ในช่วงที่การลงทุนผันผวนอย่างต่อเนื่อง หลายคนเปิดดูพอร์ตตัวเองแล้วอาจจะรู้สึกหนาว ๆ ร้อน ๆ คล้ายว่าอากาศมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย แต่จริง ๆ แล้วมันคือความสงสัยว่า สิ่งที่เราเลือกไว้ก่อนหน้านี้ หรือแผนการลงทุนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ มันเป็นไปได้จริงหรือเปล่า หรือว่าเราจะเลือกกองทุนผิด ทำให้ชีวิตไม่เป็นไปตามที่คิดกันแน่

สำหรับใครที่เจอปัญหาแบบนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำ คือ ลองกลับมาตั้งหลักก่อนว่า สิ่งที่เราคิดนั้นมันเป็นไปตามคาดหรือเปล่า โดยเริ่มจากทีละขั้นตอนตามนี้ครับ

1. เช็คผลตอบแทนรวมของพอร์ตว่าเป็นไปตามเป้าหมายไหม

อันดับแรกที่สำคัญและทำให้ใจเราสงบลงได้ คือ การลงทุนของเรานั้นถูกออกแบบมาเพื่อรองรับเป้าหมายแบบไหนบ้าง เช่น เป้าหมายเพื่อการเกษียณ การลงทุนระยะยาวในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หรือเป้าหมายต่าง ๆ นานาที่เราวางแผนไว้ ถ้าหากมันยังตอบโจทย์เป้าหมายที่ได้ ผลตอบแทนโดยรวมสะสมที่ผ่านมาเป็นไปตามที่คิด แบบนี้อาจจะไม่ถือว่าเป็นปัญหา เพราะมันอาจจะเกิดขึ้นจากความผันผวนเพียงชั่วคราวก็ได้

แต่ถ้าหากดูแล้วมันไม่ตรงตามที่วางแผนไว้ หรือเป้าหมายมีการเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงความเสี่ยงที่รับได้เปลี่ยนตาม เมื่อเห็นตัวเลขผลตอบแทนรวมที่เกิดขึ้น แบบนี้คงต้องลงรายละเอียดเพิ่มเติมไปอีกสักหน่อยแล้วล่ะครับ

2. ลองเช็คลงรายละเอียดแต่ละกองทุนดูบ้าง

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อก็คือในพอร์ตการลงทุนตามเป้าหมายของเรา มีกองทุนอะไรที่เราลงทุนอยู่บ้าง และกองทุนแต่ละกองนั้นสามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมายหรือเปล่า ซึ่งกองทุนที่เรามีนั้น ควรมีคุณสมบัติดังนี้

  • ผลตอบแทนชนะตลาดหรือดัชนีชี้วัด (Benchmark) ที่ใช้ในการเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่กองทุนได้รับ เช่น ถ้าหากดัชนีชี้วัดทำผลตอบแทนไปได้ 5% แต่กองทุนเราสามารถทำผลตอบแทนได้มากกว่า หรือใกล้เคียงกับ 5% ก็น่าจะถือว่าพอไหว หรือ ถ้าหากดัชนีชี้วัดติดลบไป 10% แต่กองทุนของเราติดลบได้น้อยกว่า แบบนี้ก็ถือว่าทำได้ดี แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือ การเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดแบบนี้จะใช้กับกองทุนที่มีการบริหารแบบ Active (มีเป้าหมายการลงทุนที่ต้องการเอาชนะดัชนีชี้วัด) แต่ถ้าหากเป็นกองทุนที่มีการบริหารแบบ Passive (ลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้กับดัชนีชี้วัด) แบบนี้จะพิจารณาว่าผลตอบแทนของกองทุนเป็นไปตามดัชนีชี้วัดแทนครับ
  • ผลตอบแทนรวมชนะกองทุนในกลุ่มเดียวกัน หากเปรียบเทียบกับกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียวกันแล้ว กองทุนดังกล่าวทำผลตอบแทนได้เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ โดยดูจากข้อมูลเปรียบเทียบผลการดำเนินงานแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ กับกองทุนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะมีข้อมูลให้เปรียบเทียบทั้ง ผลตอบแทน (Return) และ ความผันผวน (Standard Deviation) และแบ่งเป็นแต่ละช่วง ให้เราได้เปรียบเทียบข้อมูลระยะยาว/ระยะสั้นได้ด้วย ซึ่งถ้าหากกองทุนของเราได้ค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่น้อย ก็แปลว่าผลตอบแทนของเราดีกว่า เมื่อเทียบกับกองทุนในกลุ่มเดียวกัน และถ้ายิ่งได้ค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์น้อยในด้านของความผันผวน ก็ยิ่งแสดงว่า ความเสี่ยงของกองทุนเราน้อยกว่าในกลุ่มคู่แข่งด้วย หรือสรุปง่าย ๆ ว่า ถ้าทั้งสองค่านี้อยู่ในกลุ่มต้น ๆ ก็แปลว่ากองทุนของเรานั้นใช้ได้ครับ

