เวลาเจอช่วงหยุดยาวหลายๆวัน สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนคิดก็คือ จะเอาเงินไปพักไว้ที่ไหนดี อย่างช่วงต้นเดือนพฤษภาคมเนี่ย มีวันหยุดต่อเนื่องรวดเดียว 5 วันเต็ม ทั้งวันแรงงาน วันฉัตรมงคล และวันที่ครม. ประกาศให้เป็นวันหยุดพิเศษ ใครคิดโปรแกรมเที่ยวก็เที่ยวกันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องเงินในกระเป๋าเราก็ต้องจัดการนะ

ยิ่งหลายคนได้ปรับขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง และรับโบนัสประจำปี ก็ยิ่งมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการเหมาะสมแล้วที่เราจะเริ่มจัดพอร์ตกันตอนหน้าร้อนนี้เลย

ขออนุญาตใช้ตัวเลือกที่เป็นสินทรัพย์ที่ทุกท่านสามารถเข้าถึง และลงทุนได้่ง่ายๆ 3 ประเภทด้วยกัน

  1. ตราสารหนี้
  2. หุ้น
  3. ทองคำ

เริ่มจากตราสารหนี้นะครับ

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายจากเดิม 2.0% เหลือ 1.75% โดยให้สาเหตุว่า เศรษฐกิจไทยมีทีท่าชะลอตัว การส่งออกมีแนวโน้มโตเพียง 1% เทียบกับปีก่อนหน้า ดังนั้น การลดดอกเบี้ยก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเอง ผลของการลดดอกเบี้ยนโยบายก็คือ เงินฝากธนาคาร และตราสารหนี้ในประเทศเรา จะปรับลดผลตอบแทนลงทันที นั้นแปลว่า ผู้ออมเงิน และผู้ลงทุนในตราสารหนี้ ต้องเตรียมใจยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงไปอีกให้ได้นะครับ ดูมุมนี้ ตราสารหนี้ดูจะไม่น่าสนใจซักเท่าไหร่เนอะ

แถมถ้าดูอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี เป็นเกณฑ์ จะเจอข้อมูลที่น่าสนใจอีกอันว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย ณ ตอนนี้ ถือว่าอยู่ในโซนที่ให้ผลตอบแทนต่ำสุดในรอบหลายปีทีเดียว ดังนั้น ใครจะไปไว้ในตราสารหนี้ หรือ กองทุนรวมตราสารหนี้ยาวๆ ผมไม่แนะนำนะครับ

เราไปดูตัวที่สอง

ตราสารทุน หรือ หุ้น

ย้อนหลังกลับไปดูการคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงสงกรานต์ยาวไปจนถึงเดือน มิ.ย. 5 ปีที่ผ่านมากันหน่อยครับ

ช่วงที่ 1 คือ SET Index  เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. - มิ.ย. ปี 2010

ช่วงนั้น ในเดือน เม.ย. ตลาดหุ้นปรับฐาน ก่อนจะเด้งขึ้นในเดือน มิ.ย.

ช่วงที่ 2 คือ SET Index  เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. - มิ.ย. ปี 2011

ช่วงนั้น ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวแบบ Sideway ไม่ไปไหน ดีดขึ้นได้ในไตรมาส 3 แต่ในไตรมาส 4 เราก็เจอน้ำท่วมใหญ่

ช่วงที่ 3 คือ SET Index  เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. - มิ.ย. ปี 2012

จะเห็นว่า ตลาดหุ้นมีความผันผวน เช่นเดียวกับ 2 ปีก่อน ก่อนที่ครึ่งปีหลังจะสามารถกลับเป็นขาขึ้นได้ยาวไปจนถึงต้นปี 2013 เลยทีเดียว

ช่วงที่ 4 คือ SET Index  เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย.  มิ.ย.  ปี 2013

ปีนี้ช่วงไตรมาส 2 แตกต่างจากปี 2012 พอสมควร เพราะ SET Index พุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,649 จุด ในเดือน พ.ค. แล้วก็มีแรงเทขายรุนแรง ถ้าใครจำกันได้ ช่วงนั้น ประธานเฟดคนเก่า (Ben Bernanke) ออกมาบอกว่า จะยุติ QE ทำให้มีแรงเทขายจากนักลงทุนต่างชาติหนีกลับเข้าดอลล่าร์สหรัฐฯกันทั้งภูมิภาคทีเดียว

ช่วงที่ 5 คือ SET Index  เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. จนจบปี 2014

