ช่วงเดือนที่แล้วมีแฟนเพจท่านหนึ่งเพิ่งแต่งงาน Inbox มาสอบถามเพจอภินิหารเงินออมเกี่ยวกับวิธีจัดการเงินในครอบครัว เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ จึงนำเรื่องราวของตัวเองมาเรียบเรียงเพื่อเป็นแนวทาง อ่านแล้วไม่จำเป็นต้องทำตามเป๊ะๆเพราะแต่ละคนแตกต่างกัน ควรนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับครอบครัวของตัวเองนะจ๊ะ

การแบ่งรายได้

ทั้งแอดมินและสามีทำงานกันทั้งสองคน มีมุมมองตรงกันว่าแต่ละคนก็ต้องมีพื้นที่ว่างของตัวเอง เพื่อความเป็นส่วนตัวและมีเงินส่วนหนึ่งเพื่อดูแลครอบครัว จึงแบ่งรายได้ออกเป็น 3 ส่วน คือ

1. เงินของฉัน

รายได้ของแอดมิน เก็บไว้เพื่อใช้จ่ายเรื่องส่วนตัว ซื้อของที่ตัวเองอยากได้ นำเงินไปทดลองลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ

2. เงินของเขา

รายได้ของสามี เพื่อให้เขาซื้อสิ่งของที่อยากได้ เช่น โหลดเกมส์ ฯลฯ

3. เงินของเรา

เงินส่วนกลางของเราสองคน เพื่อใช้จ่ายภายในบ้านและเรื่องจิปาถะต่างๆ เช่น ค่ากินอาหารนอกบ้าน ค่าซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน ค่าเดินทาง ท่องเที่ยว ฯลฯ

ตัวอย่าง ถ้าแต่ละคนมีรายได้เข้ามาตอนสิ้นเดือน ก็จะแบ่งเงินออกมาคนละ 10,000 บาท รวมเดือนละ 20,000 บาท เพื่อเป็นเงินกลาง โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ เงินออมเพื่อเกษียณเก็บไว้ที่กองทุนรวม เดือนละประมาณ 5,000 - 10,000 บาท  ส่วนที่เหลือก็จะนำมาใช้จ่ายในครอบครัว

การเก็บเงินตามเป้าหมาย

สามีและภรรยาต้องมีเป้าหมายร่วมกัน

ว่าจะใช้เงินไปทำอะไร เท่าไหร่ เมื่อไหร่ เพื่อจะได้รู้ทิศทางว่าควรเก็บเงินอย่างไร ทั้งเงินสินสอดและเงินที่เข้ามาในแต่ละเดือน ตอนนั้นเราคุยกันไว้ว่าต้องการเก็บเงินสินสอดไว้ 4 เรื่อง คือ เงินฉุกเฉิน ท่องเที่ยว มีลูก เกษียณ แบ่งเงินดังนี้

  • เงินฉุกเฉิน : เก็บไว้ที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง 6 เดือนของค่าใช้จ่าย คือ 120,000 บาท
  •  ท่องเที่ยว : เก็บไว้ที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง ถ้าถึงช่วงที่ออกไปท่องเที่ยวได้ค่อยถอนออกมาใช้จ่าย
  • เตรียมมีลูก : เงินต้นต้องอยู่ครบ จึงเก็บไว้ที่กองทุนรวมความเสี่ยงต่ำและประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ถ้ามีลูกจริงๆจะได้นำเงินก้อนนี้มาเลี้ยงลูก แต่ถ้าแอดมินมดลูกหมดอายุ ไม่สามารถมีลูกได้ ก็จะทยอยถอนออกไปซื้อหุ้นและกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อเตรียมเป็นเงินเกษียณต่อไป 
  • เกษียณ : ซื้อกองทุนรวมความเสี่ยงสูง

หนี้สินต้องคุยกัน

เราจะคุยกันให้ชัดเจนว่าหนี้สินที่มีมาก่อนแต่งงานก็ต้องรับผิดชอบของตัวเอง หากจะกู้ยืมเงินมาทำอะไรก็ต้องปรึกษากันก่อน รวมถึงพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตที่จะต้องมีวินัยการจ่ายหนี้ เช่น

วิธีการใช้บัตรเครดิตของแอดมิน คือ “ออม รูด จ่าย”

สมมติว่าเรามีรายจ่ายส่วนตัวเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท ก็จะนำเงิน 10,000 บาทไปเก็บไว้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ (แยกบัญชีไว้จ่ายบัตรเครดิตโดยเฉพาะ) หลังจากนั้นก็ใช้บัตรเครดิตซื้อของต่างๆ เช่น รูดซื้อของ 8,000 บาท พอใกล้ครบกำหนดจ่ายก็จะถอนเงินในบัญชีออมทรัพย์ 8,000 บาท มาจ่ายหนี้บัตรเครดิตแบบเต็มจำนวน นอกจากได้รับดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว ยังไม่เป็นหนี้บัตรเครดิตอีกด้วย

วิธีการใช้บัตรเครดิตของสามี คือ “รูดแล้วจ่ายทันที”

เรียกง่ายๆว่า รูดปุ๊บ จ่ายหนี้ทันที เช่น ใช้บัตรเครดิตรูดซื้อของ 3,000 บาท ก็จะโอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ 3,000 บาท จ่ายบัตรเครดิตทันที เขาทำแบบนี้แล้วรู้สึกสบายใจและไม่ลืมจ่ายบัตรเครดิตแน่นอน

จากประสบการณ์ที่เห็นหลายครอบครัวไม่ค่อยคุยกันเรื่องการเงินหรือปิดบังไม่พูดความจริง จนทำให้เกิดปัญหาใหญ่บานปลายไปถึงขั้นแยกทางกัน แอดมินไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนี้กับครอบครัวของตัวเอง จึงคิดว่ามีอะไรก็พูดคุยกันตรงๆน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่านะจ๊ะ

------------

ขอบคุณแฟนเพจที่สนับสนุนนะคะ

=> สั่งซื้อหนังสือวิธีจัดการเงินขั้นเทพ ฉบับลงมือทำ , จอง Workshop , คอร์สออนไลน์สอนเขียนเรื่องการเงิน อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้นะจ๊ะ

https://web.facebook.com/miracleofsaving/photos/a.641428715894749/3570624459641812/

เพจอภินิหารเงินออม