เนื่องมาจากงาน aomMONEY Investment Conference 2020 ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และได้เสียงตอบรับอย่างล้นหลาม

วันนี้ aomMONEY ขอนำบทสัมภาษณ์ จาก ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร หัวเรือใหญ่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ SET ในประเด็นหัวข้อ “ตลาดทุนไทยจะเป็นอย่างไรในยุค New Normal?”

“COVID-19 ไม่ใช่เรื่องใหม่” วิกฤตเศรษฐกิจมักเกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร : จริงๆ แล้ว วิกฤตเศรษฐกิจ COVID-19 ครั้งนี้เป็นวิกฤตที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่จริงๆ แล้ววิกฤตเศรษฐกิจในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี นับแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2008 - 2009 จนมาปี 2020 เกิดวิกฤต COVID – 19 

ในปี 1997 – 1998 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งส่งผลกระทบต่อชาติในเอเชีย ซึ่งไทยเองในขณะนั้น GDP - 7.6% แต่ภาพรวมทั้งโลก GDP ยัง +2.5%  โดยปัจจัยที่ทำให้ฟื้นตัวกลับมา คือ การลดค่าเงินบาทและกระตุ้นการส่งออก  

ต่อมาในปี 2008 – 2009 เกิดวิกฤตวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ครั้งนี้ส่งผลกระทบจากฝั่งยุโรปมากกว่า ไทยเลยไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าไหร่เมื่อเทียบจากวิกฤตก่อนหน้านี้ ประกอบกับจีนซึ่งถือเป็นชาติเอเชียที่มีการเติบโตที่ดี โดยในขณะนั้น GDP ของไทย - 0.7% ขณะที่ภาพรวมทั้งโลก GDP - 1.7% โดยสิ่งที่ทำให้โลกฟื้น คือ มาตราการกระตุ้นทั่วโลก

สำหรับ COVID – 19 ในปี 2020 นี้เป็นวิกฤตที่ทั้งโลกได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการคาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะอยู่ที่ -5.5% โดยทั่วโลกใช้วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการช่วยเหลือและเยียวยาทางด้านการเงินการคลังอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ในไทยการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาและเยียวยา แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วิกฤตนี้หมดความกังวล คือ “วัคซีน” เพราะวิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้น ไม่ใช่เพราะเศรษฐกิจ แม้ว่าจะเป็นอีกวิกฤตที่เกิดขึ้นทุกๆ 10 ปี แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา

“วิกฤตครั้งนี้เกิดจากความทับซ้อนในหลายปัจจัย”

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร : วิกฤตครั้งนี้หลายคนเรียกวิกฤต COVID – 19 แต่จริงๆ แล้ว นับตั้งแต่ต้นปี 2020 ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เกิดความทับซ้อนในหลายปัจจัย หากจำกันได้ตลาดทุนของเราเปิดที่ 1,500 จุด จนกระทั่ง

  • เดือนมกราคม เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างทางสหรัฐฯ กับอิหร่าน 
  • เดือนกุมภาพันธ์ เกิดการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ไปยังทั่วโลก 
  • เดือนมีนาคม เกิดสงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุฯ กับรัสเซีย 
  • เดือนเมษายน เจอกับภัยแล้งที่เรื้อรัง

ส่วนล่าสุดกลับมามีประเด็นอีกครั้ง สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีหลากหลายปัญหาถาโถมเข้ามา

“มาตรการการเงินการคลัง คือ ปัจจัยที่สำคัญในการประคองวิกฤตให้ดีขึ้น”

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร : สำหรับปัจจัยบวกที่สำคัญในการประคองวิกฤตนี้ให้บวก คือ มาตรการการเงินการคลังจากแต่ละประเทศที่เยอะ โดยญี่ปุ่นเองกระตุ้นสูงถึง 21% จาก GDP ส่วนของไทยเองอยู่ที่ 10% เช่นเดียวกับสหรัฐ ทุกประเทศร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งเงื่อนไขสำคัญ คือ “การมีวัคซีน”

“New Normal” ในมุมของเศรษฐกิจ คือ “3 Lows , 3 Highs”

