จากเหตุการณ์โควิด - 19 ทำให้เรารู้ว่าอะไรๆก็เกิดขึ้นได้ จากรายได้ที่คิดว่าจะมั่นคง แต่ก็ต้องตกงานขาดรายได้ บางคนเงินเดือนลดลง ในขณะที่บางอาชีพมีรายได้เพิ่มจากการรับจ้างทำความสะอาด การขายของออนไลน์ จึงทำให้หลายครอบครัวเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินมากขึ้น

บทความนี้จะเล่าถึงการวางแผนเตรียมเงินส่วนของลูกทั้งตอนนี้และในอนาคต เพื่อเราจะได้รู้ว่าตอนนี้ควรจัดการเงินอย่างไร อ่านแล้วควรนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับครอบครัวของตัวเองนะจ๊ะ

วางแผนรายจ่ายของลูกล่วงหน้า

ตัวอย่าง สามีภรรยาอายุ 35 ปีเท่ากัน มีลูกสาว 1 คนอายุ 5 ขวบ ต้องการประมาณรายจ่ายของลูกล่วงหน้า เพื่อจะได้รู้ว่าควรเตรียมเงินเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ มีข้อมูล ดังนี้

  • อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนเอกชน สำรวจค่าเทอมตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรีคร่าวๆในตารางนี้ โรงเรียนนี้ปรับค่าเทอมเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 6%
  • รายจ่ายจิปาถะของลูกประมาณปีละ 60,000 บาท
  • ตอนนี้เตรียมเงินไว้บ้างแล้ว 2 แบบ คือ นำเงินสินสอด 500,000 บาทไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์และซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์เก็บไว้ให้ลูก 1 กรมธรรม์

แนวทางวางแผนรายจ่าย

เริ่มจาก…

1. ทำตารางสรุปเพื่อให้เห็นภาพรวม

เราสามารถทำเองได้ง่ายๆใน Excel ใส่ข้อมูลปี พ.ศ. อายุของพ่อแม่ตั้งแต่ตอนนี้ไปจนถึงลูกทำงาน อายุของลูก ระดับชั้นเรียน (ถ้ามีลูกหลายคนก็ใส่เพิ่มเข้าไป) ในภาพนี้เป็นลูกสาวคนเดียวเรียนหนังสือตั้งแต่อายุ 5 ถึงวัยที่ลูกเรียนจบอายุ 21 ปี ตรงกับพ่อแม่อายุ 51 ปี

2. ค่าใช้จ่ายของลูก

แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

=> รายจ่ายแน่นอน : ค่าเทอมเพราะสามารถคาดการณ์ได้

เราควรไปสำรวจคร่าวๆว่าโรงเรียนที่จะให้ลูกเข้าไปเรียนนั้นมีค่าเทอมประมาณเท่าไหร่ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าเทอมว่าแพงขึ้นเฉลี่ยปีละกี่ %  ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีการปรับขึ้นไม่เท่ากัน แม้ว่าสุดท้ายลูกจะเข้าโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในแผนของเรา มันก็ยังดีที่เราเตรียมเงินรอไว้บ้างแล้ว

ในภาพนี้ที่ค่าเทอมรวมกันทั้งหมดตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี 1,200,000 บาท เราจะเห็นว่าตอนที่ลูก 11 ขวบ เรียนประถม 6 ปัจจุบันค่าเทอมอยู่ที่ 40,000 บาท แต่ในอนาคตรวมค่าเทอมที่แพงขึ้นเฉลี่ย 6% เข้าไป ค่าเทอมจะกลายเป็น 56,741 บาท (หรือใกล้เคียง) เรารู้ล่วงหน้าว่าอาจจะต้องจ่ายค่าเทอม ประมาณ 2,131,043 บาท

=> รายจ่ายไม่แน่นอน

เป็นรายจ่ายอื่นๆที่สนับสนุนลูก เช่น ค่าขนม ค่าส่งเสริมพัฒนาการ ค่าเรียนพิเศษ ค่าอุปกรณ์การเรียน เครื่องแต่งกาย มือถือ คอมพิวเตอร์ เรียนดนตรี กีฬา ฯลฯ เราประมาณคร่าวๆไว้ว่าปีละ 60,000 บาท ถ้าสินค้าและบริการต่างๆแพงขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% ทำให้เราจะต้องเตรียมเงินเพิ่มขึ้นด้วย

รวมทั้งหมดตั้งแต่ลูกอายุ 5 - 21 ปีที่เรียนจบ ใช้เงินรวมประมาณ 1,305,695 บาท ถ้ารวมทั้งหมดที่เป็นค่าเทอมและค่าใช้จ่ายจิปาถะ แสดงว่าเราควรเตรียมเงินให้ลูกประมาณ 3,436,738 บาท

3. เงินเก็บของพ่อแม่

ตอนนี้เตรียมไว้แล้วประมาณเท่าไหร่ นำเงินที่ได้รับแน่นอนกับเงินที่คาดว่าจะได้รับเข้ามาใส่ใน Excel ในภาพนี้พ่อแม่นำเงินสินสอด 500,000 บาท ไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีและจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ

