ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับภาพความยิ่งใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น แต่เบื้องหลังสิ่งที่ปรากฏต่อสายตาชาวโลกยังคงมีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ที่ถูกภาพความงามบดบังอยู่ ทั้งแผลเป็นจากสงครามและบาดแผลจากพิษเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง แต่หลังจากนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนก็ช่วยกันฟื้นฟูให้ประเทศที่เคยเป็นเถ้าถ่านกลายมาเป็นเสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียได้โดยใช้เวลาไม่นาน ด้วยนโยบายพัฒนาประเทศในตอนนั้นมุ่งเน้นที่ “ความมั่งคั่งทางทรัพยากร” ของประเทศ ไม่ใช่ “กำลังทหารที่เข้มแข็ง” อีกต่อไป

ความเสียหายจากสงครามโลกฟื้นฟูได้ด้วยความทุ่มเท วินัย และไอเดียของคนในชาติ บวกกับความช่วยเหลือจากอริเก่าทางสงครามอย่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูเศรษฐกิจได้สำเร็จราวปาฏิหาริย์ และกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มี GDP เป็นอันดับ  2 รองจากสหรัฐอเมริกา

ความเจ็บปวดจากสงครามหายไป กลายเป็นแผลเป็นที่หลงเหลืออยู่ในประวัติศาสตร์ของชาติ

แต่ความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับญี่ปุ่นภายหลังการฟื้นฟู กลับกลายเป็นบาดแผลทางที่ยากเกินจะรักษา โดยเรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นในปี 1950 ห้าปีให้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง 

ญี่ปุ่นในยุคฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ช่วงแรกที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูประเทศ อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นจะอยู่ภายใต้การนำของกลุ่มเครือข่ายธุรกิจครอบครัวขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “Keiretsu” อันได้แก่ Sumitomo, Mitsui, Yasuda และ Mitsubishi เป็นต้น

ความยิ่งใหญ่ของกลุ่ม Keiretsu คือมีธุรกิจที่หลากหลายรวมถึงธุรกิจการเงินและธนาคารกระจายไปทั่วญี่ปุ่น ที่เรารู้จักกันดีก็อาจจะเป็น Mitsubishi ที่มีอาณาจักรธุรกิจยิ่งใหญ่ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ อุตสาหกรรมหนัก และธนาคาร

ซึ่งกลุ่ม Keiretsu ได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ จากรัฐบาลอย่างชัดเจน จริงอยู่ที่มันสามารถช่วยให้ประเทศเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน มันก็มีความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์แฝงอยู่ในระบบนั้น ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้สนใจว่าใครจะมองอย่างไร

เพราะตราบใดที่ประเทศยังก้าวหน้าต่อไปได้ นั่นหมายความว่าประเทศกำลังเดินมาถูกทาง

จากผู้แพ้ทางสงครามสู่ความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจ

มหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในช่วงปี 1950-1980 ทำให้ญี่ปุ่นมีมาตรฐานการครองชีพเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในโลก GDP ต่อหัวของคนในประเทศ (GDP per Capita) เพิ่มขึ้น รวมทั้งญี่ปุ่นยังเป็นประเทศเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

อุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการเน้น “นวัตกรรม” ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใส่ไอเดียใหม่ๆ เข้าไปในสินค้าและกระบวนการผลิต ทำให้ขายสินค้าที่มีคุณภาพได้ในราคาสูง ซึ่งเป็นยุคทองของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ เช่น Sony, Hitachi, Nissan, Sega และ Nintendo

นอกจากนี้จากการบริโภคภายในและการส่งออกที่แข็งแกร่งทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น รัฐบาลจึงต้องออกนโยบายการคลังที่เข้มงวดเพื่อกระตุ้นการออมและการลงทุนภาคครัวเรือน เงินสดในระบบธนาคารเพิ่มขึ้นมากจนเกินดุลเงินสด ซึ่งธนาคารต้องระบายเงินสดออกด้วยการให้สินเชื่ออย่างผ่อนปรน ใครอยากกู้เงินก็ขอกู้ได้ไม่ยาก

