ภาษีอีเพย์เมนต์เริ่มใช้เมื่อไร บังคับยังไง? มีอะไรต้องรู้บ้าง

พี่หนอมครับ/คะ พอดีว่าอยากรู้เรื่องของภาษีอีเพย์เมนต์เยอะแยะเลย ตั้งแต่ ภาษีอีเพย์เม้นต์ เริ่มใช้เมื่อไร เก็บภาษีจริงไหม ถ้าโอนเงินเกิน 8 ครั้งต่อวันจะเป็นอะไรหรือเปล่า มันเกี่ยวกับ 3,000 ครั้ง กับ 400 ครั้งและ 2 ล้านบาทไหม? และคำถามอื่นๆอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ครับ 

1. ภาษีอีเพย์เมนต์คืออะไร?

ตอบ : ไม่มีกฎหมายชื่อภาษีอีเพย์เมนต์นะครับ มีแต่กฎหมายแก้ไขประมวลรัษฏากร ให้สถาบันการเงินส่งข้อมูลบัญชีธนาคารที่เข้าเงื่อนไข (เรียกว่า ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ) ให้กับกรมสรรพากร 

2. กฎหมายฉบับนี้ กำหนดอะไรยังไง?

ตอบ : กำหนดให้ธนาคาร สถาบันการเงิน และผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ E-wallet ต่างๆ แต่ละแห่งรับผิดชอบข้อมูลลูกค้าของตัวเอง ไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกัน ให้ส่งข้อมูลที่เข้าเงื่อนไขธุรกรรมลักษณะเฉพาะเป็นรายปี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ถ้าบุคคลใดๆ มียอดเงินเข้าบัญชีทุกบัญชีในแต่ละธนาคารเป็นแบบนี้ ถึงจะถูกส่งข้อมูลให้กับทางกรมสรรพากร ถ้าไม่ถึงแปลว่าไม่ถูกส่งข้อมูลครับ

- ยอดเงินเข้าบัญชี "ตั้งแต่" 3,000 ครั้งขึ้นไป ไม่สนใจจำนวนเงิน
- ยอดเงินเข้าบัญชี "ตั้งแต่" 400 ครั้งขึ้นไป และยอดรวม 2 ล้าน

โดยคำว่า ยอดเงินเข้าบัญชี ถ้าตีความตามกฎหมาย คำว่า “ฝากหรือรับโอนเงิน” จะหมายความว่ารวมรายการเข้าทั้งหมด ซึ่งหมายถึง

1. ยอดเงิน/ยอดฝากที่เข้าบัญชีทุกประเภท ถูกนับหมด
2. โอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง ต่างธนาคารหรือธนาคารเดียวกันก็นับ
3. ฝากเงินเข้าบัญชีผ่านเคาน์เตอร์ เครื่องฝากเงินสด ก็นับ
4. โอนเข้าบัญชีแบบ Auto Transfer / Online / Ibanking ก็นับ
5. ฝากเงินเปิดบัญชีครั้งแรก ก็ยังนับด้วย

อย่าลืมว่า แต่ละธนาคารรับผิดชอบเฉพาะข้อมูลตัวเองเท่านั้น นั่นคือ ทุกบัญชีของบุคคลนั้นๆ ที่มีชื่ออยู่ในปีนั้น (รวมบัญชีที่ปิดด้วย)

ซึ่งข้อมูลที่ธนาคารส่งให้สรรพากรส่งประกอบด้วยรายการต่อไปนี้

(1) บัตรประชาชน ชื่อ นามสกุล
(2) เลขที่บัญชีเงินฝากที่เกี่ยวข้อง
(3) จำนวนครั้ง
(4) จำนวนเงินรวมทั้งหมด

และที่สำคัญ ข้อมูลทั้งหมดนี้ส่งเป็นรายปี สรุปรวมรวดเดียว ไม่ลงรายละเอียดของการรับฝากเงินแต่ละรายการ

3. ภาษีอีเพย์เมนต์เริ่มบังคับใช้เมื่อไร?

ตอบ : กฎหมายกำหนดว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2562 ส่งครั้งแรกให้สรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่กฎหมายบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562  

โดยหลักการแล้วกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้นสถานการณ์ที่แย่ที่สุดน่าจะเริ่มตั้งแต่ 21 มีนาคม 2562 นี่แหละ แต่ก็มีหลายคนสงสัยว่าจะเริ่มเมื่อไร วันไหนกันแน่ เพราะรู้สึกไม่สบายใจตลอดมา