สมมติหุ้นที่ซื้อจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย 6% ก็จะมีเงินประมาณ 30,000 บาทเข้ามาทุกปี แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีความเสี่ยงเรื่องของราคาหุ้นที่อาจจะขยับขึ้นลง ส่วนจำนวนเงินปันผลอาจจะได้มากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของหุ้นที่เราซื้อนะคะ

ซื้อประกันสะสมทรัพย์ให้ลูก ทุนประกัน 200,000 บาท เบี้ยประกันปีละ 30,580 บาท ได้รับเงินคืนทุก 4 ปีๆละ 20,000 บาท นำมาจ่ายค่าเทอมให้ลูกได้ พอครบกำหนดตอนที่ลูกอายุ 24 ปีได้รับเงินก้อน 600,000 บาท จะเป็นเงินตั้งต้นให้ลูกไปสร้างธุรกิจในฝันของตัวเองได้

4. เตรียมเพิ่มอีกกี่บาท

ช่องสุดท้ายด้านขวาจะทำให้เรารู้ว่าเงินที่คาดว่าจะต้องใช้ในอนาคตมากกว่าเงินที่พ่อแม่เตรียมไว้ ทำให้รู้ว่าจะต้องเก็บเงินเพิ่มอีกกี่บาท เช่น ตอนที่ลูก 11 ขวบ คาดว่าจะต้องใช้เงิน 128,384 บาท เตรียมไว้แล้ว 30,000 บาท แสดงว่าจะต้องเก็บเพิ่มอีก 98,384 บาท

แนวทางการวางแผนเราอาจจะเก็บแบบเป็นระยะเวลา เช่น

>> ระยะสั้นเก็บเงินไว้ที่ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง

>> ระยะกลางเรียนประถมปลายกับมัธยมต้นเก็บไว้ที่กองทุนรวมตราสารหนี้

>> ระยะยาวมัธยมปลายกับปริญญาตรีเป็นกองทุนรวมหุ้น

สิ่งสำคัญ!!!

คือ แผนสำรองปกป้องเงินก้อนของครอบครัว เราจะเห็นแล้วว่าค่าเทอมและค่าใช้จ่ายจิปาถะรวมเงินเฟ้อเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 3,436,738 บาท หากพ่อแม่อยู่อายุยืนสามารถหาเงินก้อนนี้มาช่วยกันดูแลครอบครัวได้แน่นอน

ในทางกลับกันหากพ่อหรือแม่อายุสั้นกว่าที่คิด นั่นแปลว่า คนใดคนหนึ่งอาจจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในกรณีที่ดราม่าสุดๆจากไปพร้อมกันทั้งสองคน เราคิดว่าจะนำเงินจากตรงไหนมาให้ญาติพี่น้องมาช่วยดูแลลูกของเรา

ประกันชีวิตทำให้ครอบครัวแข็งแกร่ง

ควรวางแผนปกป้องเงินของครอบครัว 3,436,738 บาท โดยทำประกันไขว้กันที่วงเงินความคุ้มครอง 3,500,000 บาท คือ พ่อทำประกันชีวิตแล้วยกผลประโยชน์ให้แม่ ส่วนแม่ก็ทำประกันชีวิตแล้วยกผลประโยชน์ให้พ่อ เป็นแผนสำรองหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอายุสั้น ก็จะมีเงินดูแลให้ครอบครัวไปต่อได้ (แต่ถ้ามีปัญหาสุขภาพไม่สามารถทำประกันชีวิตได้ ก็ต้องหาวิธีจัดการเงินแบบอื่น)

ประกันชีวิตแต่ละแบบตอบโจทย์เป้าหมายแตกต่างกัน ควรเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการของเรา ในกรณีนี้ครอบครัวต้องการ “เฉพาะความคุ้มครองสูง” ควรเลือกเป็นแบบประกันชีวิตตลอดชีพกับแบบควบการลงทุน (แต่ละบริษัทจ่ายเบี้ยประกันไม่เท่ากัน ควรสอบถามกับที่ปรึกษาการเงินของตัวเองนะคะ)

เปรียบเทียบเบี้ยประกันหลายบริษัทก่อนตัดสินใจ ตัวอย่าง วงเงินความคุ้มครอง 3,500,000 บาท เบี้ยประกันชีวิตปีละเท่าไหร่

>> แบบตลอดชีวิต เพศหญิง 64,400 บาท , เพศชาย 78,050 บาท

>> แบบควบการลงทุน เพศหญิง 16,000 บาท , เพศชาย 30,000 บาท

ส่วนจะแบ่งเก็บให้ลูกเท่าไหร่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของพ่อแม่ด้วย เพราะจะต้องจ่ายหนี้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รายจ่ายส่วนตัวในชีวิตประจำวันและเก็บเงินเกษียณของตัวเองอีกด้วย ซึ่งวางแผนการเงินแบบนี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยตอบคำถามเราได้ว่าตอนนี้เราควรจัดการเงินอย่างไรนะจ๊ะ

------------

ขอบคุณแฟนเพจที่สนับสนุนนะคะ

=> สั่งซื้อหนังสือวิธีจัดการเงินขั้นเทพ ฉบับลงมือทำ , จอง Workshop อ่านรายละเอียดได้ที่ลิงค์นี้นะจ๊ะ

https://www.facebook.com/miracleofsaving/photos/a.641428715894749/3701305046573752/

เพจอภินิหารเงินออม