เรามักจะได้ยินคำว่า “การออม” ทุกครั้ง เมื่อพูดถึงเรื่องของการจัดการการเงิน หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการเริ่มต้นจัดการการเงิน และเมื่อพูดถึงคำว่า “ออม” แล้ว หลายคนก็มักจะนึกถึงคำว่า “ลงทุน” ตามมาเช่นเดียวกัน 

โดยสิ่งที่ทำให้การออมและการลงทุนแตกต่างกันนั้น มันคือ “ความเสี่ยง” และ “โอกาสในการสร้างผลตอบแทน” ซึ่งเรามักจะเข้าใจกันว่า การออมนั้นมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุน แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น้อยกว่าเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นไปตามหลักการของ High Risk High Return อย่างที่หลายคนรู้จักกันมาช้านาน 

อย่างไรก็ดี ตอนที่ผมเริ่มต้นศึกษาเรื่องการเงินใหม่ๆ ในใจผมมักจะคิดว่า “ไม่ว่าจะลงทุนหรือออมอะไรก็ตาม ขอให้ทำยังไงก็ได้ให้ไม่ขาดทุน” แต่เจ้าความเสี่ยงนี่แหละครับที่เป็นตัวบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ และถ้าให้ลงไปถึงความเสี่ยงตามหลักการทั้งหลาย เช่น ความเสี่ยงในการลงทุนประเภทต่างๆ หรือ ความเสี่ยงในเชิงที่เป็นระบบและไม่เป็นระบบ ก็จะพบสัจธรรมว่าทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยง และเราต้องเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจมัน 

หากมองในมุมของการเริ่มต้น “ออม” อย่างการฝากเงินกับธนาคาร (บางคนอาจจะเรียกว่าเป็น “การลงทุน” ก็ได้นะครับ ผมไม่ถือ ฮ่า ๆ ) ผมมองว่าสิ่งที่ทุกคนกลัว คงจะไม่พ้นคำว่า “กลัวเงินต้นหาย” เพราะเราก็ไม่รู้ว่าธนาคารจะดูแลเงินต้นของเราได้ดีแค่ไหน แต่ถ้าหากเราทำความเข้าใจเรื่องนี้ดี ๆ เราก็จะสบายใจมากขึ้นว่า เงินฝากของเรามีคนดูแลอยู่ นั่นคือ ...

รู้จักกับ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา มีหลักการสำคัญในการให้ความคุ้มครองผู้ฝากให้ได้รับเงินฝากคืนโดยเร็ว ในกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ฝากรายย่อยที่เป็นผู้ฝากส่วนใหญ่มีเงินฝากไม่เกินวงเงินคุ้มครอง เพื่อไม่ให้ผู้ฝากได้รับผลกระทบเมื่อสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งมีปัญหา

หรือพูดง่ายๆ ว่า หน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือ ทำให้เรามั่นใจ ปลอดภัย ถ้าฝากไม่เกินวงเงินที่คุ้มครอง แม้ว่าเศรษฐกิจจะไม่แน่นอนแค่ไหนก็ตาม ต่อให้ถึงขั้นธนาคารไม่ได้ไปต่อ แต่เงินฝากของเราก็ยังอยู่ในวงเงินที่คุ้มครองไว้อยู่ดี 

จากข้อมูลล่าสุด ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองมีทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน ซึ่งจะต้องฝากไว้กับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากเท่านั้น

และวงเงินที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากให้ความคุ้มครองต่อธนาคาร 1 แห่งนั้น อยู่ที่ 5 ล้านบาทจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และจะบังคับใช้วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

ดังนั้น สรุปสั้น ๆ อีกที สำหรับคนที่เป็นผู้ฝากเงินรายย่อย หากเรามีเงินฝากต่อธนาคารไม่เกิน 5 ล้านบาท (ก่อนวันที่ 11 สิงหาคม 2564) ย่อมแปลว่าเงินฝากของเราได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนแล้ว และแปลว่าเราสบายใจได้ส่วนหนึ่งว่า เงินของเรานั้นมีคนช่วยดูแลให้ไม่หายไป แม้ว่าธนาคารจะไม่อยู่แล้ว แต่เงินของเรายังอยู่ด้วยการคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

การฝากเงินความเสี่ยงน้อย 

ทีนี้ถ้ามองในแง่ของโอกาสได้รับผลตอบแทนนั้น เราจะเห็นว่าการฝากเงินนั้นความเสี่ยงน้อย แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่น้อยกว่าการลงทุน และแน่นอนว่าอีกข้อเสียที่หลายคนชอบพูดกัน คือ ดอกผลที่ได้รับนั้นไม่พอต่อเงินเฟ้อ ทำให้มูลค่าของเงินที่มีอยู่ลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ 

แต่อย่าลืมนะครับว่า การจัดการการเงินเป็นเรื่องของการวางแผนส่วนบุคคล บางคนอาจจะเลือกเก็บบางส่วนในเงินฝากเพราะต้องการรักษาสภาพคล่องให้ตัวเอง (เผื่อเงินไว้ใช้ หรือใช้เป็นเงินฉุกเฉิน) และต้องการความปลอดภัย (เสี่ยงน้อยที่สุดและมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากดูแล) เพื่อให้สามารถใช้เมื่อไรก็ได้ตามที่ต้องการ ซึ่งมันขึ้นอยู่กับแผนการจัดการการเงินว่าเรามองแบบไหนยังไง ? และวัตถุประสงค์ในการลงทุนของเราเป็นอย่างไร? 

ท้ายที่สุดแล้ว ผมอยากจะเน้นไว้ครับว่า อย่าลืมจัดการการเงินให้ดี เข้าใจสินทรัพย์ที่ลงทุน และรู้ว่าความเสี่ยงของการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทคืออะไรบ้าง และ มองเห็นด้วยว่าเราควรจัดการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการออมและการลงทุนมีหลายแบบให้เลือกสรร หากใครศึกษาดีแล้วสามารถทำได้ย่อมเป็นเรื่องทีดี แต่ถ้าหากใครยังไม่รู้จะเริ่มต้นอะไร


สิ่งแรกที่ควรเริ่มต้น คือ การจัดการสภาพคล่องที่เรามีนี่แหละครับ สำคัญที่สุด...




บทความนี้เป็น Advertorial