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร : “New Normal” ในมุมของเศรษฐกิจ อันแรกคือ “3 Lows , 3 Highs” โดยในมุม Low หรือ ต่ำลง คือ “ภาวะเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และดอกเบี้ย” ขณะที่ Highs หรือ สูงขึ้น คือ “การว่างงาน หนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะ”

โครงการที่เชื่อมโยงกับภาครัฐ อะไรที่เกี่ยวกับภาครัฐฟื้นตัวได้เร็วขึ้น จากนี้ในความปกติใหม่จะมีการใช้ Unconventional policy มากขึ้น เช่น ร้านอาหารที่จากที่นั่งได้ 20 - 30 คนภายในร้านหรือเพียงแค่โต๊ะละคน ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้กับธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี สุขภาพ การเกิดขึ้นของ De - globalization รวมทั้งการมาของ More digitization

ตลาดทุนไทยจะเป็นอย่างไรในยุค New Normal?

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร : ในส่วนของตลาดทุน จากปัญหาดังกล่าวทำให้กราฟอัตราผลตอบแทนดัชนีหลักทรัพย์อาเซียนตกลงไปค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่ไทย แต่รวมไปทั่วโลก โดยแต่ละประเทศเทศมีการจัดการปัญหาที่มาจากปัจจัยภายนอกที่แตกต่างกันไป ประเทศไทยเองก็มีการล็อคดาวน์ โดยฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ 

หลายสาขาธุรกิจได้รับอานิสงส์ที่ดีจาก COVID อย่าดูแค่ภาพรวมเพียงอย่างเดียว เราต้องดูที่ภาพย่อยด้วย แม้สภาพัฒน์ฯ จะประกาศออกมาว่าไตรมาสที่ 1 GDP ไทย -1.8% โดยทั้งปีคาดว่า -5.5% ซึ่งในไตรมาสที่ 2 -4 จะลดลงตามลำดับ เพราะมีผลกระทบมาจากไตรมาสที่ 1 

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมองลงมาในหลาย Sector ไม่ได้กระทบทุก Sector ที่กระทบอย่างหนัก คือ ธุรกิจโรงแรม การท่องเที่ยว -20% ก่อสร้าง -10% อย่างไรก็ดีในส่วนของกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ากลับโต เนื่องจาก WFH รวมทั้งธุรกิจการค้าการขาย ค้าปลีกเยอะขึ้น เรื่องของ ICT การใช้ข้อมูล เครื่องมือสื่อสาร ขยายตัวได้ดี

“ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ”

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร : หากพูดในเรื่องของการปรับตัว หลายธุรกิจเริ่มดำเนินการ อาทิ การเน้นสุขลักษณะเป็นจุดขายและใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ในส่วนของประเทศเอง มีตลาดหลักทรัพย์ถือเป็น “แหล่งระดมทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ” เพื่อให้บริษัทฯ ใช้เงินทุนตรงนี้ไปฟื้นฟู มีเรื่องระดมทุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มทุนผ่านหุ้นเป็นสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นต่อจากนี้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ตลาดทุนพร้อมเป็นแหล่งระดมทุน เป็นแหล่งการออมระยะยาวในอนาคตรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทุกวิกฤตมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ฉะนั้น ติดตาม อย่าตื่นตระหนก และมองโอกาสในวิกฤต ติดตามข้อมูลให้ดี

และนี่คือบทความสรุปในหัวข้อ “ตลาดทุนไทยจะเป็นอย่างไรในยุค New Normal” จาก ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร หัวเรือใหญ่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ SET ที่ทางทีมงาน aomMONEY สรุปมาให้เพื่อนๆ อ่านกัน ส่วนใครที่อยากชมการสัมภาษณ์เวอร์ชั่นวีดีโอ คลิกดูได้เลยที่ด้านล่าง 

ขอบคุณครับ

บ.ก.aomMONEY

https://youtube.com/watch?v=QVe5nLD4FgI%3Fwmode%3Dopaque

“ตลาดทุนไทยจะเป็นอย่างไรในยุค New Normal” 

จาก ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร หัวเรือใหญ่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ SET

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/