สวัสดีครับ กลับมาอีกครั้งกับการอัพเดทบทความประจำสัปดาห์ ต้องบอกตรงๆครับว่า เข้าใกล้ช่วงปลายปีแบบนี้ทีไร สิ่งหนึ่งที่น่าดีใจสำหรับผม คือการตื่นตัวในเรื่องการวางแผนภาษีของแต่ละคนครับ ดูได้จากคำถามที่สอบถามเข้ามาทางหลังไมค์เพจ @TAXBugnoms และจากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ในงานเสวนาหลายๆแห่งครับ

และจากงานเสวนาล่าสุดที่ได้ไปมา คือ งานที่มีชื่อว่า ฟรีแลนซ์...ยังไง? ครั้งที่ 3 ตอน "ภาษี ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ที่ทางผู้จัดคือ Co-Working Space ชื่อดังอย่าง HUBBA Thailand ได้ให้ผมมาเป็นแขกรับเชิญ แถมยังได้คุณปิ๊บโป้ เจ้าของ Startup ชื่อดังอย่าง Storylog มาเป็นพิธีกรให้ด้วยอีกต่างหากครับ

บทความวันนี้ของผมเลยถือโอกาสสรุปแนวคิดและเคล็ดลับง่ายๆเรื่องภาษีที่แชร์ไปในงานเสวนาครั้งนี้ ให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ อ่านอีกทีใน Aommoney ครับ เอาล่ะ.. เรามาดูกันเลยดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

1. เรื่องที่เข้าใจผิดเรื่องแรก คือ การที่เราถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้นั้น ไม่ได้แปลว่าเราจ่ายภาษีเรียบร้อยแล้ว ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดในเรื่องนี้ จึงไม่ได้นำส่งภาษีไว้ครบถ้วน และทำให้เกิดปัญหาภาษีย้อนหลังตามมาอีกมากมายครับ 

ดังนั้นการที่เราถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่ายไว้นั้น มันแปลว่าเรามีรายได้และพี่สรรพากรได้รับทราบไว้เรียบร้อยแล้ว  โดยรายได้ทั้งหมดที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในปีนี้ เรามีหน้าที่ต้องนำมายื่นแบบแสดงรายการภาษีสิ้นปีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม ของปีถัดไปครับ 

สำหรับวิธีการคำนวณภาษีจะมีอยู่ 2 วิธีการ คือ คำนวณตามเงินได้สุทธิ และ เงินได้พึงประเมิน โดยถ้าหากเรามีรายได้จากงานฟรีแลนซ์เกินกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ต้องคำนวณทั้งสองวิธีแล้วเปรียบเทียบโดยเลือกวิธีที่สูงกว่ามีชำระภาษีครับ

แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมเรื่องวิธีการคำนวณภาษี จาก [ซีรีย์] ภาษีง๊ายง่าย [1] : เงินได้ของเราต้องเสียภาษีไหม? คร้าบบบ

แต่อย่างไรก็ตาม มีภาษีบางประเภทที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว และเราสามารถเลือกไม่ต้องเอามารวมคำนวณภาษีสิ้นปี เราจะเรียกวิธีการเสียภาษีที่ถูกหักกลุ่มนี้ว่า Final TAX ครับ เช่น ดอกเบี้ย (ถูกหักภาษีไว้ 15%) เงินปันผล (ถูกหักภาษีไว้ 10%) เป็นต้นครับ

อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ : ฟรีแลนซ์ ห้ามหยุด ห้ามพัก ห้ามหัก ณ ที่จ่าย? : 3 เรื่องภาษีที่ฟรีแลนซ์ต้องรู้

2. สิ่งแรกที่ฟรีแลนซ์หรือผู้เสียภาษีทุกคนควรทำ คือ คำนวณภาษีตัวเองให้เป็นก่อน หรืออย่างน้อยให้ใช้โปรแกรมต่างๆที่มีในอินเตอร์เน็ต (เช่น ITAX) คำนวณออกมาว่า เราต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไร แล้วค่อยพิจารณาเรื่องการลดภาษี

