จากกรณีไฟไหม้สถานบันเทิงที่เป็นข่าวดัง ทำให้ทั้งลูกค้าและเจ้าของกิจการ ตระหนักเรื่องความปลอดภัยในธุรกิจสถานบริการมากขึ้น ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบว่าประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครอง และมีหน่วยงานที่สนับสนุนมาโดยตลอด 

แต่บางครั้งเรื่องประกันภัยก็ถูกมองข้าม คิดว่าเป็นเรื่องไม่สำคัญ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะเราสามารถคุ้มครองความเสี่ยงได้ตั้งแต่แรก ด้วยการทำ ‘ประกันภัย’ ให้กับสถานประกอบการ 

วันนี้นายปกป้องจะพาทุกคนไปดูกันว่ามีเรื่องอะไรที่เราควรรู้บ้าง และถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจ หากทำประกันภัยแล้วจะดีอย่างไรครับ

ประเทศไทยมี พ.ร.บ.สถานบริการ มาตั้งแต่ พ.ศ.2509 หรือเมื่อ 56 ปีก่อน ในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งด้วยบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ตัวกฎหมายนี้จึงมีการปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ให้มีความทันสมัยด้วยเช่นกัน

โดยปัจจุบันระบุนิยามของสถานบริการไว้ดังนี้

“สถานบริการ” หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้า ดังต่อไปนี้

1.สถานเต้นรํา รําวง หรือรองเง็ง เป็นปกติธุระประเภทที่มีและประเภทที่ไม่มีคู่บริการ

2.สถานที่ที่มีอาหาร สุรา น้ำชา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจําหน่ายและบริการ โดยมีผู้บําเรอสําหรับปรนนิบัติลูกค้า

3.สถานอาบน้ำ นวด หรืออบตัว ซึ่งมีผู้บริการให้แก่ลูกค้า แต่ไม่รวมถึง

- สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

- สถานประกอบการเพื่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือสถานที่อื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

4.สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจําหน่ายหรือให้บริการ โดยมีรูปแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

- มีดนตรี การแสดงดนตรี หรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิงและยินยอม หรือปล่อยปละละเลยให้นักร้อง นักแสดง หรือพนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า

- มีการจัดอุปกรณ์การร้องเพลงประกอบดนตรีให้แก่ลูกค้า โดยจัดให้มีผู้บริการขับร้องเพลงกับลูกค้า หรือยินยอมหรือปล่อยปละละเลยให้พนักงานอื่นใดนั่งกับลูกค้า

- มีการเต้นหรือยินยอมให้มีการเต้น หรือจัดให้มีการแสดงเต้น เช่น การเต้นบนเวที หรือการเต้นบริเวณโต๊ะอาหารหรือเครื่องดื่ม

- มีลักษณะของสถานที่ การจัดแสงหรือเสียง หรืออุปกรณ์อื่นใดตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

5.สถานที่ที่มีอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่มอย่างอื่นจําหน่าย โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทําการหลังเวลา 24.00 น.

6.สถานที่อื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

โดยสถานบริการ ต้องมีทางถ่ายเทอากาศสะดวก ไม่อยู่ใกล้วัด สถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียนหรือสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สโมสรเยาวชน หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย ในขนาดที่เห็นได้ว่าจะก่อความเดือดร้อนรําคาญแก่สถานที่ดังกล่าว

และห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการย้าย แก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือต่อเติมสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่

รูปแบบสถานบริการที่กฎหมาย “บังคับ” ให้ทำประกันภัย

ตามกฎกระทรวง กำหนดอาคารที่ต้องทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย พ.ศ.2564 ระบุไว้ว่า สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร จะต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

     
โดยให้มีจำนวนเงินเอาประกันภัย ดังต่อไปนี้

  1. กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจํานวนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคน รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาทต่อครั้ง
  2. 2.ความเสียหายต่อทรัพย์สินจำนวนไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทต่อครั้ง

ประกันวินาศภัยที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการ ที่ผู้ประกอบการควรทำ

1.ประกันอัคคีภัย

  • ประกันอัคคีภัย

คือการประกันภัยที่คุ้มครองทรัพย์สินจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า และการระเบิดของแก๊สที่ใช้หุงต้มหรือให้แสงสว่างเพื่อการอยู่อาศัย

  • ประกันอัคคีภัยและภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัย

คือการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ภัยจากยวดยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยพิบัติ (น้ำท่วม ลมพายุ หรือแผ่นดินไหว) ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

2.ประกันภัยรับผิดต่อบุคคลภายนอก

  • ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก

คุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี อันเกิดจากความประมาทของผู้ประกอบการ เช่น การประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่, การประกันภัยความรับผิดของนายจ้าง, การประกันภัยความรับผิดเนื่องจากมลภาวะ และการประกันภัยความรับผิดจากผลิตภัณฑ์ เป็นต้น

โดยเงินเอาประกันทั้งหมดที่ผู้เอาประกันจะต้องรับผิดตามกฎหมาย เพื่อจ่ายค่าชดเชยต่อไปนี้

  • ค่าชดเชยเกี่ยวข้องกับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย (รวมถึงการเจ็บป่วย) ของบุคคลภายนอก
  • การสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เป็นของบุคคลภายนอก
  • ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี
  • ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกี่ยวกับการดำเนินการด้านกฎหมาย
  • ค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีของผู้เอาประกันภัย ที่ได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรโดยบริษัทผู้รับประกันภัย

ถึงกฎหมายไม่บังคับ แต่ทำประกันไว้ ดีกว่าไม่มี

หากสถานประกอบการของเราตรงตามนิยามของ พ.ร.บ.สถานบริการฯ ก็ต้องทำประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีสถานประกอบการหลายแห่งไม่ได้ปฏิบัติตาม แต่กลับจดทะเบียนในรูปแบบร้านอาหารแทน ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งในแง่ความปลอดภัย และในแง่ความคุ้มครองทางธุรกิจอีกด้วย

ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ว่าเราจะมีสถานประกอบการรูปแบบใด จะเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.สถานบริการฯ หรือไม่ก็ตาม ก็สามารถทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงได้เช่นกัน โดยมีข้อดีดังนี้

1.​ให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สิน

หากเกิดความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหาย และนำไปจัดหาสินทรัพย์ใหม่ทดแทนได้​ ​

2.ช่วยให้เกิดความมั่นคงในการประกอบธุรกิจ​​

หากเกิดความเสียหาย ธุรกิจก็จะไม่สะดุดเรื่องการเงิน เพราะได้รับค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัย  

3.ช่วยลดภาระของสังคมและรัฐบาล​

หากเกิดความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน ไม่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว จนเกิดภาวะพึ่งพิงรัฐบาล

4.ช่วยระดมทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ​

บริษัทประกันภัยจะกันเงินสำรองไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อเตรียมสำหรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น และจะนำไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ จึงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

บทบาทหน้าที่ของ คปภ. ในเรื่องประกันภัยสถานบริการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ ‘คปภ.’ คือหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยมาโดยตลอด สำหรับกรณีสถานบริการก็เช่นกันครับ โดยมีบทบาทหน้าที่ดังนี้

  1. ช่วยสร้างความตระหนักรู้ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำประกันภัย
  2. ช่วยสร้างความตระหนักรู้ ให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภค ในการเลือกสถานบริการที่ทำประกันภัย
  3. กรณีเกิดเหตุทาง คปภ. จะเร่งช่วยเหลือด้านประกันภัยในทุก ๆ ด้าน โดยทำงานบูรณาการร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย

อย่างเช่นกรณีไฟไหม้สถานบันเทิงที่เป็นข่าวดัง ทาง คปภ. ก็ได้ลงพื้นที่ ตั้งศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือด้านประกันภัย อำนวยความสะดวก ติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งหมดนี้ทางผู้ประกอบการคงจะเห็นกันแล้วว่า หากทำประกันภัย ก็จะช่วยคุ้มครองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และช่วยสร้างความมั่นคงให้ธุรกิจสถานบริการ ส่วนประชาชนในฐานะผู้บริโภค ควรเลือกใช้บริการ ณ สถานบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีประกันภัยคุ้มครอง เพื่อความอุ่นใจต่อชีวิตและทรัพย์สินของเรานะครับ

สามารถติดตามข่าวสารความรู้เรื่องประกันภัย ได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน คปภ. www.oic.or.th หรือสายด่วนประกันภัย 1186 หรือสำนักงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งทาง คปภ. มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้บริการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ

บทความนี้เป็น Advertorial