เราเติมน้ำมันครั้งล่าสุดกันกี่บาท แล้วเติม 1 ครั้งอยู่ได้กันกี่วันบ้าง? ตอนนี้ราคาน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เงินที่มาจากการทำงานหมดไปกับการเติมน้ำมัน ซึ่งรถเราอาจจะเก่าทำให้กินน้ำมัน ไม่ประหยัดเหมือนรถรุ่นใหม่ ๆ แถมช่วงนี้โรงเรียนเปิดเทอม พนักงานออฟฟิศก็ไม่ WFH กันแล้ว ทำให้คนกลับมาใช้รถใช้ถนนกันมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหารถติดต้องเสียค่าน้ำมันเยอะขึ้นไปอีก เมื่อเราต้องการจะประหยัดจากค่าใช้จ่ายส่วนนี้ การเลือกซื้อรถยนต์คันใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า EV จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่แม้ทุกคนจะรู้กันดีอยู่แล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้า EV นั้นช่วยเราประหยัดได้ขนาดไหน ก็ยังไม่สามารถตัดสินใจซื้อได้เลย เพราะไม่รู้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า EV ต้องทำ ‘ประกันภัยภาคบังคับ’ หรือไม่? เราจึงมีคำตอบมาฝากกัน

แต่ก่อนที่เราจะไปดูคำตอบว่า รถยนต์ไฟฟ้า EV ต้องทำประกันภัยภาคบังคับหรือไม่นั้น เราขอพาทุกคนไปดูวิธีประหยัดน้ำมันอื่น ๆ กันก่อน ซึ่งจะมีวิธีไหนบ้างไปดูเลย

2 วิธีประหยัดน้ำมัน ในยุคน้ำมันแพง

1. รถยนต์คันเดิมก็ประหยัดได้ 

รถยนต์ที่เราใช้อยู่หากไม่มีระบบประหยัดน้ำมัน เราก็ยังพอมีทางประหยัดน้ำมันได้ ด้วยการ ‘ปรับพฤติกรรม’ ในการใช้งานรถยนต์ เช่น ไม่ขนสัมภาระจำนวนมากหรือหนักเกินไป เพื่อไม่ให้ต้องใช้กำลังจากเครื่องยนต์เท่าเดิมในการลากตัวถังที่หนัก หรือการดูแลยางรถให้มีความดันลมยางที่เหมาะสมอยู่เสมอ เพราะหากความดันลมยางต่ำจะสิ้นเปลืองน้ำมันเพิ่มขึ้น 2% เลยทีเดียว นอกจากนี้ เรายังควรใช้เกรดน้ำมันเครื่องตามที่แนะนำ เพื่อเพิ่มระยะทางต่อการใช้เชื้อเพลิงได้ 1-2% และที่สำคัญที่สุดในการขับขี่รถยนต์ เราควรจะขับรถด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เพื่อจะช่วยประหยัดน้ำมันได้ 25% เลยทีเดียว

2. ใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% เพื่อการประหยัดได้มากกว่าไปเลย

สำหรับใครที่คิดว่าการประหยัดน้ำมันด้วยวิธีการปรับพฤติกรรมนั้นยุ่งยาก หรือประหยัดน้ำมันได้น้อยเกินไป ก็สามารถพิจารณาซื้อรถยนต์ไฟฟ้า EV กันได้เลย แต่สำหรับใครที่รอคำตอบว่า รถยนต์ไฟฟ้า EV ต้องทำประกันภัยภาคบังคับหรือไม่ ก่อนอื่นเราขอพาทุกคนไปรู้จักประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) กันก่อน

ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 

มีบทบาทช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถทางด้านความเสียหายต่อชีวิตและร่างกาย กรณีบาดเจ็บ ทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และเสียชีวิตเท่านั้น โดยจะคุ้มครองไม่ว่าจะเป็นคนขับรถ ผู้โดยสาร หรือคนเดินเท้าบนท้องถนนทั่วไป

สำหรับผู้ที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้า EV จะต้องทำประกันภัยภาคบังคับหรือไม่ คำตอบคือ ‘ต้องทำ’ เพราะกฎหมายบังคับไว้ หากเข้าข่ายว่ารถนั้นเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ หรือกำลังไฟฟ้า รวมถึงพลังงานอื่น ถือว่าเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเราจะได้รับความคุ้มครองอะไรบ้างจากประกันภัยภาคบังคับนั้นไปดูกันเลย

ความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

1. จำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 

โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอค่าเสียหาย ดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บ (ตามจริง) ไม่เกิน 30,000 บาท
  • การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร ได้รับค่าสินไหมทดแทน 35,000 บาท (ตาบอด หูหนวก, เป็นใบ้หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด, สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์, เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว, เสียอวัยวะอื่นใด, จิตพิการอย่างติดตัว) 

2. ค่าเสียหายส่วนที่เกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น สำหรับผู้ประสบภัย 

จะได้รับภายหลังจากการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นฝ่ายละเมิด ดังนี้

  • ค่ารักษาพยาบาล จากการบาดเจ็บตามจริงไม่เกิน 80,000 บาท
  • เสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ได้รับค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท
  • สูญเสียอวัยวะ ตา มือ แขน ขา เท้า (2 ข้าง หรือ 2 ส่วนขึ้นไป) ได้รับค่าสินไหมทดแทน 500,000บาท
  • สูญเสียอวัยวะในร่างกาย 1 ส่วน (มือหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อมือ หรือแขนหนึ่งข้าง หรือเท้าหนึ่งข้างตั้งแต่ข้อเท้า หรือขาหนึ่งข้าง หรือตาบอดหนึ่งข้าง) กรณีใดกรณีหนึ่ง จ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาท
  • สูญเสียอวัยวะอื่นใด ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของผู้ประสบภัย (การสูญเสีย ม้าม ปอด ตับ ไต ฟันแท้ทั้งซี่ตั้งแต่ 5 ซี่ ขึ้นไป หรือกรณีกะโหลกศีรษะถูกทำให้เสียหาย เป็นเหตุให้ต้องใช้กะโหลกเทียม เป็นต้น) จ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาท
  • หูหนวก เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์ จิตพิการอย่างติดตัว 
    (โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนอย่างติดตัว) จ่ายค่าสินไหมทดแทน 250,000 บาท
  • สูญเสียนิ้ว ตั้งแต่ข้อนิ้วขึ้นไป นิ้วเดียว หรือหลายนิ้ว จ่ายค่าสินไหมทดแทน 200,000 บาท
  • ค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน กรณีนอนโรงพยาบาลเป็นคนไข้ใน ตามจริงสูงสุดรวมไม่เกิน 20 วัน 

สำหรับผู้ที่สนใจรถยนต์ไฟฟ้า EV ก็ได้คำตอบกันไปแล้วว่า เราจะต้องทำประกันภัยภาคบังคับตามที่กฏหมายกำหนด ส่วนประกันภัยอื่น ๆ อย่าง ‘ประกันภัยภาคสมัครใจ’ แม้จะไม่ได้มีกฎหมายกำหนดไว้ แต่ผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเราก็สามารถใช้ประกันภัยภาคสมัครใจนี้เพิ่มความอุ่นใจมากขึ้นได้ ซึ่งประกันภัยภาคสมัครใจนี้มีหลากหลายประเภท และหลากหลายความคุ้มครอง เราได้รวบรวมข้อมูลประกันภัยภาคสมัครใจนี้มาให้ลองพิจารณากัน

ประกันภัยภาคสมัครใจ 

คนที่เจ้าของรถยนต์ทั่วไปหรือรถยนต์ไฟฟ้า EV จะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้เช่นกัน เนื่องจากกฏหมายไม่ได้บังคับ โดยปัจจุบันการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่เป็นมาตรฐานแบ่งความคุ้มครองได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่

  • ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (Comprehensive)

ให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย, คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก, คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์, คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์

  • ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 (Third Party Liability, Fire and Theft)

ให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย, คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก, คุ้มครองการสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์

  • ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 (Third Party Liability)

ให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก รวมถึงผู้โดยสารในรถยนต์คันเอาประกันภัย, คุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก

  • ประกันภัยรถยนต์ประเภท 4 (Third Party Property Damage Only)

ให้ความคุ้มครองต่อบุคคลภายนอกเท่านั้น โดยคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 100,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง

  • ประกันภัยรถยนต์ประเภท 5 มี 2 แบบ คือ
  1. แบบประกัน 2 พลัส (2+) โดยจะให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายเช่นเดียวกับประกันภัยประเภท 2 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกและต้องมีคู่กรณี 
  2. แบบประกัน 3 พลัส (3+) ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายเช่นเดียวกับประกันภัยประเภท 3 แต่เพิ่มความรับผิดต่อความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีที่ชนกับยานพาหนะทางบกและต้องมีคู่กรณี 

การทำ ‘ประกันภัย’ จะช่วยให้เรามั่นใจเมื่ออยู่บนท้องถนนมากขึ้น ดังนั้น เราห้ามละเลยการทำประกันภัยเด็ดขาด!! โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ โดยประกันภัยที่เราเลือกต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. 

หากมีข้อสอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการติดต่อหน่วยงานที่ดูแลด้านประกันภัย ติดต่อ สำนักงาน คปภ. 

>> เว็บไซต์ : www.oic.or.th 

>> LINE @OICConnect

>> สายด่วนประกันภัย 1186

บทความนี้เป็น Advertorial