และลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นที่มีโอกาสเติบโต ในสัดส่วน 35%

กรอบผลตอบแทนที่คาดหวังจากโมเดลนี้อยู่ระหว่าง -3.19% ถึง 18.51% ต่อปี ส่วน Base Case อยู่ที่ 7.66% ต่อปีโดยเฉลี่ย ไม่มากมายเท่าพอร์ตเติบโตแบบอื่นๆ แต่ก็พอเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่มองหาผลตอบแทนแบบ Hybrid ได้

ครบหมดแล้วทุกพอร์ต อธิบายแนวความคิดไปครบแล้ว เพื่อนๆ คนไหนสนใจก็สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองได้นะครับ ส่วนสินทรัพย์รายตัวหรือ Stock Selection ต้องทำการบ้านกันให้ดี เผื่อจะมีโอกาสทำผลตอบแทนได้สูงกว่าที่วางแผนเอาไว้

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับพอร์ต 7 สี แต่ไม่อยากรอบทความสามารถหลังไมค์มาคุยกันได้ที่แฟนเพจผมเลยนะครับ ขอบคุณมากๆเลยที่ติดตามกันมาจนถึงตอนสุดท้ายของซีรีส์นี้ อิอิ