ถ้าจะวางแผนภาษี โดยกระจายรายได้ให้คนอื่นรับแทนได้ไหม?

ขอสอบถามหน่อยครับ ผมมีอาชีพเป็นฟรีแลนซ์ครับ พอดีว่าปีที่ผ่านมาผมรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท เลยโดนเรียกให้ไปจด VAT7% ซึ่งต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้สรรพากรทุกเดือน

ทีนี้ผมเพิ่งแต่งงานจดทะเบียนสมรส ผมจะเอารายได้บางส่วนของผม ให้คนจ้างจ่ายในนามภรรยา ซึ่งจะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% แทนได้ไหม? และเมื่อถึงเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผมจะใช้ยื่นในชื่อภรรยาเลยได้ไหมครับ เพราะผมไม่อยากเสีย VAT7% ให้เปลือง และเหมือนเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายไปในตัว

โดยส่วนของภรรยาผมจะพยายามคุมไม่ให้รายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปีด้วยครับ ถ้าผมทำแบบนี้สามารถทำได้หรือป่าวครับ จะผิดกฎหมายไหม?

จากคำถามทั้งหมดนี้ต้องแยกประเด็นออกเป็น 2 เรื่องครับ

โอเค... เราแยกประเด็นทีละเรื่องกันก่อนนะครับ ประเด็นแรก คือ เราสามารถกระจายรายได้ให้คนอื่นรับแทนได้ไหม คำตอบคือ ทำได้ครับแต่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงภาษีอย่างชัดเจน (ผู้ที่รับเงินได้มาเสียภาษีไม่ใช่ผู้ที่มีรายได้จริง) ซึ่งตรงนี้มีความเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบโดยสรรพากรได้ ซึ่งถ้าโดนก็หนักแน่นอนครับ

โดยสรุปประเด็นทั้งหมดของเรื่องนี้ ผมอยากบอกว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า เราสามารถกระจายรายได้ให้คนอื่นรับแทนได้โดยที่ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่เสี่ยงมากๆเลยครับ

ในคำแนะนำของพรี่หนอม ขอตอบว่าไม่แนะนำวิธีนี้
แต่แนะนำให้เสียภาษีให้ถูกต้องดีกว่าครับผม

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ถ้ารายได้ (ก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ) เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และกิจการที่ทำอยู่ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย ทางกิจการมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันใ้ห้ถูกต้องด้วยนะครับ ไม่งั้นจะเป็นปัญหาตามมาได้เช่นเดียวกันครับผม 

โดยปกติแล้วรายได้ลักษณะงานแบบฟรีแลนซ์จะไม่ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นแปลว่า มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ซึ่งความวุ่นวายของเรื่องนี้จะมีประเด็นตามมาอยู่ 2 ประเด็นทันที คือ

1. ขึ้นราคาค่าบริการได้ไหม?

เนื่องจากรายได้ต้องมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไป 7% เพื่อเรียกเก็บจากลูกค้าในส่วนนี้ ถ้าหากบวกเพิ่มไม่ได้ แปลว่ารายได้เราจะลดลงไปเนืองจากส่วนหนึ่งมีภาษีมูลค่าเพิ่มปนอยู่

เช่น ถ้ารับงานที่ราคา 20,000 บาท ต้องเรียกเก็บลูกค้าเป็น 21,400 บาท ซึ่ง 1,400 บาทนี่คือภาษีขายที่เราต้องเอาไปหักจากภาษีซื้อ (อ่านเพิ่มเติมในข้อ 2) เพื่อนำส่งให้กับสรรพากร แต่ถ้าหากไม่สามารถขึ้นได้ 20,000 บาทนี้จะกลายเป็นรายได้เรา 18,691.58 บาท และมีภาษีขายจำนวน 1,308.42 บาท ซึ่งแปลว่ารายได้ของเรานั้นลดลงไป 

2. เรามีภาษีซื้อมาใช้หรือเปล่า?

หลักการของภาษีมูลค่าเพิ่มแบบสั้นๆ คือ ผู้ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีหน้าที่สรุปยอดภาษีทุกเดือนนำส่งให้สรรพากร โดยนำ ภาษีขาย (ที่เราออกให้ลูกค้า) - ภาษีซื้อ (ที่เรารับมาจากผู้ขาย) แต่ประเด็นของฟรีแลนซ์แบบนี้ คือ ไม่มียอดภาษีซื้อมาใช้เท่าไร เนื่องจากต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนตัวเองเป็นหลัก ซึ่งทำให้ต้องรับภาระภาษีขาย ดังนั้นถ้าไม่สามารถเรียกเก็บจากลูกค้าได้จะลำบากมากขึ้นครับ

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปครับ บางทีถ้ารายได้เยอะ อาจจะย้ายไปจดบริษัทแทนดีกว่าไหม? เพื่อให้สามารถใช้ต้นทุนและรายจ่ายได้เต็มจำนวน ซึ่งตรงนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลรายได้ต่างๆที่เกิดขึ้นครับ หรือถ้าหากอนาคตมียอดรายได้ในแต่ละปีไม่ถึง 1.8ล้านบาทติดต่อกันเกิน 3 ปีก็สามารถขอออกจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกันครับ

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่อยากจะฝากไว้ก็คือ การบริหารจัดการภาษีสำหรับฟรีแลนซ์เป็นเรื่องที่สำคัญครับ ดังนั้นอย่าประมาทและทำผิดกฎหมาย

เพราะสุดท้ายจะเหนื่อยมากกว่าเก่าแน่นอนครับ ;)