บางคนแค่ได้ยินคำว่าภาษี ก็เสียวสันหลังแล้วใช่ไหมล่ะครับ แต่เพื่อนๆ ทราบไหมว่าระบบสาธารณสุขของบ้านเราที่แข็งแกร่งจนฝ่าด่าน COVID-19 มาได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการซัพพอร์ตจากภาษีของทุกคนนั่นเอง

วันนี้ aomMONEY ขอหยิบบทสัมภาษณ์ที่สุด Exclusive จาก "ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร" ในประเด็นหัวข้อ ทิศทางมาตรการด้านภาษีหลัง COVID-19 จะดำเนินไปทางไหน ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไป อ่านได้ในบทความต่อไปนี้เลยครับ

นโยบายด้านภาษีช่วง COVID-19 ของกรมสรรพากรมีอะไรบ้าง?

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ : เราใช้มาตรการภาษีช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ ด้วยการทำให้เงินอยู่ในมือทุกคนได้มากขึ้น และนานขึ้น หลักๆ ก็จะมีการปรับนโยบายภาษีอย่างรวดเร็วเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ แบ่งเป็น 4 ข้อนะครับ

1. ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับรัฐบาล

เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากตอนแรกที่มีกำหนดในเดือนมีนาคม เราก็เลื่อนออกไปยังเดือนมิถุนายน แล้วพอเห็นว่า Covid-19 ยังมีแนวโน้มระบาดต่อเนื่อง ก็ขยับอีกครั้งเป็นเดือนสิงหาคม ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล จากตอนแรกที่เดือนพฤษภาคมจะต้องจ่ายแล้ว เราก็ขยับไปเดือนสิงหาคมเช่นกัน และยืดเวลาการนำส่ง VAT สำหรับผู้ประกอบการ

2. สำหรับผู้เสียภาษีที่ต้องได้รับเงินคืน เราก็จะเร่งคืนเงินให้เร็วที่สุด

ครั้งนี้เราคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสูดเป็นประวัติศาสตร์เลย มีคนยื่นแบบขอคืนภาษีประมาณ 2.9 ล้านคน เราคืนไปแล้วประมาณ 95% คิดเป็นเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท ทั้งบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจ และมนุษย์เงินเดือน รวมถึงตอนนี้ก็สั่งการให้คืนภาษีนิติบุคคลโดยเร็วที่สุดเช่นกัน

3. ลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดิม 3% เหลือ 1.5%

เพื่อให้เงินไปอยู่ในกระเป๋าของผู้รับมากขึ้น

4. ใช้ภาษีเพื่อจูงใจให้คนทำกิจกรรม

อย่างตอนนี้มีปัญหาเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ คนจ่ายหนี้ไม่ได้ ซึ่งสมัยก่อนทางสถาบันการเงิน หรือบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน จะต้องยื่นฟ้องศาลก่อน จึงจะปรับโครงสร้างหนี้ได้ แต่ตอนนี้เราไปขอความร่วมมือให้สถาบันฯ ดำเนินการได้เลย เพื่อจูงใจให้คนปรับโครงสร้างหนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ตอนนี้บริษัทต่างๆ มีการเลิกจ้างพนักงานเพื่อสภาพคล่องทางธุรกิจ เราก็ออกนโยบายเลยว่าธุรกิจไหนที่คงลูกจ้างหรือแรงงานไว้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว สามารถนำเงินค่าจ้างแรงงานมาหักภาษีได้ 3 เท่าเลย ซึ่งเราก็ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ ตอนนี้ขยายขอบเขตเป็นเดือนมีนาคมแล้ว ทั้งหมดนี้คือการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือเพื่อลดภาระจ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการ

"นโยบายด้านภาษี" หลังจากผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 จะเป็นอย่างไร?

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ : เราพยายามทำให้ตรงกลุ่มมากที่สุด และต้องเป็นนโยบายชั่วคราว เพราะทำในระยะยาวไม่ได้ เดี๋ยวจะกระทบโครงสร้างภาษี ในระยะต่อไปถ้าการระบาดหายแล้ว สิ่งที่มีแผนไว้ในช่วงฟื้นฟูคือการใช้ภาษีเปลี่ยนแรงจูงใจ พูดง่ายๆ คือสร้างดีมานด์ให้คนออกมาใช้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ผมคิดว่าหลังช่วง COVID-19 คนน่าจะไปเที่ยวต่างประเทศน้อยลง ดังนั้นการใช้จ่ายในประเทศจะสำคัญมาก เราก็เตรียมนโยบายภาษี เช่น แนวคิดการลดหย่อนภาษี 1 บาท มันสามารถสร้างให้คนใช้จ่ายได้มากกว่า 1 บาท เพื่อให้ธุรกิจกลับมาฟื้นฟูได้เร็ที่สุด

แนวทางต่อมา คือ ช่วงวิกฤต COVID-19 เราเห็นชัดเลยว่าคนหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น ตอนนี้เราจึงเน้นเรื่องนี้มาก มีโครงการทำภาษีง่ายๆ ที่บ้าน (Tax from Home) ปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ง่ายขึ้น เราพยายามใช้โอกาสนี้ให้คนมาทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Service) มากขึ้น โดยเชื่อว่ามันจะช่วยอำนวยความสะดวก และลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เช่น เรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่สมัยก่อนผู้รับเงินจะต้องเก็บหลักฐานเป็นกระดาษ แต่ตอนนี้เราจะให้ธนาคารที่เป็นตัวกลางตัดบัญชีให้เลย อันนี้ให้ผู้รับเงิน อันนี้ให้กรมสรรพากร มันก็จะง่ายขึ้น 

หรืออย่างใบกำกับภาษี ตอนนี้เราขอความร่วมมือกับธนาคารหลายแห่งให้ลดค่าธรรมเนียมสำหรับคนที่ทำธุรกรรม E-Service และอีกแผนหนึ่งคือให้คนหันมาทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ อนาคตอาจจะเอาใบนี้ไปขอสินเชื่อได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินได้ง่ายขึ้น และได้ดอกเบี้ยต่ำด้วย

ในอนาคตถ้าเราทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น?

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ : ใช่ครับ มันมี 3 ทางเลือกถ้าอยากให้คนหันมาทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างแรกคือใช้กฎหมายบังคับ แต่ในประเทศไทยจะใช้เป็นภาคสมัครใจ อีกประการหนึ่งคือสถานการณ์บีบบังคับ เช่น COVID-19 ทำให้คนไม่อยากจับเงิน ไม่อยากจับกระดาษ ไม่อยากไปใกล้ชิดกัน และประการสุดท้ายคือการใช้แรงจูงใจอย่างที่กล่าวไป

มีอะไรที่จะบอกประชาชนให้เตรียมตัวหรือวางแผนเกี่ยวกับเรื่องภาษีบ้าง?

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ : เราพยายามทำให้ภาษีเป็นเรื่องง่ายและเป็นมิตรกับประชาชนมากขึ้น ใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ง่ายขึ้น มีการร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อทำระบบฐานข้อมูลตอบโจทย์การบริการผู้เสียภาษี ให้ตรงใครและเป็นที่พอใจของคนไทยมากขึ้น คนที่เสียภาษีถูกต้องจะได้รับบริการที่ดีขึ้น เช่น การคืนภาษีอย่างรวดเร็ว และเราก็จะมุ่งเน้นการสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมให้ผู้เสียภาษีครับ

และนี่คือบทความสรุปบทสัมภาษณ์จาก "ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับทิศทางมาตรการภาษีของกรมสรรพากรที่จะมาช่วยฟื้นฟูภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

ทาง aomMONEY หวังว่าหลังจากวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปแล้ว เศรษฐกิจไทยจะกลับมาแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม ส่วนครั้งหน้าเราจะนำบทสัมภาษณ์ดี ๆ มาฝากกันอีก อย่าลืมติดตามนะครับ

บ.ก.aomMONEY

https://youtube.com/watch?v=kMzE9utMIUA%3Fwmode%3Dopaque

ทิศทางมาตรการด้านภาษีหลังสถานการณ์ COVID-19 จะเป็นอย่างไร ?

โดย ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/