สวัสดีครับเพื่อนๆ ชาว aomMONEY ก็กลับมาพบกับคอลัมน์ aomMONEY Investment Confernce กันอีกแล้วนะครับ ครั้งนี้เราจะมาพูดถึงกันในประเด็นของ “ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย หลัง Covid-19” เราต้องขอย้ำกันก่อนนะครับว่าสิ่งที่จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ คือ เราต้องเข้าใจว่าตอนนี้เราอยู่จุดไหนแล้วและเข้าใจว่าในอนาคตมันมีโอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

เพราะฉะนั้นวันนี้เราลองมาอ่านบทสัมภาษณ์จาก ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน ว่ามองอนาคตภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลัง Covid-19 เป็นอย่างไรบ้าง ไปอ่านกันได้เลยครับ

ในมุมมองของ SCB EIC ตอนนี้มองเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรบ้าง?

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ (SCB EIC) : ผมคิดว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มี 3 เหตุการณ์สำคัญที่จะมีนัยยะต่อเศรษฐกิจในช่วงปีนี้และปีหน้า

เหตุการณ์ที่ 1

คือ การแพร่ระบาดของ Covid ในช่วงมกราคม หรือ กุมภาพันธ์ เรายังมองว่ามันเป็นเรื่องในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในประเทศจีน จนมันไม่กี่สัปดาห์พอถึงมีนาคม ก็กลายเป็นว่าโรคนี้ระบาดไปทั่วโลก แต่ข่าวดีก็คือว่าหลายๆ ประเทศรวมถึงไทย ก็ดูเหมือนจะ Flatten The Curve ได้แต่ก็ยังประมาทไม่ได้ ตัวนี้ก็เป็นจุดหนึ่งซึ่งจะต้องติดตามต่อไป จากเหตุการณ์ที่ 1 มันทำให้ภาพเศรษฐกิจโลกเองก็เปลี่ยนไปรวดเร็ว ตอนนี้ทาง EIC ให้ประมาณการเศรษฐกิจโลกติดลบประมาณ -3.8% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 1930 ตั้งแต่ The Great Depression 

เหตุการณ์ที่ 2

คือความพยายามที่จะ Flatten The Curve ก็คือการ Lock Down ทั่วโลก จะเห็นได้ว่า วันที่ 21 มีนาคม ไทยเราเริ่มมีความเข้มข้น แล้วก็จะเห็นว่าความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มาประมาณช่วงหลังจากที่ Lock Down เริ่มคลาย จากข้อมูลจริงของไตรมาส 1 ที่ออกมาแล้ว จะพบว่า “ประเทศไหนที่ Lock Down เข้มข้นมาก GDP ก็จะติดลบเยอะ ของเราไตรมาสหนึ่ง -1.8% เพราะว่าไตรมาสหนึ่งเรา Lock Down จริงๆ แค่สัปดาห์สุดท้ายของมีนาคม แต่ว่ากระทบรุนแรงจะมาในไตรมาส 2” ซึ่งเราก็มองว่าในช่วงที่มีการ Lock Down พฤติกรรมผู้บริโภคก็จะเปลี่ยนไป สินค้าที่จะขายดีก็จะเป็นสินค้าจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารเรื่องสุขภาพ รวมถึงการที่คนอยู่บ้านมากขึ้นก็คือเรื่องการสื่อสาร แต่ตัวสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็น สินค้าที่เกี่ยวกับเรื่อง Face to Face นันทนาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร จะติดลบมาก 

ไตรมาส 1 ก็จะเห็นชัดเจนเลยว่าสินค้าที่ยังผลิตออกมาขายได้ค่อนข้างดีก็คือ สินค้าพวกยา อาหาร แต่ว่าถ้าเป็นสินค้าประเภทที่ไม่ได้จำเป็นนัก อย่างเช่นสินค้าคงทนอย่างรถยนต์ เสื้อผ้านั้นติดลบเยอะมาก แต่มีข่าวดีครับ ถ้ามาดูข้อมูล Real Time แน่นอนต้องบอกก่อนว่า ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ผ่านสนามบินหลักก็ยังติดลบ ใกล้ๆ ติดลบ 100% สนามบินภายในประเทศ มีขยับขึ้นมาบ้างแต่ก็ถือว่ายังน้อยอยู่ โรงแรมกระทบมาก อัตราการเข้าพักต่ำมาก 18% การเดินทางแม้แต่ในเมืองเองก็ลดลง แต่จุดที่เริ่มขยับดีขึ้น คือตัวเลขของ Apple Mobility Index ก็จะเห็นว่าเรื่องการขับรถก็เริ่มมีการขยับขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังต่ำกว่าเดิมค่อนข้างมาก ช่วงที่ผ่านมาคนอยู่บ้านมากขึ้นเทียบกับในอดีต แต่ช่วงหลังที่กลับมาดีคือร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา กลับมาใกล้เคียงกับตอนก่อนเกิดวิกฤตแล้ว แต่การเดินทางของเรายังต่ำกว่าเดิมถึงประมาณ 40%

เหตุการณ์ที่ 3

เหตุการณ์สุดท้ายที่อยากจะเน้นย้ำ ก็คือ เหตุการณ์มาตรการความช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งไทยและของทางโลกออกมาขนาดใหญ่มาก แล้วก็มีหลายๆ แนวคิดเป็นความคิดนอกกรอบ การอัดฉีดเม็ดเงินการคลั ของญี่ปุ่น คิดเป็น 20% ของ GDP ของใช้ที่ออกมา 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 6.3% ของ GDP ซึ่งถือว่าใหญ่มาก ส่วนมาตรการของการเป็นแบงค์ชาติเองก็น่าสนใจ มีมาตรการที่นอกกรอบออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็น การเข้าไปซื้อสินทรัพย์ แบงค์ชาติก็ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล ช่วยดูแลเรื่อง Yield ไม่ให้ผันผวนเกินไป มีมาตรการเจาะเฉพาะ SME Soft Loan 5 แสนล้านบาท มีมาตรการที่เข้าไปช่วยดูแลตลาด Money Market fund นอกจากนั้นก็ยังมีมาตรการพักหนี้ให้ลูกค้ารายย่อย ให้ SME มีมาตรการลดค่าธรรมเนียมสำหรับ FIDF จึงทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปรับลดดอกเบี้ยลงไปได้อีก

นี่เป็นมาตรการต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเศรษฐกิจ จะเห็นว่ามาตรการเหล่านี้พอออกมาจากธนาคารทั่วโลก หุ้นที่เคยตกลงไปประมาณ 30% ของสหรัฐเรียกว่า Bear Market ช่วงเดือนกว่าๆก็แล้วฟื้นตัวขึ้นมา ของไทยก็เช่นเดียวกัน ดัชนี Set ของเราตกไป 30% ตอนนี้ก็อาจจะฟื้นขึ้นมาซัก 20%

ถามว่าทำไมหุ้นถึงปรับตัวดีขึ้น แปลว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้วหรือยัง คงไม่ใช่ เพราะว่าปกติตลาดหุ้นจะเร็วกว่าเศรษฐกิจจริง แล้วนอกจากนั้นก็คือเรื่องสภาพคล่องที่ธนาคารกลางอัดฉีดมาก็ช่วยทำให้ Sentiment ดีขึ้น ถ้ามาดู Earning จริงๆ ยังปรับลงอยู่ อันนี้ก็สะท้อนว่ามาตรการก็ออกมาช่วย ในเรื่อง Sentiment ได้ระดับหนึ่ง

สุดท้ายสำหรับ 3 เหตุการณ์ที่อยากจะทิ้งไว้ว่า แน่นอนว่ามันมีส่วนที่ดีของมาตรการ แต่ส่วนที่จะเป็นผลกระทบในระยะต่อไปก็คือ ในเรื่องของหนี้สาธารณะ “หลายๆ ประเทศหนี้สาธารณะก็จะสูงขึ้นเยอะหลังจากนี้ ของไทยเอง EIC ประมาณว่าก่อนเกิดวิกฤติจะอยู่ประมาณ 43% ของ GDP หลังจากจบ Covid สิ้นปีหน้า อาจจะขึ้นไปถึงประมาณ 56-57% ของ GDP” ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่โชคดีว่าเรามี  Quality  Room ในการอัดฉีด หรือว่าบางประเทศเขาไม่มี Room เท่าเรา ก็สะท้อนข้อดีของการที่เราเก็บสะสมความยืดหยุ่นไว้ แต่ในอนาคตข้างหน้าความยืดหยุ่นนี้ก็อาจจะน้อยลง

วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 40 กับ วิกฤต Covid-19 แตกต่างกันไหม?