ข้อตกลงพลาซ่า สัญญาที่จำกัดสิทธิ์ความได้เปรียบ

จุดสูงสุดของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดขึ้นในปี 1985 โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ได้กำไรทางการค้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีหลายประเทศรู้สึกว่าญี่ปุ่นนั้นเอาเปรียบคู่ค้าจนเกินไป จนเกิดข้อตกลงทางการค้าที่เรียกว่า Plaza Accord ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น

แม้ญี่ปุ่นจะไม่พอใจ แต่เพื่อรักษาความแข็งแกร่งภายในประเทศไว้ ญี่ปุ่นต้องทำตามข้อตกลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลังจากนั้นญี่ปุ่นจึงหันไปมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศอย่างจริงจัง เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ทั้งข้อตกลงพลาซ่าและเศรษฐกิจภายในประเทศที่ดีขึ้น ทำให้ค่าเงินเยนแข็งขึ้นไปกว่าเดิม แหล่งเงินกู้ภายนอกประเทศจึงมีต้นทุนต่ำลงสำหรับบริษัทเอกชนสัญชาติญี่ปุ่น

หลงระเริงกับความยิ่งใหญ่ จนลืมการใช้มาตรการรัดกุม

ความรู้สึกของคนญี่ปุ่นทุกระดับ ณ ขณะนั้น ประเทศของพวกเขาคือมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ไม่มีวันล้มได้ง่ายๆ เพราะเงินสดที่ล้นระบบและเศรษฐกิจการส่งออกที่แข็งแกร่ง ทำให้คนญี่ปุ่นเกิดความมั่นใจเกินตัว ธนาคารพาณิชย์เริ่มเพิ่มระดับความเสี่ยงที่เกินตัวให้กับตัวเองด้วยการยืมเงินจำนวนมหาศาลจากแหล่งเงินทุนนอกประเทศ ประมาณ 186 ล้านล้านเยน

ความโลภและการเดินหมากที่ผิดพลาดทำให้ฟองสบู่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยมีสาเหตุมาจาก...

  • สาเหตุของฟองสบู่ที่ 1 : ความเชื่อมั่นในตัวเองของรัฐบาลทำให้เกิดนโยบายการคลังแบบขยายตัว พูดง่ายๆ คือรัฐบาลใช้จ่ายอย่างเกินตัว รายจ่ายมากกว่ารายรับ ขยายงบประมาณลงทุนอย่างต่อเนื่อง เปรียบได้กับการฉีดสารกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินทุนล้นตลาด คนญี่ปุ่นต่างนำเงินไปเก็งกำไรในตลาดหุ้น และอสังหาริมทรัพย์
  • สาเหตุของฟองสบู่ที่ 2 : ดูได้จากดัชนีตลาดนิกเกอิที่สูงขึ้นมาสามเท่าตัวในช่วง 1985-1989 มาอยู่ที่ 39,000 จุดและมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่คิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ณ ขณะนั้น การถือหุ้นไขว้กันของบริษัทในกลุ่ม Keiretsu ที่มีอำนาจการเงินอยู่ล้นเหลือ ทำให้การปั่นราคาหุ้นของบริษัทในเครือที่มีน้ำหนักต่อการเปลี่ยนแปลงของดัชนีนิกเกอินั้นเป็นไปอย่างง่ายดาย
  • สาเหตุของฟองสบู่ที่ 3 : ราคาของอสังหาริมทรัพย์ในย่านธุรกิจอย่างโตเกียวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 350 เท่า จนมีราคาแพงกว่าที่ดินย่านธุรกิจสำคัญที่แมนฮัตตันในนิวยอร์ค แม้แต่ราคาประเมินที่ดินของพระราชวังในโตเกียว ณ ขณะนั้น ยังมีข่าวลือกันว่ามีคนจะขายให้ในราคาคุ้มค่ากว่าที่ดินของรัฐแคลิฟอร์เนียทั้งรัฐเสียอีก
  • สาเหตุของฟองสบู่ที่ 4 : นอกจากนี้ยังมีวิศวกรรมทางการเงินที่เรียกว่า “Zaitech” ที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถนำกำไรจากการเก็งกำไรในสินทรัพย์เข้าไปรวมอยู่ในงบกำไรขาดทุนของบริษัทได้ ทำให้ความโลภเข้าครอบงำบริษัทต่างๆ ทันที เพราะถ้าบริษัทแสดงตัวเลขกำไรที่สูงขึ้นได้จากการทำธุรกรรม Zaitech บริษัทก็จะสามารถปั่นราคาหุ้นให้สูงขึ้นได้ ผู้ถือหุ้นได้เงินปันผลและ Capital Gain มากขึ้น

