ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา ถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนเน้นคุณค่า (VI - Value Investor) ที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะรู้จักดีในประเทศไทย ที่ผ่านมาสร้างผลงานด้านการลงทุนมาได้ดีโดยตลอด และ “กรุงเทพธุรกิจ” บอกว่าตามข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 5 มกราคม 2023 พอร์ตหุ้นของ ดร.ไพบูลย์ ตอนนี้ถือหุ้นอยู่ 7 หลักทรัพย์ รวมมูลค่ากว่า 2,825.31 ล้านบาทเลย

สำหรับนักลงทุนทุกคนแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการเรียนรู้จากนักลงทุนที่มีประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยทำให้เรากลับมาปรับใช้กับการลงทุนของตัวเอง เดี๋ยววันนี้จะมาดูกันว่าหุ้นทั้ง 7 หลักทรัพย์ที่ ดร.ไพบูลย์ถืออยู่ตอนนี้มีอะไรบ้าง เผื่อช่วยต่อยอดความคิดและการลงทุนของเราด้วย

1. JMT (บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส)

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 27,989,014 หุ้น (1.92%)
  • มูลค่าประมาณ 1,854.27 ล้านบาท

ประกอบธุรกิจ 3 ประเภทหลัก ได้แก่

1) ธุรกิจให้บริการติดตามเร่งรัดหนี้

บริษัทให้บริการแก่ผู้ว่าจ้างที่เป็นสถาบันการเงิน และผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งประสงค์จะให้บริษัทฯ ติดตามและดำเนินการให้ลูกหนี้ของผู้ว่าจ้างชำระคืนหนี้ ขอบเขตการให้บริการ ครอบคลุมถึงการรับจ้างติดตามและจัดเก็บหนี้ รวมถึงงานด้านกฎหมาย ได้แก่ ฟ้องและสืบทรัพย์คดี

2) ธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ

โดยซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน หรือบริษัทต่างๆ และนำมาบริหารจัดเก็บหนี้

3) ธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

โดยเน้นให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ และเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่บุคคลธรรมดา โดยเป็นการ spin off มาจาก JMART

2. CHAYO (บมจ.ชโย กรุ๊ป)

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 2 จำนวน 67,915,939 หุ้น (6.37%)
  • มูลค่าประมาณ 601.05 ล้านบาท

ประกอบกิจการเจรจาติดตามและเร่งรัดหนี้สิน และบริหารสินทรัพย์จากการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกันจากสถาบันการเงิน และกิจการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า

3. KLINIQ (บมจ.เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม)

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 6 จำนวน 5,818,182 หุ้น (2.64%)
  • มูลค่าประมาณ 212.36 ล้านบาท

เป็นธุรกิจเกี่ยวกับคลินิกเวชกรรมด้านผิวหนังความงาม ศัลยกรรมตกแต่งและการดูแลป้องกันฟื้นฟูสุขภาพ

4. BRR (บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์)

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 10 จำนวน 9,000,000 หุ้น (1.11%)
  • มูลค่าประมาณ 67.95 ล้านบาท

เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในการลงทุนในบริษัทอื่น (Holding Company) โดยลงทุนในบริษัทย่อยที่ถือหุ้นร้อยละ 99.99 โดยมีธุรกิจหลักเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

1) บริษัท โรงงานน้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย
2) บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด, บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์พลัส จำกัด เป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล
3) บริษัท ปุ๋ยตรากุญแจ จำกัด ธุรกิจผลิตและจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์
4) บริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด ธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ต่าง ๆ จากชานอ้อย และเยื่อพืชธรรมชาติชนิดอื่น
5) บริษัท บีอาร์อาร์ โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ จำกัด ธุรกิจการบริหารจัดการโลจิสติกส์และบริการขนส่ง

5. THREL (บมจ.ไทยรีประกันชีวิต)

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 10,938,400 หุ้น (1.82%)
  • มูลค่าประมาณ 46.37 ล้านบาท

ประกอบธุรกิจประกันภัยต่อด้านการประกันชีวิตทุกประเภท โดยเบี้ยประกันภัยรับส่วนหนึ่งจะถูกกันไว้เป็นเงินสำรองประกันชีวิต และดำเนินการบริหารเงินสำรองประกันชีวิตส่วนนี้โดยนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ครอบคลุมภาระที่จะเกิดขึ้น

6. ASN (บมจ.เอเอสเอ็น โบรกเกอร์)

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 4 จำนวน 7,200,000 หุ้น (3.85%)
  • มูลค่าประมาณ 23.76 ล้านบาท

ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยซึ่งมุ่งเน้นการขายประกันภัยรถยนต์เป็นหลัก และธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ โดยได้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัท เอเอสเอ็น ไลฟ์ โบรกเกอร์ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าประกันชีวิต และถือหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัท ได้เงิน ดอทคอม จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจให้บริการจับคู่ผู้ให้กู้ยืมเงินและผู้กู้ยืมเงิน

7. MANRIN (บมจ.แมนดารินโฮเต็ล)

  • ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 9 จำนวน 758,600 หุ้น (2.82%)
  • มูลค่าประมาณ 19.53 ล้านบาท

ธุรกิจโรงแรมเพื่อให้บริการที่พักอาศัย จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม การประชุมสัมมนา การจัดเลี้ยงและการให้บริการอื่นๆอันเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโรงแรม

ถ้าลองจัดกลุ่มหุ้นที่ ดร.ไพบูลย์ ถืออยู่จะเห็นว่ามันมีตีมบางอย่างอยู่ ตั้งแต่เรื่องประกันและเร่งรัดหนี้สินที่โดดเด่นออกมาสองกลุ่ม และที่เหลือเป็นเหมือนการกระจายความเสี่ยงไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะฉะนั้นน่าจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าทำไม ดร.ไพบูลย์ ถึงเก็บหุ้นเหล่านี้ไว้ในพอร์ต และเราควรจะจัดพอร์ตของตัวเองแบบไหน