2014 เป็นปีที่ตรงกันข้ามกับปี 2013 เลยก็ว่าได้ เพราะตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี ขึ้นยาวจนถึงเดือน ก.ย. เรียกได้ว่า ใครสะสมหุ้นไว้ต้นปี ปลายปีก็กำไรกันถ้วนหน้า

สรุปทั้ง 5 ปี ตั้งแต่ 2010-2014 นั้น ช่วงสงกรานต์ ยาวไปถึงสิ้นเดือน มิ.ย. ของทุกปี โดยปีที่ไม่ดีนั้น เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศมากกว่าจะเป็นปัจจัยภายใน มอง 3 ปีย้อนหลังที่ผ่านมา ถ้าเดาเอาว่า ปีนี้ สหรัฐฯไม่มีอะไรมาทำให้เราตกใจ ในไตรมาส 2 นี้ ก็ถือเป็นอีกช่วงที่น่าสนใจทยอยเพิ่มพอร์ตการลงทุนในหุ้น ไม่ว่าคุณจะลงทุนหุ้นโดยตรง หรือผ่านกองทุนรวมก็ตาม

แต่ถ้าไปดูตลาดหุ้นต่างประเทศ จะพบว่า ตลาดหุ้นยุโรป และ ญี่ปุ่น นั้นทิศทางในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต่างจากตลาดหุ้นไทยที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมืองภายใน และการไหลกลับของเงิน QE อย่างมากทีเดียว

ตลาดหุ้นยุโรป

มีการประกาศนโยบาย QE เป็นครั้งแรกในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อต่อสู้กับปัญหาเฟ้อติดลบ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งผลที่จากนโยบาย QE ก็คือ ค่าเงินยูโรอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลดีกับบริษัทขนาดใหญ่ในยุโรปที่มีรายได้หลักมาจากการส่งออก

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

มีการประกาศนโยบายที่ชื่อว่า “Abenomics” ของนายกฯชินโซะ อาเบะ ซึ่งเป็นการปฎิรูปเศรษฐกิจใน 3 ส่วนคือ ปฎิรูปนโยบายการคลัง ปฎิรูปนโยบายการเงิน และปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเป้าหมายก็คือ ต้องการให้ญี่ปุ่นหลุดออกจากปัญหาเงินฝืด และเศรษฐกิจไม่โตเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง ณ ตอนนี้ เราก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากขึ้นมาตลอด

กราฟด้านล่างคือ ตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่นในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะพบว่า ปรับตัวขึ้นในระยะยาวทั้งคู่ ผลตอบแทนในอดีตอยู่ที่ 35% และ 52% ต่อ 2 ปีตามลำดับ น่าสนใจในการสะสมระยะยาวนะครับ ถ้าเราหวังว่า เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นจะดีขึ้นจากมาตรการที่มีตอนนี้ และที่จะมาอีกในอนาคต

*แต่สิ่งที่สำคัญของการไปลงทุนสองภูมิภาคนี้ก็คือ อย่าลืมป้องกันความเสี่ยงเรื่องค่าเงินนะครับ ไม่งั้น กำไรจากตลาดหุ้นมาเท่าไหร่ โดนค่าเงินกินไปหมดอดได้กำไรไม่รู้ตัว

สินทรัพย์ตัวสุดท้าย ทองคำ

ดูการเคลื่อนไหวของราคาทองในภาพใหญ่ จะเป็นว่า ยังเป็นขาลงอยู่ แถมประวัติการเคลื่อนไหวของราคาทองในช่วงสงกรานต์และหลังสงกรานต์ก็ไม่ค่อยดีด้วยสิ เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา ราคาทองไปลงแรงเอาช่วงสงกรานต์ถึง 3 ปี โดยผลตอบแทนในไตรมาส 2 ของราคาทองทั้ง 5 ปีนั้น ให้ผลตอบแทนเป็นลบทุกปี สรุปคือ ภาพใหญ่ ทองยังไม่ใช่ขาขึ้น แถมสถิติย้อนหลังก็ไม่สวยเอาซะเลย ดูแบบนี้ คงต้องหลีกเลี่ยงทองซะแล้ว

แต่ช้าก่อนครับ อย่างที่เราทราบกันว่า ราคาทองในตลาดโลก มีความสัมพันธ์เชิงผกผันกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ (หมายความว่า ถ้าค่าเงินดอลล่าร์อ่อนค่า ราคาทองจะวิ่ง และทางตรงกันข้าม ถ้าค่าเงินแข็งค่าอย่างปัจจุบัน ราคาทองจะลง)