และนอกจากดูผลตอบแทน ความเสี่ยงแล้ว ก็อย่าลืมเช็คด้วยว่า กองทุนที่เราลงทุนนั้นมีนโยบายตามที่เราต้องการใช่หรือไม่ ทั้งสินทรัพย์ที่ลงทุน และนโยบายการลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเราเลือกกองทุนได้ถูกต้องนั่นเองครับ

แต่ถ้ามาถึงตรงนี้แล้วปรากฎว่ากองทุนที่เราเลือกไว้ไม่เป็นดั่งใจ เราจะทำยังไงดี ? มาต่อที่ขั้นตอนนี้เลยครับ

3. ถ้าไม่พอใจ ต้องหาที่ไป (ต่อ) ให้กับเงินลงทุนของเรา

โดยทางเลือกในการลงทุนนั้นมีหลากหลาย เราสามารถเลือกได้ตั้งแต่ สับเปลี่ยนหน่วยลงทุนไปที่กองทุนใหม่ ที่ตรงใจเราในเรื่องของนโยบายการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยง ซึ่งสำหรับกองทุนลดหย่อนภาษีที่เราเคยซื้อไว้ สามารถเลือกทางนี้ได้ทั้งหมดครับ ไม่ว่าจะเป็น LTF SSF และ RMF เราสามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ โดยการสับเปลี่ยนกองทุนนั้นจะไม่ถือเป็นการขาย และสามารถนับอายุต่อจากกองทุนเดิมได้อีกด้วยครับ

สำหรับบางคนอาจจะมองว่าให้โอกาสแก้ไขสักหน่อย เพราะการลงทุนต้องดูกันยาว ๆ แบบนี้ก็อาจจะหยุดซื้อกองทุนเก่าชั่วคราว แล้วไปซื้อกองทุนใหม่ เผื่อให้โอกาสกองทุนเก่าได้แก้ตัว ซึ่งถ้ากลับตัวได้ เราก็ยังไปต่อด้วยกันได้อยู่ เพราะเราก็ไม่รู้หรอกว่าในโลกของการลงทุน อะไรก็เกิดขึ้นได้

หรือสุดท้ายถ้าไม่ไหว และไม่ติดเงื่อนไขทางภาษี อาจจะเลือก ขายหน่วยลงทุนบางส่วนหรือทั้งหมดออกมา แล้วนำเงินไปลงทุนที่อื่น แต่ก็ต้องเช็คเป้าหมายดี ๆ ด้วยนะครับ ถ้าเป็นเงินลงทุนที่มีเป้าหมาย ก็ไม่ควรขายออกมาใช้จ่ายทันที เพราะเงินก้อนนี้ต้องเอาไปลงทุนต่อด้วยนะครับผม

ดังนั้น มาถึงตรงนี้ อาจจะต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เป้าหมายการลงทุนของเราเป็นแบบไหน และมีทางไหนที่จะช่วยเราสบายใจและลงทุนต่อได้โดยไม่รู้สึกกังวล เพราะคำตอบที่ดีที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ

สุดท้ายนี้ ถ้าหากใครสนใจลงทุนในกองทุนรวม โดยเฉพาะกลุ่ม RMF เพื่อวางแผนภาษี ทาง KTAM มีกองทุนดี ๆ มาแนะนำให้ในช่วงนี้ครับ ซึ่งถ้าหากใครสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บลจ. กรุงไทย โทร. 0-2686-6100 กด 9 ในเวลาทำการ ธนาคารกรุงไทยและผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

หรือจะดูรายละเอียดกองทุนอื่น ๆ ที่ KTAM แนะนำได้ที่นี่เลยครับ https://www.ktam.co.th/fund-quick-rank.aspx

สรุปสุดท้ายก่อนจากกันไป สำหรับการซื้อกองทุนรวมทุกกอง ไม่ใช่ซื้อแล้วจบเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องดูแล บริหาร จัดการและตรวจสอบผลการลงทุนให้ดีด้วยคร้าบ และผลการดำเนินงานในอดีต / ผลการเปรียบเทียบการดำเนินงานของกองทุนรวมในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต

คำเตือน : ปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญ: ความเสี่ยงทางตลาด (Market Risk)/ ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร (Business Risk)/ ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Risk)/ ความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน (Country Risk) เป็นต้น กองทุน KT-HEALTHC RMF และ กองทุน KT-WEQ RMF มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ กองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ในกรณีที่กองทุนไม่ได้มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุน หรือจะได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้/ ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

บทความนี้เป็น Advertorial