"ซื้อของออนไลน์" ในยุคนี้เป็นสิ่งทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี การขายออนไลน์ยิ่งบูม คนซื้อถ้าไม่ตรวจสอบ ไม่ระมัดระวัง ยิ่งถูกหลอกง่าย หลายคนโดนหลอกขายสินค้าแบรนด์เนมทางโซเชียลมีเดีย โดยผู้ขายอ้างว่าตัวเองเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจมาขายเอง

บ้างก็เป็นเพื่อนของเพื่อนแนะนำกันเอง จึงเกิดความเชื่อใจ ไว้วางใจมากขึ้น แต่พอโอนเงินให้ก็ติดต่อไม่ได้ คนขายอยู่ดีๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ ทักเฟสบุคไปก็ถูกบล็อค แถมเปลี่ยนชื่อเฟสหนีหน้าหายไปเสียอย่างนั้น

บางคนก็อ้างหน้าตาเฉยว่าสินค้าที่ขายนั้นเป็นของแท้ 100% หมายถึงเป็นสินค้านั้นแท้ๆ เป็นรองเท้าแท้ๆ 100% (ไม่ได้บอกเสียหน่อยว่าเป็นแบรนด์แท้ 100%)

เดี๋ยวนี้ ใครๆ ก็ชอบ "ซื้อของออนไลน์" กันนะครับ เพราะมันสะดวก หาซื้อง่าย แค่ใช้ปลายนิ้วคลิกแป้บเดียว โอนเงิน ก็มีคนนำพัสดุมาเคาะประตูรอส่งมอบให้คุณ ใช้เวลาไม่นาน ดังนั้น การชอปปิงก็ง่ายขึ้น การขายก็ง่ายที่จะนำเสนอและเชื้อเชิญให้คนมาซื้อสินค้าตนมากขึ้น

แต่ความสะดวกสบายเหล่านี้ หลายคนจ่ายแพงกว่าที่สั่งซื้อ นั่นก็คือได้สินค้าปลอมบ้าง ได้สิ่งของที่ไม่ตรงกับคุณภาพตามที่คาดหวัง เพราะเราไม่ได้ไปซื้อเองที่หน้าร้าน เราไม่ได้สัมผัสกับสินค้าโดยตรง ผู้ขายหลายรายขายความซื่อสัตย์ของตัวเองทิ้งด้วยสินค้าไม่กี่ชิ้น ด้วยการปิดเพจเฟสบุคและไลน์และก็เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ

6 วิธีป้องกันการโดนหลอกเวลาซื้อของออนไลน์กัน 

นายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แนะวิธีป้องกันการโดนหลอกจากการซื้อสินค้าผ่านสื่อออนไลน์

1. ตรวจสอบเว็บไซต์ของร้านค้าว่ามีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงพาณิชย์หรือไม่

2. เลือกร้านค้าที่มีผลตอบรับที่ดี

3. เลือกซื้อสินค้าจากร้านที่มีเว็บไซต์การขายสินค้ามาแล้วอย่างน้อย 1 ปี

4. ดูให้มั่นใจว่ามีการตอบการซื้อขายสินค้าอย่างสม่ำเสมอ ปลอดภัย ไว้ใจได้

5. ดูเงื่อนไขในการรับประกันสินค้า ระยะเวลาในการรับประกัน ซื้อขายเป็นลายลักษณ์อักษร

6. ไม่ควรเป็นสินค้าผิดกฎหมาย และราคาสูงเกินไป

กรณีที่หลอกขายสินค้าแบรนด์เนมและดันหลอกอีกว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมาเอง แต่เอาเข้าจริงเมื่อถูกตรวจสอบกลับไม่ใช่ แล้วยังไงต่อ ?

ผู้ขายที่ทำให้ผู้ซื้อเสียหายจะถูกดำเนินคดีดังนี้

(1) ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา

(2) ข้อหานำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

(3) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าจะปลอมทั้งหมดหรือบางส่วน แต่เป็นเท็จก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกแน่แล้วต้องทำอย่างไร ?

(1) เบื้องต้น ผู้เสียหายสามารถโทรแจ้งสายด่วน 1212 รับแจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ขัดต่อความมั่นคงวัฒนธรรม ศีลธรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้รับเรื่องต่อ

(2) แจ้งความร้องทุกข์ได้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคารบี ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. 10210 หมายเลขติดต่อ 02-142 2555 ถึง 60

(2.1) หากไม่สะดวกเดินทางไปยังกองบังคับปราบปราม หลังท่านแจ้งความกับสถานีตำรวจแล้วสามารถแจ้งข้อมูลออนไลน์ทางเว็บไซต์กองปราบปรามได้ดังนี้

ช่องทางแรก แจ้งเบาะแส (https://tcsd.go.th/แจ้งเบาะแส/)

ช่องทางที่สอง แจ้งเหตุ (https://tcsd.go.th/แจ้งเหตุ/)

ที่มา

ไทยรัฐ
(1) https://bit.ly/2VSbjvF
(2) https://bit.ly/2SVgoS3
โพสต์ทูเดย์ https://bit.ly/2u0LNIt
TCSD https://tcsd.go.th

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY
Line@ : @aommoney
Website : www.aomMONEY.com
Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH