มองไปรอบ ๆ ตัวตอนนี้ เราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับมหาเศรษฐีพันล้าน (Billionaire - ถ้าของไทยก็ผู้ที่มีทรัพย์สินหลักสามหมื่นล้านบาท) ทำธุรกิจนั้น ลงทุนตรงนี้ อยู่เสมอ ความร่ำรวยเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดความสนใจ ใครบ้างจะไม่อยากรู้เกี่ยวกับคนรวย เพราะเชื่อว่าส่วนใหญ่ (รวมทั้งผู้เขียนเองก็ด้วย) ก็อยากจะร่ำรวยเหมือนอย่างคนเหล่านั้นบ้าง

แต่ถ้าถามความเห็นคนส่วนใหญ่ว่าเศรษฐีผู้ร่ำรวยเหล่านี้สร้างผลบวกหรือผลลบต่อสังคมที่อยู่มากขนาดไหน เมื่อก่อนคำตอบที่เราจะได้คือ ‘ไม่ดีไม่แย่’ หรือมองคนร่ำรวยมหาศาลอย่างกลาง ๆ แต่หลังจากช่วงปี 2020 เป็นต้นมา มุมมองเกี่ยวกับคนที่ร่ำรวยมาก ๆ เริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นลบมากยิ่งขึ้น บางคนบอกว่ามหาเศรษฐีนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเพราะพวกเขาลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ ขับเคลื่อนการเติบโต สร้างงานให้เกิดขึ้น และหลายคนก็บริจาคเงินคืนกับสังคมและมูลนิธิต่าง ๆ ด้วย แต่อีกด้านหนึ่งก็บอกว่า คนที่ร่ำรวยมหาศาลนั้นมีอำนาจในมือมากเกินไป มีอิทธิพลทางด้านกฎหมายและระหว่างทางเพื่อไปสู่ผลกำไรที่มากขึ้นพวกเขาก็สร้างความเสียหายไปด้วยในเวลาเดียวกัน

สถิติ

ในปี 2021 เว็บไซต์ Pew Research Center ได้ทำการสำรวจความเห็นของประชากรชาวอเมริกันราว ๆ 10,221 คน อายุตั้งแต่ 18-65 ปี ทั้งสองฝั่งของด้านการเมือง ผลที่ออกมาคือแม้ว่าส่วนใหญ่ 55% จะยังรู้สึกกลาง ๆ (ไม่ดีไม่แย่) แต่จำนวนคนที่เห็นว่ามหาเศรษฐีพันล้าน (กลุ่มคนที่ร่ำรวยมากๆ)​ นั้นส่งผลทางด้านลบต่อสังคมเพิ่มขึ้นจาก 23% มาเป็น 29% จากปีก่อนหน้า

แม้ว่าการเก็บสถิติครั้งนี้ไม่ได้ลงลึกไปถึงเหตุผลว่าทำไมมุมมองทางด้านลบถึงเติบโตขึ้นกว่า 6% ภายในหนึ่งปี แต่เหตุผลหนึ่งก็อาจจะเป็นเรื่องของภาพลักษณ์และข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดูเห็นแก่ตัวเองของเหล่าคนรวย ๆ ที่อยู่ในสังคมนั่นแหละ (ในบทความนี้เราจะไม่พูดถึงคนในบ้านเรา แต่ถ้าผู้อ่านจะคิดถึงใคร อันนี้ห้ามไม่ได้)

ยกตัวอย่างที่สักสองสามคนที่หลายน่าจะรู้จักกันอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซึ่งปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่สำหรับชายผู้ ‘เคย’ เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ซื้อบริษัท Twitter เพราะอยากให้มีพื้นที่สำหรับอิสรภาพทางการพูดแสดงออก แต่ต่อมาก็ปิดกั้นบัญชีของนักข่าวหลายคนจากสื่อใหญ่อย่าง CNN, New York Times และ Washington Post หรืออีกคนอย่าง แซม แบงก์แมน-ฟรีด (Sam Bankman-Fried) อดีตมหาเศรษฐี เจ้าของกระดานเทรดคริปโตฯ FTX ที่ล้มละลายไปเคยบอกว่าเขาจะใช้เงินของตัวเองเพื่อสังคม แต่เบื้องหลังกลับนำเงินของลูกค้าไปใช้ส่วนตัว หรือแม้แต่ครอบครัว Sackler (สำหรับใครที่ไม่รู้จักแนะนำให้ดูซีรีส์เรื่อง “Dopesick” บน Disneys+ ครับสนุกมาก) ผู้ร่ำรวยและสร้างรายได้มหาศาลจากการขายยา “OxyContin” ที่เป็นยาแก้ปวดโอปิออยด์ที่กลายเป็นต้นตอการระบาดของการใช้ยาเสพติดทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยที่สุดมีคนเสียชีวิตจากการใช้ยาแก้ปวดโอปิออยด์อย่าง OxyContin ไปแล้วกว่า 5 แสนราย

อีกเหตุผลหนึ่งที่ความรู้สึกในทางลบเติบโตขึ้นอาจจะเกี่ยวข้องกับช่องว่างของความมั่งคั่งที่กว้างขึ้นระหว่างคนที่ร่ำรวยกับคนที่ยากจน ในเว็บไซต์ World Inequality Report 2022 พบว่าเศรษฐีพันล้านทั่วโลกราว ๆ 2,668 คน ซึ่งคิดเป็น 0.00003335% ของประชากรโลกนั้นถือครอง 3% ของมูลค่าทรัพย์สินของโลกเลยทีเดียว เอาง่าย ๆ ในประเทศอเมริกา มีคนเป็นเศรษฐีพันล้านอยู่ 728 คน ในขณะที่มีคนที่ถือว่าอยู่ในฐานะยากจนถึง 38 ล้านคน

10% ของประชากรไทย ถือครองทรัพย์สินภายในประเทศมากกว่า 77% และกลุ่มคน 1% บนสุด ประมาณ 7 แสนคนมีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนจน 20% แรกถึง 2,500 เท่า

มาดูในบ้านเราสักหน่อย ข้อมูลในประเทศไทยจากเว็บไซต์ Thaipublica.org ในปี 2021 บอกว่า 10% ของประชากรไทย ถือครองทรัพย์สินภายในประเทศมากกว่า 77% และกลุ่มคน 1% บนสุด ประมาณ 7 แสนคนมีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนจน 20% แรกถึง 2,500 เท่า ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำรุนแรงและเพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดระหว่างปี 2008-2018 โดยคน 1% บนสุดถือครองทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 17.5%

มหาเศรษฐีสร้างรายได้จากอะไร?

บางทีถ้าให้นึกภาพเงิน 1,000 ล้านเหรียญ (สำหรับของไทยก็ลองประมาณ 35,000 ล้านบาท) มันอาจจะเห็นภาพไม่ชัดนัก แต่ถ้าบอกว่าคุณสามารถใช้เงินได้วันละ 1,000 เหรียญ/วัน (ประมาณ​ 35,000 บาท) ไปได้เป็นระยะเวลา 2,740 ปีเงินก้อนนั้นถึงจะหมด ภาพจะชัดขึ้นเลยทันที

แล้วพวกเขาร่ำรวยจากอะไร ทำไมคนทั่วไปถึงไปไม่ถึงจุดนั้นสักที

วิธีหนึ่งที่มหาเศรษฐีเหล่านี้ร่ำรวยก็มาจากผลตอบแทนของการลงทุนนั่นแหละ เรียกอีกอย่างว่าให้เงินทำงานแทนตัวเอง สมมุติว่าคุณและเศรษฐีพันล้านลงทุน 1 เหรียญในปี 2004 ตามค่าเฉลี่ยแล้วภายในปี 2015 เงินตรงนั้นของคุณจะกลายเป็น 1.5 เหรียญ ส่วนเงินของเศรษฐีพันล้านจะกลายเป็น 2.4 เหรียญ (หรือมากกว่าคุณถึง 60% เลย) เนื่องจากมีโอกาสในการลงทุนที่มากกว่าและมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลจัดการเงินเหล่านั้นให้งอกเงยมากที่สุดด้วย

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของภาษี ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกว่าคนรวยต้องเสียภาษีเยอะแน่นอน ซึ่งบางครั้งไม่จริงซะทีเดียว ด้วยความเชี่ยวชาญและมีคนที่คอยจัดการเรื่องเงินให้ บางทีการเสียภาษีของคนรวยก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น อย่างในการสำรวจการยื่นภาษีในอเมริการะหว่างปี 2013-2018 พบว่าคนที่มีรายได้เฉลี่ยปีละ $45,000 เหรียญ (ซึ่งก็มากกว่าค่าเฉลี่ยนิดหน่อย) จ่ายภาษีกว่า 21% ของรายได้ ส่วนเศรษฐีพันล้านจ่ายน้อยมากหรือแทบจะไม่ได้จ่ายเลยเพราะพวกเขาไม่ได้สร้างรายได้จากเงินเดือนเหมือนคนทั่วไป แต่เป็นรายได้จากการลงทุนที่มีกรอบภาษีต่ำกว่าอัตราภาษีเงินเดือนอย่างมาก นอกจากนั้นแล้วยังได้ลดภาษีจากเงินที่บริจาคให้กับมูลนิธิและองค์กรการกุศลต่าง ๆ ด้วย

มหาเศรษฐีเป็นผลดีต่อสังคมยังไง?

ตัวอย่างด้านบนอย่างมัสก์ แบงค์แมน-ฟรีด หรือแม้แต่ครอบครัว Sackler อาจจะไม่ได้เป็นตัวแทนของที่ดีนักของกลุ่มมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวย เพราะถ้าให้แฟร์เราก็ต้องมองว่าในสังคมของเราก็ยังมีมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภ หรือหิวกระหายอำนาจจนหน้ามืดด้วยเช่นกัน อย่างถ้าจะแย้งในกรณีของมัสก์เอง เราสามารถมองว่าเขาก็เป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ทำให้การเป็นกระแสอย่างทุกวันนี้ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ดีต่อสภาพแวดล้อมของโลกโดยรวม (แน่นอนการขุดเหมืองเพื่อมาสร้างแบตเตอรี่ยังคงเป็นปัญหาซึ่งต้องได้รับการแก้ไขต่อไป) เขาและมหาเศรษฐีคนอื่น ๆ ก็ยังเป็นแรงผลักดันช่วยให้นวัตกรรมหลายอย่างเกิดขึ้น

รายงานจากนิตยสาร Forbes ก็บอกว่ามหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยเหล่านี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการจ้างงานที่เกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างในอเมริกา เศรษฐีพันล้าน 12 คน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของพนักงานกว่า 2.3 ล้านคนทั่วโลก นอกจากนั้นเราก็เห็นตามหน้าข่าวเสมอว่าบุคคลที่ร่ำรวยทั้งหลายนั้นมักจะบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลเสมอ แม้เราอาจจะมองว่าเป็นเพราะเหตุผลทางด้านภาษีก็ตาม

แล้วไม่ดียังไงบ้าง?

ในอีกด้านหนึ่งเราเห็นภาพด้านลบตามหน้าข่าวเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐีพันล้านหลายคนอยู่บ่อย ๆ หลายคนมองว่าความมั่งคั่งในระดับนี้ได้มาจากการเอารัดเอาเปรียบพนักงานตัวเล็ก คนรวยเอาเปรียบคนรายได้น้อย ยกตัวอย่างเช่น เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอของ Amazon ที่มีมูลค่าทางทรัพย์สินมากกว่า 108,000 ล้านเหรียญในเดือนมกราคม 2023 สร้างรายได้มากกว่ารายได้เฉลี่ยของพนักงานบริษัทของ Amazon ทั้งปีภายในเวลาไม่ถึง 10 วินาที โดยสื่ออย่าง Business Insider บอกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 29,000 เหรียญ/ปีเท่านั้น (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 31,000 เหรียญ/ปีด้วยซ้ำ)

นอกจากนั้นแล้วเรายังมีเรื่องของอิทธิพลทางด้านการเมืองเกี่ยวกับกฎหมายที่อยู่เบื้องหลัง ในฐานะของมหาเศรษฐีที่มีเงินมากมาย การสนับสนุนการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่จะช่วยเอื้อต่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือเพื่อนฝูงนั้นไม่ใช่เรื่องยากเย็นนัก พวกเขาสามารถบริจาคเงินให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง เป็นแรงหนุนข้างหลังที่ผลักดันประเด็นกฎหมายต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ปีเตอร์ ธีล (Peter Thiel) ที่ออกมาสนับสนุนทางรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อย่างเต็มตัว หรืออย่าง แบงค์แมน-ฟรีด ก่อนที่ FTX จะล้มละลาย ก็เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองและรัฐบาลอยู่เสมอ เคยมอบเงินเกือบ 40 ล้านเหรียญให้กับนักการเมืองหรือกลุ่มการเมืองในช่วงเลือกตั้งกลางภาคในปี 2022 ด้วย

ซึ่งเงินบริจาคเหล่านี้จะช่วยทำให้เกิดแรงผลักภายใน เป็นมือที่มองไม่เห็น กำหนดทิศทางของกฎหมายไปในทางที่พวกเขาจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด ในท้ายที่สุดแทนที่จะเป็นรัฐบาลที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ก็กลายเป็นการปกครองโดยอำนาจของคนมีเงินเพียงไม่กี่คนเพียงเท่านั้น

แล้วยังไงต่อดี?

บางทีปัญหาที่แท้จริงภายใต้คำถามว่ามหาเศรษฐีนั้นสร้างผลบวกหรือผลลบต่อสังคมมากกว่ากันคือโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมายที่ยังคงปล่อยให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมดำเนินต่อไปและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่า สิ่งที่ควรเกิดขึ้นไม่ใช่การมานั่งถกว่าคนรวยดีหรือไม่ดีต่อสังคม แต่เป็นการวางกฎหมายให้รัดกุมและใช้มันให้เข้มงวดมากขึ้น การเก็บภาษีจากคนรวยที่ต้องเปลี่ยนแปลง สร้างระบบการศึกษาที่ดีช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กในสังคมเพื่อยกระดับทักษะแรงงานประเทศ แน่นอนว่ามันเปลี่ยนภายในวันเดียวไม่ได้ แต่อย่างน้อย ๆ ถ้าเรารู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน เราก็พอจะเห็นว่ามันยังมีทางแก้ไขได้ แค่จะมีใครหรือกลุ่มคนใดที่จะร่วมมือกันแก้ไขมันรึเปล่าเท่านั้น

========

Pew Research

NPR

Washington Post

The Guardian

Harvard

CNBC

Business Insider

The New York Times

Bloomberg

World Inequality Report

Thaipublica

Forbes