เพราะหลายๆคนมักจะผิดพลาดจากการพยายามที่จะลดภาษี โดยไม่รู้ว่าตัวเองเสียภาษีในฐานเท่าไร ซึ่งบางคนเสียภาษีในฐานที่ค่อนข้างต่ำเพียงแค่ 5% หรือไม่เสียภาษี ซึ่งบางทีแล้วทำให้ผลที่ได้รับกลับมาไม่คุ้มค่าอีกต่างหากครับ

3. วิธีการที่ฟรีแลนซ์ควรทำเพื่อประหยัดภาษี คือ การจัดประเภทรายได้ให้อยู่ในกลุ่มที่เหมาะสมเพื่อที่จะได้หักค่าใช้จ่ายในอัตราส่วนมากขึ้นหรือหักได้ตามจริง (ตามจำเป็นและสมควร) เพราะเดิมรายได้จากฟรีแลนซ์นั่นถือเป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามกฎหมายซึ่งหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมายได้เพียง 40% และสูงสุดคือ 60,000 บาทเท่านั้นเอง ดังนั้นหนทางในการจัดประเภทรายได้คือ

1) ย้ายไปอยู่เงินได้ประเภทที่ 6 (อินดี้ - วิชาชีพอิสระ) หากสิ่งที่เราทำนั้นเข้าเงื่อนไขประเภทที่ว่านี้ ได้แก่ ประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี ทนาย ประณีตศิลป์ 

2) ย้ายไปอยู่เงินได้ประเภทที่ 7 ในกรณีที่เป็นงานที่เข้าลักษณะรับเหมา 

3) ย้ายไปอยู่เงินได้ประเภทที่ 8 ในกรณีที่เป็นงานที่มีหน้าร้านชัดเจน ในรูปแบบพาณิชยกรรม (ซึ่งลักษณะบางประเภทนั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเพียงอย่างเดียวครับ และข้อมูลตรงนี้ต้องเช็คให้ดีอีกครั้งหนึ่งครับ)

ถ้าหากสามารถทำได้ตามที่ว่านี้ ก็จะสามารถประหยัดภาษีได้มากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่หักได้สูงขึ้นนั่นเองครับ และสุดท้ายถ้ามีรายได้มากถึงจุดหนึ่งก็อาจจะถึงเวลาต้องพิจารณาเรื่องการจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะประหยัดภาษีได้มากกว่าครับ

แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมที่บทความ : ทำธุรกิจยังไงให้ประหยัดภาษีสูงสุด : 3 เคล็ดลับวางแผนภาษีธุรกิจ

4. ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย เรื่องที่ผิดพลาดอีกเรื่องหนึ่งสำหรับฟรีแลนซ์ที่แตกต่างจากมนุษย์เงินเดือนก็คือ ถ้าหากมีรายได้ต่อปีมากกว่า 1.8 ล้านบาท ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นขอจดภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทนั่นเองครับ

5. เลือกใช้ค่าลดหย่อนให้เหมาะสมกับความต้องการ ตรงนี้ผมมักจะพูดย้ำหลายๆครั้งในทุกบทความและงานเสวนาว่า เป้าหมายที่ดีที่สุดนั้นไม่ใช่การประหยัดภาษี แต่เป็นประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมให้มากที่สุดต่างหากครับ ดังนั้นอย่าพยายามที่จะจัดค่าลดหย่อนให้เต็มที่เพือประหยัดภาษี แต่ให้ดูเรื่องกระแสเงินสดและวัตถุประสงค์ที่เราต้องการเป็นหลักก่อนครับ

ผมแนะนำให้อ่านบทความเพิ่มเติม 14 รายการลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือน เพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องของค่าลดหย่อนมากขึ้นครับ

สุดท้ายนี้... บทความในตอนนี้เป็นการสรุปประเด็นสำคัญๆที่เกิดขึ้นในการเสวนาในงาน ฟรีแลนซ์...ยังไง? ครั้งที่ 3 ตอน "ภาษี ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของผมที่มาเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ครับ สำหรับเพื่อนๆพี่ๆน้องๆฟรีแลนซ์ที่ได้อ่านบทความนี้ และสนใจพบปะเพื่อนๆชาวฟรีä