บริษัทเอกชนจึงมองหาแหล่งเงินกู้ที่มีภาระดอกเบี้ยต่ำ แล้วใช้เงินที่กู้มาเก็งกำไรในสินทรัพย์ ยิ่งทำให้ราคาของสินทรัพย์ในประเทศสูงขึ้นอย่างรุนแรง วิธีการที่เรียกว่า Zaitech นี้ทำให้หุ้นหลายตัวในตลาดกลายเป็นหุ้นที่แพงกว่ามูลค่ามาก 

สถานการณ์ทั้งหมดกลายเป็นต้นเหตุของฟองสบู่เศรษฐกิจที่รอวันแตกในไม่ช้า

จุดจบของเสือใหญ่แห่งเอเชียก็มาถึง..

ในปี 1989 รัฐบาลญี่ปุ่นก็เริ่มตระหนักได้ว่าหากปล่อยให้ฟองสบู่ลอยตัวสูงไปกว่านี้ ผลเสียหายที่รุนแรงชนิดประเมินค่าไม่ได้จะตามมา จึงตัดสินใจใช้นโยบายการคลังแบบรัดตัว ไม่นานหลังจากนั้นดัชนีนิกเกอิก็ดิ่งลงถึง 50% เหลือ 20,000 จุดภายในระยะเวลา 1 ปี และเหลือ 15,000 จุดในปี 1992

ฟองสบู่ในตลาดหุ้นส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังฟองสบู่ภาคอสังหาฯ โดยในปี 2004 มูลค่าของที่อยู่อาศัยในโตเกียวลดลงไปเหลือมูลค่าเพียง 10% ของราคาในปลายทศวรรษที่ 80 ที่ดินย่านธุรกิจอย่างกินซ่าก็เหลือเพียง 1% ของราคาในปี 1989

บรรยากาศภายในประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ดีเหมือนเก่า คนญี่ปุ่นหดหู่เพราะก่อนหน้านี้มัวแต่วุ่นวายกับการเก็งกำไรกันเกือบทั้งประเทศ คนญี่ปุ่นเข็ดกับการลงทุนจึงวางเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยแค่ไหนคนญี่ปุ่นก็ไม่เอาออกมาลงทุนหรือใช้จ่าย

เมื่ออุปสงค์ลดลง อุปทานย่อมลดลงตาม การค้าและการผลิตของญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมาก เงินลงทุนจากต่างประเทศต่างก็ไหลออกทั้งภาคธุรกิจและภาคการลงทุน ทำให้การส่งออกของประเทศก็ชะลอตัวลงปล่อยให้คู่แข่งทางเศรษฐกิจอย่างจีนและเกาหลีใต้ไล่ตามทันได้

อาการบาดเจ็บจากพิษฟองสบู่แตกของญี่ปุ่นยังไม่หายขาดและดำเนินมาอย่างยาวนาน เศรษฐกิจยังถดถอยอย่างต่อเนื่อง ปัญหาวังวนของภาวะเงินฝืดยังแก้ให้หายขาดไม่ได้ จนมีผู้เชี่ยวชาญออกมาคาดการณ์ว่าการจะรักษาให้หายนั้นอาจกินเวลาถึงปี 2025 เลยทีเดียว

คนญี่ปุ่นขนานนามช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดว่าเป็น “สองทศวรรษที่หายไป”

บาดแผลทางเศรษฐกิจอันโหดร้ายเหล่านั้นยังถูกซ่อนไว้ในใจของนักลงทุนญี่ปุ่นเคียงข้างแผลเป็นจากสงครามโลก แต่อาการเจ็บปวดจากพิษเศรษฐกิจนั้นยังกัดกร่อนสังคมไปเรื่อยๆ และไม่รู้ว่าอีกนานเท่าไหร่ความเจ็บปวดนั้นจะหายไปเสียที...