คงเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนทั่วไปนะครับ ที่ใครก็อยากรวย เหตุผลก็คือ อยากมีชีวิตที่สุขสบาย มีกินมีใช้ไม่ขัดสน เกิดปัญหาใช้เงินแก้ได้ไม่เดือดร้อน และเผื่อไว้ใช้ยามแก่ชราหรือเมื่อใดก็ตามที่เราหยุดทำงาน จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ถ้าสังเกตดีๆก็จะเห็นว่า ระยะหลังๆ คำว่า “มั่งคั่ง” เริ่มถูกนำมาใช้กันกว้างขวางจนเราคุ้นหูมากขึ้น บางที่ก็เห็นใช้เรียกทับศัพท์ แทนคำว่า รวย ไปเลย แต่บางที่ก็ให้ความหมายที่แตกต่างกัน

เอ๊ะ! ตกลงแล้ว "ความร่ำรวย (Richness)" กับ "ความมั่งคั่ง (Wealth)" นี่มันเหมือนกันรึเปล่า? หรือว่ามั่งคั่ง ก็มีความหมายไม่ต่างจาก รวย แต่เรียกให้ฟังดูดีขึ้น? หรือจริงๆแล้ว มันมีความหมายที่แท้จริงแตกต่างกันอย่างลึกซึ้งกันแน่?

ซึ่งถ้าเราลองค้นหาความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จะให้ความหมายของคำว่า “รวย” หรือ ร่ำรวย และ “มั่งคั่ง” ไว้ดังนี้

“รวย” (ก.) ได้มาก เช่น วันนี้รวยปลา, มีมาก เช่น รวยทรัพย์ รวยที่ดิน
(ส่วน ร่ำรวย แปลว่า รวยมาก 555)

“มั่งคั่ง” (ว.) มีทรัพย์มากมาย, มีทรัพย์ล้นเหลือ, มีทรัพย์มาก

จะเห็นได้ว่า พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะให้ความหมายของคำว่า รวย ไว้อย่างกว้างๆ และเป็นคำกริยา เทียบเท่ากับคำว่าได้มาก หรือมีมาก ซึ่งจะเป็นในเรื่องอะไรก็ได้ (เช่น ฉันรวยเพื่อน = ฉันมีเพื่อนมาก) ขณะที่คำว่า มั่งคั่ง จะเฉพาะเจาะกับเรื่องของทรัพย์สินมากกว่า และเป็นคำวิเศษณ์ (ขยายคำนาม) (เช่น ฉันเป็นคนมั่งคั่ง = ฉันเป็นคนที่มีทรัพย์มาก : คำว่า มั่งคั่ง ขยายลักษณะของคำว่า คน)

ถ้าเรายึดตามนี้ ก็แปลว่า ถ้าเราใช้คำว่า รวย หรือร่ำรวย กับทรัพย์สิน ก็จะมีความหมายไม่ต่างจากคำว่า มั่งคั่ง เลย คือ ฉันรวยทรัพย์สิน = ฉันเป็นคนมั่งคั่ง (แปลว่า ฉันมีทรัพย์สินมากนั่นแหละ)

ขณะเดียวกัน จากหลักสูตรของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ก็จะมีการใช้คำอีกคำหนึ่ง นั่นก็คือคำว่า “ความมั่งคั่งสุทธิ” (Net Worth) เข้ามาพิจารณาความมั่งคั่งที่แท้จริงของคนเราด้วย เพราะมาจากแนวคิดที่ว่า เราจะตัดสินว่าคนคนนี้รวย หรือมั่งคั่ง โดยดูแค่ว่าเขามีทรัพย์สินที่มีมูลค่ามาก (เช่น รถแพงๆ บ้านหรูๆ) อย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะบางที บ้านหรือรถแพงๆ ที่เห็นนั่น เบื้องหลังเขาอาจจะยืมเงินคนอื่นมาซื้อ (ด้วยการกู้ หรือยอมเป็นหนี้มา) ก็ได้ ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่ารวยจริงไหม ก็ต้องวัดจาก “ความมั่งคั่งสุทธิ” โดยเอา มูลค่าทรัพย์สินที่มี หักด้วย มูลค่าหนี้สินทั้งหมด ซะก่อน ถึงจะเห็นว่า มูลค่าทรัพย์สินที่เป็นของเราจริงๆ นั้นมีอยู่เท่าไหร่ นั่นต่างหาก คือความมั่งคั่ง หรือร่ำรวย ของจริง

อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้ก็ยังถือว่า ใช้คำว่า มั่งคั่ง กับ ร่ำรวย ในความหมายเดียวกันอยู่ แต่ถ้าพิจารณาความหมายในเชิงที่ลึกซึ้งกว่านั้น ไม่ได้แปลความหมายอย่างตรงตัว อย่างที่พจนานุกรม หรือการวางแผนการเงินใช้ เราอาจจะได้เห็นว่า คำว่า รวย นั้น มีความหมายที่แตกต่างจากคำว่า มั่งคั่ง พอสมควร

