รู้ไหมครับว่า? ประเทศไทยเก็บภาษีอะไรได้มากที่สุด หลายคนคงพอมีคำตอบในใจแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งคำตอบก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นเองครับ

โดยในปีงบประมาณ 2564 (1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2564) ประเทศไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทั้งหมดประมาณ 793,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับภาษีประเภทอื่น ๆ ที่ทางกรมสรรพากรเก็บได้

นอกจากภาษีที่เก็บได้มากที่สุดแล้ว ยังรู้ไหมครับว่า หน่วยงานจัดเก็บภาษีไหนเก็บภาษีได้มากที่สุด แหม่.. ทุกคนก็คงตอบได้ทันที่ว่า คือ กรมสรรพากร ใช่ไหมล่ะครับ ใช่แล้วครับ กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีได้ถึง 63.18% ของภาษีทั้งหมดที่จัดเก็บ แต่อย่างไรก็ดี นอกจากสรรพากรแล้ว เรายังมี กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ทำหน้าที่จัดเก็บภาษีด้วยเช่นกันครับ

คำตอบทั้งหมดที่เอามาเล่าสู่กันฟัง หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมพรี่หนอมถึงรู้ละเอียดแบบนี้ เพราะทำงานภาษีใช่หรือเปล่า คำตอบ คือ ไม่ใช่ครับ ทุกวันนี้เราสามารถหาข้อมูลพวกนี้ได้ด้วยตัวเองแล้ว แถมยังหาได้ลงลึกถึงรายการต่าง ๆ อีกมากมาย โดยไม่ต้องไปค้นคว้าหรือหาข้อมูลอะไรที่ยุ่งยากเลย เพียงแค่เปิดเว็บไซต์ที่ชื่อว่า ภาษีไปไหน? หรือ https://govspending.data.go.th/dashboard/5 แล้วเลือกปีงบประมาณที่ต้องการรู้ข้อมูล เพียงเท่านี้ก็ได้คำตอบหลายอย่างที่อยากรู้แล้วล่ะครับ

รีวิวสั้น ๆ อีกนิดว่า ภาษีไปไหน เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการจัดเก็บภาษี งบประมาณ นโยบายจัดซื้อจัดจ้าง ที่เปิดเผยให้ประชาชนอย่างเราเข้าไปค้นหาได้แบบละเอียดเลย ไม่ว่าจะเป็น ภาษีที่เก็บในไทยมีอะไรบ้าง ? ภาษีแต่ละกระทรวงได้งบไปเท่าไร หน่วยงานไหนเก็บภาษีได้มากหรือน้อย ตามแต่ละปีงบประมาณที่เราอยากรู้ เริ่มตั้งแต่ข้อมูลแบบสรุปภาพรวม ไปจนถึงข้อมูลแบบละเอียด อย่างเช่นข้อมูลเรื่องของงบประมาณ ก็จะมีตั้งแต่งบประมาณรวมไปจนถึงกระทรวงและหน่วยงานกันเลยทีเดียว

หรือถ้าเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง ก็จะมีตั้งแต่งบประมาณสรุปรวม แยกออกเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงสุด 10 อันดับ หรือลงลึกไปถึงรายละเอียดแต่ละโครงการ (ค้นหาข้อมูลได้) และแยกออกเป็นรายพื้นที่ได้อีกด้วยครับ

โดยหน่วยงานที่พัฒนาเว็บไซต์ "ภาษีไปไหน" คือ "สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ DGA" ที่ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งหนึ่งในภารกิจของทาง DGA ก็คือการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) และผลักดันให้หน่วยงานรัฐทำการเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดนวัตกรรมต่อไปได้ในอนาคตครับ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลมากมาย เช่น กรมบัญชีกลาง, สำนักงบประมาณ, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น

สำหรับใครที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษี พรี่หนอมแนะนำลองเข้าไปทดลองเล่นดูได้ที่นี่เลยครับผม คลิก : https://govspending.data.go.th/

บทความนี้เป็น Advertorial