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ (SCB EIC) : ค่อนข้างแตกต่าง GDP  ช่วงปี 97 ติดลบประมาณ 2.8% ปี 98 ติดลบประมาณ 7.6% หลังจากนั้นเราไม่ได้มีวิกฤตเศรษฐกิจแรงๆ แม้แต่ปี 2008 เองที่มีวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ของเราก็ลงไปนิดหน่อยไม่ได้ติดลบมาก เพราะว่าปัจจัยพื้นฐานเราค่อนข้างเข้มแข็งในช่วงนั้น แต่ของปีนี้ ตอนนี้ EIC มองไว้ที่ -5.6% ของปีนี้ แล้วปีหน้าอาจจะกลับมาเป็นบวกได้ แต่ต้องเรียนว่า Downside Risk ยังมีอยู่ค่อนข้างเยอะ ต้องติดตามให้ต่อเนื่อง

ที่นี้มันมีมิติอะไรบ้าง ที่สามารถเปรียบเทียบกันได้?

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ (SCB EIC) : ต้นตอของปัญหาต่างกัน วิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 มันเกิดจากภาคการเงินเป็นหลัก เพราะว่ามีปัญหาฟองสบู่ในตลาดหุ้น ฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ นโยบายค่าเงินคงที่ที่ทำให้ทำให้เกิดหนี้ต่างประเทศสูง พอเกิดวิกฤตขึ้นมา ลอยค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม ปี 97 ก็เกิดเป็น Negative  Demand Shock ขนาดใหญ่ แต่ผลกระทบจริงๆ มันกระจุกอยู่แค่ในโซนเอเชีย ส่วนอย่างอื่นยังเติบโตได้ดีอยู่ แต่รอบนี้มันต่าง เพราะมันเกิดขึ้นด้วยโรคระบาด  แล้วมันก็ Shock เข้าไปที่เศรษฐกิจจริงเลย ทำให้เกิดทั้ง Supply Shock และ Demand Shock พร้อมๆ กัน และก็เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกพร้อมกัน

เมื่อกี้เราเรียนไปแล้วว่าระดับ GDP ในปี 98 ติดลบมากสุด -7.6% ตอนนี้เราอาจจะมองอยู่ที่ -5.6% แต่ต้องเรียนว่า  EIC กำลังจะปรับประมาณการณ์ สิ้นเดือนนี้เรากำลังจะออกประมาณการณ์ใหม่ ซึ่งต้องเรียนว่าแนวโน้มเป็นการปรับลง ยังมี Downside Risk อยู่พอสมควร

เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบรอบต้มยำกุ้งส่วนใหญ่ จะกระจุกตัวอยู่ในภาคอสังหาฯ ภาคก่อสร้าง ภาคการเงิน และส่วนมากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ตอนนั้นยังมีภาคเกษตรเป็นตัว Buffer ให้เรา คนตกงานก็กลับไปอยู่ภาคเกษตรซึ่งตอนนั้นก็ยังไปได้ค่อนข้างดี แต่รอบนี้ผลกระทบมันจะกว้างกว่าเยอะ เนื่องจากมันมีเรื่อง Lock Down ด้วย แล้วก็กระทบกับเรื่องการท่องเที่ยว การส่งออก โดยเฉพาะ SME รอบนี้ผมว่ารายใหญ่อาจจะกระทบน้อยกว่า SME  เพราะ SME มีสายป่านสั้นกว่า แล้วถ้าเกิดเจอ Shock เข้าไปเรื่องรายได้ติดต่อกันหลายเดือน

แล้วที่สำคัญภัยแล้งทำให้ภาคเกษตรก็ติดลบด้วย ถ้าถามความรู้สึกของประชาชนทั่วไปรอบนี้จะหนักกว่า ถึงแม้ว่าตัวเลขต้มยำกุ้งอาจจะดูรุนแรงกว่า ผลกระทบสูงสุด อย่างที่เรียนไปแล้ว ต้มยำกุ้งอาจจะใช้เวลานานหน่อย กรกฎาคม ปี 40  เกิดการลอยตัวค่าเงินบาท แล้วไปพีคต่ำสุดจริงๆ ที่ประมาณไตรมาส 2 ของปีถัดไปปี 41

แต่รอบนี้ผลกระทบออกมาทันที ตอนนี้เราคิดว่าจุดต่ำสุดน่าจะอยู่ในไตรมาส 2 แล้วก็หวังว่าจะค่อยๆปรับขึ้นแต่อย่างช้าๆ แล้วก็หวังว่าจะไม่มี  Second Round , Third Round ของ Covid ถ้าไม่มีก็ถือว่าไตรมาส 2 จะต่ำสุด

ส่วนการฟื้นตัวรอบนี้ จริงๆ แล้วโรคระบาดที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็น V-Shape พอคอนโทรลได้เร็วทุกอย่างมันกลับเป็นเหมือนเดิม แต่ Covid  นี้มันต่าง Covid ต่างจาก SARS ที่ SARS ติดต่อยาก อัตราการตายสูง แต่ Covid  อัตราการตายไม่สูง แต่ติดต่อง่ายมาก ดังนั้นตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน การฟื้นตัวก็ไม่น่าจะเป็น V-Shape อันนี้คือความแตกต่างระหว่าง Covid กับต้มยำกุ้ง

ภาพรวมในอนาคตของเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร?

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ (SCB EIC) : ผมคิดว่าจุดสำคัญมีอยู่ 3 เรื่อง ก็คือ 

1. เรื่องการท่องเที่ยว

เพราะว่า อย่างที่ทราบดีเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมาก ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 12% ของ GDP  ถ้ารวมของไทยด้วยก็เกือบๆ 20% ของ GDP ตอนนี้ EIC มองว่า ใน Best Case นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากตอนนี้ติดลบอยู่ 100% ถ้าเทียบกับปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวทั้งปีในปีที่แล้วอยู่ที่ 40 ล้าน ปีนี้อาจจะอยู่ประมาณ 13 ล้าน แล้วอย่างที่เรียนเบื้องต้น เรากำลังจะปรับประมาณการอยู่ว่า Downside Risk อาจจะทำให้ตัวประมาณการนี้ถูกปรับลงอีกเล็กน้อย

ภาคการท่องเที่ยวไทยจะฟื้นเร็วแค่ไหน ผมว่าปัจจัยที่สำคัญก็คือ เรื่องของวัคซีน ถ้ามีวัคซีนจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว แต่ถ้าวัคซีนมาช้า มันก็จะยืดออกไป ตอนนี้เรามองอยู่ประมาณไตรมาส 2-3 ปีหน้า ในการที่จะค้นพบวัคซีน ก็อาจจะกินเวลาไปถึงปี 2022 ดังนั้นเรามองว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศ กว่าจะกลับเข้ามาเท่ากับปี 2019 อาจต้องใช้เวลาอีกถึง 2 ปี

2. การส่งออก

จริงๆ ตัวเลขไตรมาส 1 ส่งออกเรายังเป็นบวก แต่เมื่อวาน (22/5/63) ตัวเลขออกมาที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์ จริงๆ ถ้าฟังข่าวผิวเผินเมื่อวานก็ยังเป็นบวก ข่าวบอกว่าบวก 2% แต่จริงๆ ถ้าหักทองคำและอาวุธ ถ้าหัก 2 ตัวนี้ออก ต้องบอกว่าเดือนเมษายนเริ่มแสดงอาการชัดเจน -13.4% บางตัวอย่างรถยนต์ติดลบประมาณ -53% นี่คือภาพส่งออก ซึ่งเราก็คิดว่าไตรมาส 2 น่าจะหดตัวต่อเนื่อง  ตามทั้งเรื่อง Supply Disruption แล้วก็ Lock Down ของต่างประเทศทำให้ Demand ลดลงด้วย

3. การใช้จ่ายภาคเอกชน

ต้องบอกว่าถึงแม้ Lock Down จะผ่อนคลายแล้ว แต่ EIC ยังมองว่า การฟื้นตัวของการใช้จ่าย ยังจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ  เพราะว่าถ้าไปดูปัจจัยพื้นฐานที่กำหนดเรื่องการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ้างงาน ก็จะค่อนข้างชะลอตัวบ้าง จะมีคนตกงานจำนวนมากประมาณ 3-5 ล้านคน เรื่องกันชนทางการเงิน เราก็ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องนี้ Sentiment ก็คือ Consumer  Confidence  Index ตอนนี้ก็ต่ำที่สุดตั้งแต่ไปเก็บข้อมูลมาในปี 1999

วันนี้ถ้าคนยังไม่มั่นใจ ก็น่าจะยังชะลอการใช้จ่าย อาจจะมีการออมเพิ่มขึ้น เผื่อไว้เพราะมีความไม่แน่นอน ตัวสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องตลาดทุน หุ้นตกไปทำให้มูลค่าของ Set หายไปประมาณ 2.6 ล้านๆ บาท ถ้าหักส่วนของนักลงทุนต่างประเทศไป ก็ทำให้ความมั่งคั่งของนักลงทุนหายไป 2 ล้านล้าน

จุดแข็งและจุดอ่อนที่เราต้องรีบปรับสำหรับอนาคตกับเศรษฐกิจแบบนี้?

ดร. ยรรยง ไทยเจริญ (SCB EIC) :  

จุดแข็ง

1) ระบบการแพทย์เราดี 

2) โครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี ที่เอื้อต่อเรื่องออนไลน์ Activity ต่างๆ เรามีความพร้อม 

3) หนี้สาธารณะที่ต่ำทำให้เรากระตุ้นเศรษฐกิจได้ 

4) ธนาคารพาณิชย์ในรอบนี้มีความเข้มแข็ง สามารถช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ 

5) บริษัทขนาดใหญ่มีความมั่นคงดี 

แต่จุดอ่อนที่ชี้ให้เห็นคือ

1) เราพึ่งพาการท่องเที่ยวเยอะ 

2) โครงสร้างการจ้างงานของประเทศไทย แรงงานส่วนใหญ่กระจุกอยู่ใน 4 Sector ซึ่งค่าแรงโดยเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ แล้วก็ได้รับผลกระทบจาก Covid ค่อนข้างเยอะ แล้วก็เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการตกงานหรือรายได้สูญเสียค่อนข้างเยอะ  

3) ตลาดแรงงานเราค่อนข้างอ่อนแอมาก่อนหน้าแล้ว จำนวนชั่วโมงการทำงานลดลงต่อเนื่อง แล้วค่าแรงค่อนข้าง Flat มาหลายปี 

4) สถานการณ์การเงินของภาคครัวเรือน ตอนนี้มีอยู่ 72% ของครัวเรือนไทยที่ทรัพย์สินทางการเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายอยู่ 3 เดือน คือแปลว่า ถ้ารายได้ขาดไป 3 เดือน ก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก 

สุดท้าย 5) ธุรกิจค้าปลีก SME ตอนนี้เราเห็นสัญญาณการปิดกิจการเร่งตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว NPL รายย่อยเขาจะสูงกว่ารายใหญ่ อันนี้ก็เป็นจุดอ่อนต่างๆ ที่เราต้องรับมือกัน 

สุดท้าย ผมคิดว่าทุกวิกฤตเป็นโอกาส ถ้าเราสามารถเตรียมพร้อม ดูในเรื่องสภาพคล่องให้ดี แล้วอย่าลืมปรับตัวก่อน New Normal ที่เกิดขึ้นแน่ๆ ลงทุนใน Digital Technology ตอนนี้ก็เป็นจังหวะที่ต้องแบ่งปันกันเยอะๆ แบ่งปันเงินทอง สิ่งของ ความรู้ ที่สำคัญแบ่งปันน้ำใจและรอยยิ้ม เป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ

และนี่คือบทสัมภาษณ์ จาก จาก ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน aomMONEY เชื่อว่าเพื่อนๆ น่าจะได้รับข้อมูลดีๆ กันไปเยอะเลยใช่ไหมครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมุมมองเศรษฐกิจจากหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และความเหมือนและความต่างของทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งกับวิกฤต Covid ในปัจจุบัน

สุดท้ายแล้ววิกฤตก็ต้องผ่านพ้นไป 

อย่าลืมแบ่งปันน้ำใจและรอยยิ้มให้กันนะครับ :)

https://youtube.com/watch?v=9iBNDHAbYHg%3Fwmode%3Dopaque

"ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย หลัง Covid-19"

โดย ดร. ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ 

ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) 

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน

ติดตามความรู้เรื่องการเงินการลงทุนจาก aomMONEY

Website : www.aomMONEY.com

Youtube : https://www.youtube.com/AommoneyTH

กลุ่มกองทุนไหนดี : https://www.facebook.com/groups/SelectedFund/