ขอความรู้หน่อยนะคะเรื่องการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากถ้าเรามีดอกเบี้ยเงินฝากได้มากเกิน 2 หมื่นบาท 1 บัญชี ส่วนอีกบัญชีเราไม่เกินเราจะถูกคิดภาษี 15% ทั้ง 2 บัญชีเลยหรอคะ

อันนี้ตอบสั้นๆเลยว่า "ใช่ครับ" เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่าดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมกันทุกธนาคารเกิน 20,000 บาทต้องเสียภาษี โดยที่ไม่ได้ดูแต่ละธนาคาร ซึ่งตรงนี้หลายคนมักเข้าใจผิดกันบ่อยๆครับ

โดยหลักการของการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์นี้ จะดูที่จำนวนเงินที่ได้รับทั้งหมดเป็นหลัก ไม่ใช่ดูจากธนาคาร ดังนั้นถ้าหากเกิน 20,000 บาทก็ต้องเสียภาษีครับ และเสียภาษีจากยอดตั้งแต่บาทแรก นั่นคือ ธนาคารจะหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับ และทางผู้เสียภาษีอย่างเราก็มีสิทธิเลือกว่าจะเสียแล้วจบ (Final TAX) หรือเอามารวมคำนวณภาษีสำหรับปีนั้นก็ได้เช่นเดียวกันครับ

อัพเดท ดอกเบี้ยออมทรัพย์ การหักภาษี และธนาคารส่งข้อมูลบัญชีเราให้สรรพากร

ไหนๆพูดถึงเรื่องนี้แล้ว ขออัพเดทเพิ่มเติมเรื่องของ ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์กับการส่งข้อมูลบัญชีให้สรรพากรสักหน่อยครับ

เดิมตั้งแต่แรก กฎหมายให้สิทธิยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาทไว้อยู่ ซึ่งถ้าตีความกฎหมายกันจริงๆ มันหมายถึง ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ "รวมกันทุกธนาคาร" แต่เนื่องจากธนาคารไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกัน มันก็เลยแยกกันดูธนาคารใครธนาคารมันกันไป ทำให้หลายคนใช้ช่องว่างกฎหมายตรงนี้มาทำประโยชน์ให้ตัวเอง นั่นคือ มีดอกเบี้ยออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทแต่ไม่ยอมเสียภาษี

แต่ทีนี้ กฎหมายใหม่ออกมาบอกว่า ธนาคารต้องส่งข้อมูลการคิดดอกเบี้ยและการจ่ายดอกเบี้ยออมทรัพย์ให้สรรพากรปีละ 4 ครั้ง นั่นแปลว่าต่อจากนี้สรรพากรจะรู้ว่าใครกันน้อ ที่มีเงินฝากเยอะ หลายบัญชี ดอกเบี้ยออมทรัพย์ได้รับเกิน 20,000 บาท แต่ดันไม่ถูกหักภาษีไว้บ้าง กลุ่มนี้ควรจะต้องถูกหักภาษีไว้ทั้งหมด

ดังนั้น สิ่งที่เพิ่มเติม คือ ต้องยินยอมกับธนาคารให้ส่งข้อมูลการคำนวณและจ่ายดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กับกรมสรรพากร โดยวิธียินยอม คือ อยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไร เดี๋ยวธนาคารจะเข้าใจและแจ้งไปให้เอง แล้วเราก็ได้สิทธิยกเว้นภาษีตามเดิม

แต่ถ้าใครไม่ยินยอมให้แจ้งข้อมูลกับทางธนาคาร จะไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ 20,000 บาท โดยต้องกรอกแบบฟอร์มเพื่อแจ้งกับธนาคารตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป แจ้งครั้งเดียวจบครับผม แต่ต้องแจ้งทุกธนาคารที่เรามีบัญชีนะครับ แล้วธนาคารจะหักภาษี 15% จากดอกเบี้ยที่ได้รับ โดยไม่สนใจว่าจะถึง 20,000 บาทหรือไม่

อย่างที่บอกไว้ว่า การหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 15% เป็นเงื่อนไขของกฎหมายตามปกติ ซึ่งสามารถเลือกใช้สิทธิไม่รวมคำนวณภาษีปลายปีได้ แต่ถ้าไม่ถูกหักภาษีไว้ จะต้องนำมารวมคำนวณภาษีปลายปีด้วย

นอกจากนั้นทางฝั่งสรรพากรยังเน้นว่า ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบหรอก มันเป็นข้อมูลเฉพาะดอกเบี้ยออมทรัพย์เท่านั้น ไม่ได้จะมาดูรายละเอียดข้อมูลทั้งหมด และคนที่กลัวเรื่องส่งข้อมูลทั้งหลาย จ่ายเงินสดต่างๆ สรรพากรบอกเลยว่ายังมีข้อมูลอีกมากมายจะใช้ตรวจสอบได้ในอนาคต ดังนั้นทำความเข้าใจให้ดีและแก้ไขให้ถูกต้องดีกว่าครับ

สรุปสุดท้ายอีกที สิ่งที่พรี่หนอมมักจะพูดบ่อยๆ ในเรื่องนี้ คือ

บางทีปัญหาไม่ใช่เรื่องของดอกเบี้ยกับการเสียภาษี
แต่มันกลายเป็นว่าเราไม่มีเงินฝากต่างหากจ้า