ซึ่งจากการที่ผมศึกษามาจากหลายๆที่ ทั้งจากในหนังสือ และจากผู้คนที่คิดว่าตัวเองมั่งคั่ง หรือร่ำรวย รวมถึงเมื่อได้ลงมือทำเอง จนได้เรียนรู้มากขึ้น ผมก็ขอสรุปจุดสำคัญ ที่ทำให้ความหมายของคำว่า รวย กับคำว่า มั่งคั่ง แตกต่างกัน ในความเห็นของผมเอง (แบบที่อาจจะไม่ตรงกับสำนักไหน) ไว้ดังนี้

คำว่า “รวย” หรือ “ร่ำรวย” นั้น โดยทั่วไปจากความรู้สึกของเรา เรามักจะใช้กับทรัพย์สิน เป็นหลัก และเรามักจะรู้สึกว่า คนรวย คือคนที่มีทรัพย์สินมาก หรือต่อให้หักหนี้สินแล้ว ก็ยังมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่เป็นของเขามากอยู่ดี หรือพูดง่ายๆก็คือ รวย = มีเงิน / มีทรัพย์สินเยอะ (แต่เท่าไหร่ ถึงจะเยอะ ก็แล้วแต่ความรู้สึกของแต่ละคน)

ขณะที่ “มั่งคั่ง” นั้น อาจจะมองภาพที่กว้างกว่า และไกลกว่าแค่เรื่องของทรัพย์สินเงินทอง มันอาจจะเกี่ยวข้องทั้งเรื่องของ ทรัพย์สิน, สุขภาพ, ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือกับครอบครัว, คุณค่าของตัวเรา, เวลา และ ความสุข ที่มี ว่าคนที่มั่งคั่งนั้น คือ คนที่มีทั้งทรัพย์สินมากพอที่จะใช้ได้อย่างไม่ขัดสน มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีความสัมพันธ์กับคนอื่นที่ดี มีครอบครัวที่อบอุ่น เป็นคนที่มีมูลค่าในตัวเองสูง เพราะได้ทำในสิ่งที่สร้างคุณค่าที่มีประโยชน์ให้กับผู้อื่น และมีเวลาเหลือมากพอที่จะไปทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทั้งหมดจะเป็นภาพรวมของชีวิตที่มีความสุข

ถ้าจะให้สรุปความหมายทั้งหมดของคำว่า มั่งคั่ง มาเหลือแค่ 1 คำ ผมคิดว่ามันคงเป็นคำว่า “อิสรภาพ” ซึ่งหมายถึง การที่เรา “มีความสามารถที่จะเลือก” ได้อย่างที่เราต้องการ คนที่มั่งคั่ง จึงคือ คนที่มีความสามารถที่จะเลือกได้อย่างอิสระ ว่าอยากจะใช้ชีวิตแบบไหน กินอยู่ยังไง ทำ หรือไม่ต้องทำอะไรในแต่ละวัน จะใช้เวลาอยู่ที่ไหน กับใคร ก็เลือกได้อย่างที่ต้องการ โดยไม่ต้องถูกผูกมัดกับภาระทางการงาน เงิน หรือเวลา ใกล้เคียงกับคำว่า “มีอิสรภาพทางการเงิน” (แต่อาจจะต่างกันตรงที่ อิสรภาพทางการเงิน คือมองเรื่องของการปลดล็อคพันธะทางการเงินเป็นหลัก แต่ความมั่งคั่ง จะมองบริบทอื่นๆด้วย) ซึ่งอาจจะต่างจาก คนที่ร่ำรวย เพราะถึงแม้จะมีเงินมาก แต่ก็อาจจะต้องทำงานหนักไปตลอด มีความรับผิดชอบในหน้าที่บางอย่าง ไม่สามารถเลือกที่จะหยุดได้ง่ายๆ เหมือนคนที่ขี่หลังเสือแล้วก็มักจะลงยาก ผลที่ตามมาก็คือ ไม่มีเวลาพักผ่อน เครียด สุขภาพร่างกายก็แย่ ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว ความสัมพันธ์ก็แย่ ทำให้แม้จะมีเงินมาก ไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ก็อาจจะไม่มีชีวิตที่มีความสุขมากนัก

ดังนั้น ความร่ำรวย จึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งของความมั่งคั่ง เท่านั้น และผมก็เชื่อว่า ถ้าเลือกได้ เราทุกคนคงอยากเป็นคนมั่งคั่ง มากกว่าแค่เป็นคนร่ำรวย ในความหมายนี้

แต่ไม่ว่า การพิจารณาคำว่า มั่งคั่ง หรือ ร่ำรวย ในความหมายนี้ จะถูกต้องหรือไม่