ถ้าลองวิเคราะห์ดูจากแนวโน้มที่ผ่านมา จะเห็นว่า เริ่มจากตอนช่วงเดือนมกราคม กรมสรรพากรเคยออกมาแถลงว่า กฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 และจะมีผลต่อการยื่นแบบเสียภาษีในปี 2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขรายละเอียดในการดำเนินงาน และหลังจากที่กฎหมายออกมา ก็ยังมีอีกข่าวหนึ่งตามออกมา นั่นคือ กรมสรรพากรจะเริ่มนับรายการตั้งแต่วันที่มีประกาศแนวปฏิบัติออกไป ซึ่งอาจจะในอีก 1-3 เดือนหลังจากนี้ ดังนั้นพอจะสบายใจได้ครับว่าน่าจะเกิดหลังจากที่กฎหมายใช้บังคับ (อ้างอิง : https://www.prachachat.net/finance/news-306011)

มาถึงตรงนี้ ประเด็นสำคัญที่เราจะเชื่อมโยงได้ คือกลับไปดูที่ตัวกฎหมาย ซึ่งมาตรา 6 ของกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้มีการออกกฎหมายลูกออกมาภายใน 180 วันหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

ถ้าหากลองนับวันตามกฎหมาย แล้วจะพบว่า ตอนช่วงต้นเดือนตุลาคม (ณ วันที่เขียนบทความนี้) ยังไม่มีกฎหมายออกมาเลยด้วยซ้ำ นั่นคืออีกสัญญาหนึ่งที่บอกว่า กฎหมายฉบับนี้จะมีการบังคับใช้ช้ากว่าที่ควรจะเป็นครับ

จะเห็นว่าโอกาสสำคัญที่จะตอบได้ชัดๆ ว่าจะเริ่มใช้เมื่อไรนั้น อยู่ที่กฎหมายลูกจะออกมาเมื่อไร ซึ่งนับเวลาก็เหลือเพียง 3 เดือนหลังจากนี้ อาจจะออกมาเดือนตุลา พฤศจิกายน หรือธันวาคมก็ได้

4. ถ้าไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไม่เก็บหลักฐานเลย ทำยังไงดี 

ตอบ : กลับไปทำให้ถูกต้อง หลักการสำคัญที่สุดของเรื่องนี้ไ่ม่ใช่การถูกส่งข้อมูลให้สรรพากร แต่คือเรามีข้อมูลถูกต้องในการนำส่งภาษีหรือพิสูจน์ตัวเองหรือไม่?

5. ผมจะถูกตรวจสอบภาษีไหม โพสรูปบ่อย ๆสลิปปลอม สร้างหลักฐานความน่าเชื่อถือแบบนี้ถูกไหม สรรพากรจะรู้หรือเปล่า?

ตอบ : ทุกอย่างเกิดตามหลักการของข้อเท็จจริง การสร้างรายการปลอมมีผลต่อความน่าเชื่อถือของร้าน แต่หลักฐานทุกอย่างก็ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง แต่โดยหลักการแล้วเราไม่ควรหลอกลวงลูกค้า

6. ทำแฟนเพจบ่อยๆ อัพเดททุกวันแบบนี้สรรพากรจะคิดว่าเราขายดีใช่ไหม การโพสรูปสินค้ามากๆ มีผลต่อการตรวจสอบของสรรพากรมั้ยคะ เนื่องจากไม่มีหน้าร้าน เลยพยายามลงรูปสินค้าและบริการที่ลูกค้าได้ซื้อไปมาลงตามโซเชียลบ่อยๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือค่ะ มันควรทำไหม? 

ตอบ : สามารถทำได้ตามปกติเลยครับ หากทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และข้อมูลที่เรามี 

7. คุณหนอมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้แฟร์ไหม เก็บข้อมูลเรายังไง เราจะต้องทำยังไงบ้างเพื่อป้องกัน ? 

ตอบ : ใช้ชีวิตตามปกติไปครับ เน้นสำคัญตรงที่การเก็บข้อมูลให้ถูกต้องดีกว่า เพราะไม่ว่ากฎหมายจะแฟร์หรือไม่แฟร์ สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือกฎหมาย ต่อให้เราบ่นว่าไม่แฟร์ไป ก็ไม่ได้แปลว่ากฎหมายฉบับนี้จะยกเลิกให้ 

บทสรุปสุดท้าย ณ วันนี้ พรี่หนอมได้ยินหลายคนบอกว่าดีใจที่กฎหมายยังไม่ออกมา แต่สิ่งที่ต้องถามตัวเองต่อก็คือว่า แล้วเราเตรียมตัวพร้อมหรือยังกับเหตุการณ์ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ เราได้มีการจัดการบัญชีได้อย่างถูกต้อง เตรียมพร้อมจะเสียภาษีแล้วหรือยัง

เพราะว่าการที่เราไม่ได้เตรียมตัว มัวแต่ดีใจว่ากฎหมายไม่ใช้ปีนี้ แต่อย่างไรก็ดี ปีหน้าเจอกันแน่ๆอยู่่ดี ดังนั้นเตรียมตัวให้พร้อมเสียดีกว่าครับผม

ไม่ว่ากฎหมายจะเป็นอย่างไร
เราไม่ควรชะล่าใจจนลืมเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองนะครับ