สวัสดีครับ กลับมาพบกับ “อัศวินกองทุน” คนนี้ที่รอคอย กับคอลัมน์ WEEKLY OUTLOOK ที่จะมาสรุปสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกแบบสั้นๆ เข้าใจง่าย พร้อมแนะนำจังหวะการลงทุนให้ทุกคนได้กระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสมคร้าบ

สำหรับช่วงวันที่ 25-29 กรกฏาคม 2559 นี้ ดูเหมือนว่ามีสัญญาณเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้เราต้องคอยพิจารณาและจับตาดูสถานการณ์ที่กำลังจะตามมาครับ เอาล่ะครับ ผมว่าเรามาเตรียมตัวกันเลยดีกว่าครับว่า สัปดาห์นี้เราควรจะวางแผนการลงทุนไปในทิศทางไหนกันดีครับ

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่

สรุปภาพรวมประจำสัปดาห์ :
จับตาการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น ในการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ผมมองว่าผลประกอบการบริษัทที่จะมีการประกาศในช่วงต่อไป จะยังออกมาดีกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐครับ คำแนะนำสำหรับสัปดาห์นี้จึงยังคงเหมือนเดิม คือ เพิ่มการลงทุนต่อไปยาวๆ กันเลยครับ

ตลาดหุ้นยุโรป

สำหรับตลาดหุ้นยุโรปนั้น ผมคาดว่าความผันผวนของตลาดหุ้นอาจเพิ่มขึ้นอีก หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) สร้างความผิดหวังให้ตลาดโดยไม่มีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ผมคิดว่าแบบนี้เราควรถอยท่าทีมาโดยการลดการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปดีกว่าครับ

ตลาดหุ้นจีน (A-SHARE / H-SHARE )

ผลประกอบการไตรมาสสองของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก  ประกอบกับราคาต่อมูลค่าพื้นฐานตลาดหุ้นจีนยังมีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค  อีกทั้งตัวบ่งชี้ต่างๆ เช่น ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ และยอดค้าปลีก ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ผมมองว่าแบบนี้ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ที่จะเพิ่มการลงทุนต่อไปครับผม

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นส่งสัญญาณถึงการทำนโยบายการคลังซึ่งอาจมีขนาดใหญ่ถึงร้อยละ 4-5 ของ GDP เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น โดยในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งคาดว่าจะมีการทำนโยบายเพิ่มเติมเพื่อทำให้เงินเยนอ่อนค่า ลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้น และอย่างที่ผมพูดไว้ตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อนแล้วล่ะครับว่า ราคาพื้นฐานของตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ดังนั้นผมอยากแนะนำให้เพิ่มการลงทุนกันไปเลยคร้าบ

ตลาดหุ้นไทย

เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าต่อเนื่อง และตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวดี ซึ่งคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำในหลายประเทศจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียเกิดใหม่ ดังนั้นผมจึงแนะนำให้เปลี่ยนมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นได้แล้วล่ะครับ

ตลาดหุ้นอินเดีย

แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายในหลายประเทศจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นอินเดียต่อเนื่อง นอกจากนี้ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็คาดว่าจะออกมาดีกว่าการคาดการณ์ อีกทั้งการบริโภคในอินเดียก็มีการขยายตัวดีดูๆ แล้วน่าสนใจเหมือนเช่นเคย ผมยังคงแนะนำให้เพิ่มการลงทุนต่อไปครับ

ตลาดหุ้นเกาหลี

เนื่องจาก Brexit จะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจเกาหลี เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกที่มีขนาดใหญ่ และการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในเดือนมิถุนายนนั้น จะช่วยลดผลกระทบได้เพียงบางส่วน ดังนั้นการคงการลงทุนยังเป็นสิ่งที่ผมยืนยันเหมือนกับสัปดาห์ก่อนครับ

เงินสดและกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น

เนื่องจากความผันผวนของตลาดหุ้นมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นนักลงทุนควรลดการถือครองเงินสดและหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าครับ

น้ำมัน

จำนวนแท่นขุดเจาะที่เพิ่มขึ้น แต่ปริมาณสำรองน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลง 9 สัปดาห์ติดต่อกัน จึงคาดว่าราคาน้ำมันจะแกว่งตัวในกรอบแคบๆ แบบนี้ผมมองว่าคงการลงทุนไปก่อนจะดีกว่าครับ

ทองคำ

ธนาคารกลางและรัฐบาลต่างออกมาส่งสัญญาณถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจหาก Brexit มีผลกระทบรุนแรง โดยในระยะถัดไปคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจะส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเป็นปัจจัยลบต่อราคาทองคำ ดังนั้นจังหวะนี้การลดการลงทุนคงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ

ตราสารหนี้ไทย

ราคาพันธบัตรรัฐบาลไทยช่วงอายุ 1-3 ปี ปรับตัวลดลงสอดคล้องกับทิศทางดัชนีพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงในการชะลอตัว การถือครองพันธบัตรยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีในการกระจายความเสี่ยงอยู่ครับ ดังนั้นผมยังคงแนะนำให้คงการลงทุนต่อไปครับ

จบกันไปอีกแล้วครับ กับสำหรับการวิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในสัปดาห์ที่ 7 กับผมนาย “อัศวินกองทุน” คนดีคนเดิม เพิ่มเติมคือหวังให้ทุกท่านลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนที่ดี

สำหรับภาพรวมของสัปดาห์นี้ผมยังคงให้ความสนใจในการลงทุนทั้งตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Market) อย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมถึงตลาดหุ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา (Emerging Market) อย่างประเทศจีน และอินเดีย เหมือนสัปดาห์ก่อนๆ แต่สัปดาห์นี้มีคำแนะนำให้เพิ่มเติมสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นครับ ดังนั้นอย่าลืมพิจารณาข้อมูลเหล่านี้ และจัดการปรับปรุงพอร์ทการลงทุนให้กระจายความเสี่ยง และเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมด้วยนะครับ

สุดท้ายนี้ อย่าลืมนะครับว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” ผมหวังว่าคอลัมน์ WEEKLY OUTLOOK กับอัศวินกองทุนจะเป็นข้อมูลดีๆ อีกหนึ่งทางเลือก