ในทางการเงินแล้ว เวลาเราวางแผน และลงมือทำตามแผนเรื่องอะไรก็ตาม เช่น แผนการลงทุน เมื่อระยะเวลาผ่านไป สิ่งที่เราควรทำก็คือ เราควรมีการ “ทบทวนแผน” เพื่อตรวจสอบดูว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราได้กำไร/ขาดทุนเท่าไหร่ คิดเป็นผลตอบแทนเท่าไหร่ ผลการลงมือทำของเราเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่ และเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานแล้วถือว่าเราทำได้ดีกว่าหรือแย่กว่าแค่ไหน เพื่อให้เราทราบสถานการณ์และอาจพิจารณาปรับเปลี่ยนแผนตามความเหมาะสม เพื่อให้มีโอกาสบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้สูงขึ้น

เช่นเดียวกัน ในเรื่องของประกันเอง เราก็ควรจะต้อง “ทบทวนกรมธรรม์” ที่เราทำไว้ เพื่อตรวจสอบดูว่า ปัจจุบันความคุ้มครองหรือผลตอบแทนต่างๆที่เรามีอยู่ สอดคล้องกับความเสี่ยงในชีวิต ณ ปัจจุบันของเรา หรือเป้าหมายการเงินที่เราต้องการหรือไม่ เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไป ความเสี่ยงในชีวิตเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ในแต่ละช่วงชีวิต ซึ่งอาจจะแตกต่างจากตอนที่เราทำเริ่มทำประกันในแต่ละกรมธรรม์ เช่น มีหนี้สินเพิ่มขึ้นหรือลดลง  เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม หากทำมากเกินไปก็อาจจะพิจารณาหยุดจ่ายเบี้ยบางกรมธรรม์เพื่อลดภาระ หรือหากทำน้อยเกินไป ก็จะได้พิจารณาทำเพิ่มในส่วนที่ขาดได้

ซึ่งแนวทางที่ผมจะขอแนะนำในการทบทวนกรมธรรม์ มีอยู่ 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. สรุปผลประโยชน์กรมธรรม์

การสรุปผลประโยชน์กรมธรรม์ คือการรวบรวมความคุ้มครองและผลตอบแทน รวมถึงเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายทั้งหมดของกรมธรรม์ทุกฉบับที่เรามีอยู่ เพื่อสรุปให้เราทราบว่า ปัจจุบันนี้ เรามีความคุ้มครองในแต่ละเรื่องเท่าไหร่ เราเบิกอะไรได้บ้าง เราจะได้เงินคืนปีไหนเท่าไหร่บ้าง และเราต้องจ่ายเบี้ยประกันทั้งหมดเท่าไหร่ ต้องจ่ายไปอีกกี่ปี เพื่อให้เราสามารถเข้าใจสถานะปัจจุบันว่าเราจะได้ผลประโยชน์จากประกันที่เราทำอยู่เท่าไหร่ และเราต้องรับภาระในการจ่ายเบี้ยประกันทั้งหมดเป็นจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจต่อไปได้ ว่าเราควรจะปรับเปลี่ยนหรือบริหารกรมธรรม์ที่มีอยู่ต่อไปอย่างไรดี ซึ่งข้อมูลที่ผมแนะนำให้เก็บรวมรวมจากแต่ละกรมธรรม์ ได้แก่

  • ชื่อแบบประกันและบริษัทประกัน
  • หมายเลขกรมธรรม์ (ใช้ในกรณีติดต่อหรือแจ้งกับตัวแทนหรือบริษัทประกัน)
  • วันที่กรมธรรม์ (วันที่เริ่มสัญญา) และวันสิ้นสุดสัญญา
  • ระยะเวลาจ่ายเบี้ย และระยะเวลาคุ้มครอง (กี่ปี หรือจนถึงอายุเท่าไหร่)
  • ทุนประกัน (จำนวนเงินเอาประกัน)
  • เบี้ยประกันต่อปี
  • ผลประโยชน์กรณีที่มีชีวิตและเสียชีวิต (ได้เท่าไหร่บ้าง ในแต่ละปีและเมื่อครบสัญญา)
  • รายละเอียดสัญญาเพิ่มเติม (ที่คุ้มครองสุขภาพและอุบัติเหตุ คุ้มครองกรณีใดบ้าง รายการใดบ้าง แต่ละรายการคุ้มครองเท่าไหร่ ค่าเบี้ยประกัน ณ อายุปัจจุบันเท่าไหร่)
  • มูลค่าเงินสดกรมธรรม์ ณ สิ้นปีปัจจุบันในแต่ละสิทธิ์ (เวนคืน, กรมธรรม์เงินสำเร็จ, ขยายเวลาคุ้มครอง)

ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้ เราสามารถดูได้จากหน้าสรุปข้อมูลกรมธรรม์ที่อยู่หน้าแรกๆของกรมธรรม์, หน้าข้อมูลผลประโยชน์กรมธรรม์ และหน้าตารางมูลค่าเงินสดกรมธรรม์ และเพื่อให้ง่ายต่อการบันทึกข้อมูล แนะนำให้บันทึกข้อมูลไว้ในไฟล์คอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมที่เป็นตารางบันทึก เช่น Microsoft Excel หรือ Google Sheet ก็จะสะดวกต่อการบันทึก สรุปรวบรวมและทบทวนข้อมูล มากกว่า

*Update ใครที่สร้างไฟล์เองไม่เป็น สามารถโหลดไฟล์ที่ผมทำไว้ให้ ไปใช้ได้ฟรี ที่นี่

http://www.mediafire.com/file/ec064ydh911ghqe/Policy_Review_V.1.xlsx/file

ส่วนวิธีการใช้งานไฟล์นี้ สามารถศึกษาได้จากคลิปวิดีโอนี้ https://youtu.be/t4yUkLYTJnA

