เวลาได้ใบกำกับภาษีมามีวิธีตรวจสอบยังไงบ้างว่าใช้ได้ ? คำถามนี้ต้องถามกลับด้วยครับว่า คำว่า "ใช้ได้" ของใบกำกับภาษีนั้น มีองค์ประกอบอยู่ 2 เรื่องทีต้องเช็คให้ดี นั่นคือ

1. ใบกำกับภาษีฉบับนี้ออกโดยผู้มีสิทธิ์ออก หรือจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มถูกต้อง

เพราะถ้าผู้ออกไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษี จะถือว่ามีปัญหาได้ครับ เพราะมันจะกลายเป็นใบกำกับภาษีที่ไม่ใช่ใบกำกับภาษี (นี่ไม่ใช่เพลงของ GETSUNOVA แต่มันแปลว่าใช้ไม่ได้แน่ ๆ ต่างหากครับ)

มาตรา 82/5 ภาษีซื้อในกรณีดังต่อไปนี้ ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3
(1) กรณีไม่มีใบกำกับภาษีหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ เว้นแต่จะเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(2) กรณีใบกำกับภาษีมีข้อความไม่ถูกต้องหรือ ไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(3) ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ของผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(4) ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือ เพื่อการอันมีลักษณะทำนองเดียวกันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(5) ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามส่วน 10
(6) ภาษีซื้อตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

2. ใบกำกับภาษีมีข้อความถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้

เพราะต่อให้ออกโดยผู้ที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี แต่มีข้อความไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย แบบนี้ก็ไม่สามารถใช้สิทธิขอคืนภาษีซื้อได้นั่นเองครับ

มาตรา 86/4 ภายใต้บังคับมาตรา 86/5 และมาตรา 86/6 ใบกำกับภาษีต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
    (1) คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
    (2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีและในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
    (3) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
    (4) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี
    (5) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
    (6) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
    (7) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
    (8) ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด

ทีนี้มาถึงวิธีการตรวจสอบกันบ้างครับ ว่าเราจะตรวจสอบใบกำกับภาษีอย่างไรว่าใช้ได้ พรี่หนอมแนะนำให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ครับ

1. ขอดูใบ ภ.พ. 20 ตัวจริง จากผู้ที่ออกใบกำกับภาษี (ในกรณีที่ติดต่อกันครั้งแรก) อันดับแรกคือการขอดูข้อมูลก่อนครับว่า มีใบ ภ.พ. 20 จริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมุลค่าเพิ่มถูกต้อง

2. ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ ที่ ระบบค้นหาข้อมูลผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งยังคงประกอบกิจการอยู่ ว่ามีรายชื่อถูกต้องไหม

3. เมื่อได้รับใบกำกับภาษีมา อย่าลืมตรวจสอบด้วยว่าข้อความครบถ้วนไหม จะเช็คข้อความที่ต้องมีตามกฎหมายข้างต้น หรือเช็คจากอีบุ๊คคู่มือใบกำกับภาษีของกรมสรรพากรก็ได้ครับที่ คู่มือใบกำกับภาษี

ถ้าหากมีครบถ้วนแล้ว เราก็สามารถใช้ได้ครับ อันนี้ถือว่าผ่านคุณสมบัติ แต่อย่าตกม้าตายทำพลาด โดยใช้ภาษีซื้อในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการนะครับ เพราะจะกลายเป็นภาษีซื้อต้องห้ามทันทีครับผม

สุดท้ายนี้ พรี่หนอมฝากทุกคนติดตามบทความภาษีที่ บล็อกภาษีข้างถนน และแฟนเพจ TAXBugnoms ด้วยนะครับ ขอบคุณครับผม