2. ประเมินความเสี่ยงในปัจจุบันของตัวเอง

เราจะยังไม่สามารถบอกได้ว่า ความคุ้มครองและผลประโยชน์ทั้งหมดที่เรามีอยู่ มีมากหรือน้อยเกินไป จนกว่าเราจะทราบว่า เราควรจะมีความคุ้มครองเท่าไหร่ ถึงจะเหมาะสม ดังนั้น เราจึงต้องมาประเมิน หรือคำนวณความคุ้มครองที่เราควรมีอยู่คร่าวๆ หากเป็นเรื่องของประกันชีวิต ก็ควรมีความคุ้มครองชีวิตที่ครอบคลุมภาระหนี้สินทั้งหมด บวกภาระเลี้ยงดูผู้อยู่ในอุปการะทั้งหมด (จนกว่าพวกเขาจะดูแลตัวเองได้) หักมูลค่าเงินออมและเงินลงทุนที่มีทั้งหมด หากเป็นเรื่องของสุขภาพ ก็ต้องประเมินรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นหากต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลที่เราจะไปเข้ารักษาตัว เช่น ค่าห้อง (รวมค่าอาหารและค่าบริการ), ค่าผ่าตัดและค่ายา กรณีทั่วไปและกรณีร้ายแรง รวมถึงเงินก้อนสำหรับกรณีโรคร้ายแรงด้วย

3. เทียบความเสี่ยงกับความคุ้มครองที่มีอยู่

เมื่อเราทราบว่า เรามีความคุ้มครองทั้งหมดอยู่เท่าไหร่ และความคุ้มครองที่เราควรมีเป็นเท่าไหร่แล้ว ก็จับมาเทียบ (ลบ) กัน เราก็จะทราบได้ว่า ความคุ้มครองทั้งหมดที่เรามีอยู่นั้น มีเพียงพอ มากเกิน หรือน้อยกว่า ความคุ้มครองที่เราควรมี เพื่อที่เราจะได้ปรับลดหรือเพิ่มเติมความคุ้มครองให้เหมาะสม 

4. ปรับเปลี่ยนการทำประกันให้เหมาะสม

ถ้าหากความคุ้มครองทั้งหมดที่เรามีอยู่ มีมากกว่าความคุ้มครองที่เราควรมี แปลว่าเราอาจทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพมากเกินความจำเป็น ซึ่งเราอาจพิจารณาลดหรือเลิกความคุ้มครองบางอย่างลง โดยการหยุดจ่ายเบี้ยประกัน เพื่อนำค่าเบี้ยที่ประหยัดได้ ไปบริหารจัดการการเงินในเรื่องอื่นๆให้ได้ประโยชน์มากขึ้น สำหรับประกันชีวิต เมื่อเราหยุดจ่ายเบี้ย เราก็สามารถเลือกสิทธิ์ในการบริหารจัดการกรมธรรม์ได้ว่าจะใช้สิทธิ์ไหนถึงจะเหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด ระหว่างเวนคืนมูลค่าเงินสด, แปลงกรมธรรม์เป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ หรือแปลงกรมธรรม์เป็นกรมธรรม์แบบขยายเวลาความคุ้มครองแทน

ในทางตรงกันข้ามหากความคุ้มครองทั้งหมดที่เรามีอยู่ มีน้อยกว่าความคุ้มครองที่เราควรมี เราก็ควรพิจารณาทำประกันด้านนั้นๆเพิ่มเติม แต่เราก็ต้องพิจารณาเรื่องค่าเบี้ยประกันร่วมด้วย ว่าถ้าเราทำเพิ่มจะจ่ายเบี้ยประกันทั้งหมดมากเกินกำลังที่จะจ่ายไหวหรือไม่ หากไม่ไหว เราอาจจะต้องดูว่าสามารถปรับเปลี่ยนกรมธรรม์ที่มีอยู่ให้มีความคุ้มครองเพิ่มขึ้นได้ไหม เช่น ขอเพิ่มทุนประกันโดยจ่ายเบี้ยเท่าเดิม, ใช้สิทธิ์ขยายเวลาความคุ้มครองโดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยต่อ แล้วนำค่าเบี้ยที่ประหยัดได้ไปซื้อความคุ้มครองเพิ่ม หรือยกเลิกความคุ้มครองบางส่วนของกรมธรรม์หนึ่ง แล้วไปทำความคุ้มครองใหม่กับกรมธรรม์ใหม่ ที่ความคุ้มครองสูงกว่าเดิม แต่จ่ายค่าเบี้ยไม่ต่างจากเดิมมากนักหรือน้อยลงกว่าเดิม เป็นต้น

ทั้งหมดนั้น คือการทบทวนกรมธรรม์ที่เรามีอยู่ ว่า ณ ปัจจุบัน เรามีการทำประกันอย่างเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรทำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในการทบทวนกรธรรม์ของตัวเองอยู่เสมอ ตามภาระและความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป ทั้งหมด เพื่อช่วยทำให้เราทำประกันอย่างคุ้มค่า และบริหารจัดการเงินที่เรามีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้น ใครที่เคยทำประกันแล้วมีอยู่หลายกรมธรรม์ แต่ไม่เคยหยิบจับมารวบรวมสรุปผลประโยชน์ดูเลย ก็อย่าลืมลองมาสรุปและทบทวนกรมธรรม์ของตัวเองดูด้วยนะครับ