ถ้าเราไปนั่งอ่านงบแสดงฐานะทางการเงินของบริษัทก็อาจจะมีคำถามไม่น้อยว่า "ลูกหนี้การค้า" คืออะไรฟ่ะ!! พอไปเปิดภาษาอังกฤษดูงงไปใหญ่คือ "Account Receivable" ซึ่งจริงๆแล้วเขาก็บอกว่ามันเป็นทรัพย์สินหมุนเวียนอย่างหนึ่งที่จะแปลงร่างเป็นเงินสดในภายหลังได้ ถ้าเราจะพูดในมุมความเป็นจริงของการทำกิจการ มันก็คือการ "ติดไว้ก่อน เดี๋ยวเอามาจ่าย" เช่นพวกธุรกิจขายส่งให้กับร้านค้า หรือการผลิตสินค้าล็อตใหญ่ๆที่ต้องให้เครดิตกับคู่ค้าตามเวลาที่กำหนดแล้วค่อยเอามาคืนในภายหลัง ในส่วนของ "เงินสด" ก็คือเงินที่ได้มาทันทีจากลูกค้า

ถ้าตอบแค่ความแตกต่างแค่นี้ ก็ไม่รู้จะเขียนมาทำไมนะ เรามาดูมุมมองอื่นๆของเรื่องนี้กัน

ความเสี่ยง

ใครๆก็อยากได้รับเงินสด และแน่นอนว่าความเสี่ยงของเงินสดย่อมน้อยกว่าลูกหนี้การค้าแน่นอนเพราะเราได้เงินมาสดๆแล้วก็มักจะไม่รับคืนสินค้าหรอก ในส่วนของธุรกิจที่ได้เงินเชื่อแบบว่าติดไว้ก่อนมันย่อมมีความเสี่ยงเสมอ การติดไว้ก่อนเราจะมีฐานะกลายเป็นเจ้าหนี้ และ ผู้ที่ติดเงินเราก็จะมีฐานะเป็นลูกหนี้ โดยส่วนใหญ่เวลามีลูกหนี้มันก็มักจะเป็นระยะสั้น หากครบกำหนดแล้วไม่ได้เอาเงินมาคืนนั่นก็แปลว่า "เขาอาจจะหนีไปแล้ววววววว" แรกๆเขาติดไว้ก่อน ต่อมาเราควรจะได้รับเงินเป็นเงินสด ก็อาจจะกลายเป็นการขาดทุนไปเนื่องจากต้นทุนที่ทำงานได้เสียไปแล้วและไม่ได้รับเงินสดจากการขาย

อะไรทำให้ธุรกิจจ่ายเงินสดหรือเงินเชื่อ

ธุรกิจต่างๆมันก็มีทั้งการจ่ายเงินสดและเงินเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราเป็นนักลงทุนเราก็ย่อมอยากได้ธุรกิจที่ลูกค้าจ่ายเงินสดอยู่แล้ว แต่มันก็ขึ้นอยู่กับหลายๆอย่างดังนี้

ธรรมชาติของธุรกิจและการดำเนินงาน

ของบางอย่างมันจ่ายเงินสดได้และคงไม่มีใครยอมให้ลูกค้าจ่ายเงินเชื่อเช่น ร้านไอติมในสวนสาธารณะ ร้านขายลูกชิ้นในตลาด แน่นอนว่าสินค้าพวกนี้พอค้ารับเงินสดอยู่แล้ว หากเราไปบอกเขาว่าเราจะมาจ่ายที่หลังเขาก็อาจจะไม่ขายเรา แต่ธุรกิจบางอย่างก็ต้องขายเป็นเงินเชื่อ เช่น ของมูลค่าสูงๆที่การจะควักเงินสดนั้นทำได้ยาก เช่น สั่งของมูลค่า 100 ล้าน แล้วโดนสั่งว่าโปรดวางเงินสดก่อนการผลิต อันนี้ก็ทำให้การทำธุรกิจยากกันไปนิดหนึ่งและสภาพคล่องทางการเงินของฝั่งที่สั่งของอาจจะพบกับความเสี่ยงไม่ใช่น้อย หรือธุรกิจบางอย่างอาจจะต้องการหมุนเร็วเช่น สินค้าแฟชั่น ไม่งั้นตกรุ่นก็รีบทำรีบขายรีบจ่าย

อำนาจการต่อรองระหว่างคู่ค้า

บางครั้งเราจะเห็นได้ว่า บริษัทยักษ์ใหญ่คิดจะควักเงินเยอะๆเขาก็ทำได้แต่ในเรื่องของอำนาจการต่อรองระหว่างคู่ค้าเนี่ยก็สำคัญ โดยปกติแล้วหากใครมีอำนาจต่อรองที่สูงกว่าก็ย่อมได้เปรียบในการเลือกใช้วิธีการที่ตัวเองต้องการ หากเราเป็นธุรกิจเล็กๆต้องการขายของในเข้าห้างก็ต้องยอมให้ห้างนำสินค้าไปขายได้ก่อนและค่อยรับชำระเงินในภายหลัง อาจจะเป็น 3 เดือน 6 เดือนก็แล้วแต่ตกลง แต่ถ้าเกิดบริษัทที่ผลิตสินค้าเป็นรายใหญ่และเราเปิดร้านค้าเล็กๆ แน่นอนว่าเขาก็คงมีอำนาจต่อรองว่าให้เรารีบชำระเขาภายในเวลาเท่าไหร่หรืออาจจะต้องจ่ายสดเลยก็ได้ นอกจากอำนาจต่อรองแล้วก็ยังเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือระหว่างกันด้วย

ธุรกิจที่น่าลงทุนควรเป็นอย่างไร

ทุกคนคงเดาได้ว่าในเมื่อการให้ลูกหนี้การค้ามีความเสี่ยงมากกว่าเงินสด ธุรกิจที่่น่าลงทุนก็คงหนีไม่พ้นธุรกิจที่ขายของไปแล้วได้รับเงินสดทันทีหรืออย่างน้อยได้รับเงินสดอย่างรวดเร็ว และหากธุรกิจนั้นจ่ายเงินสดได้ช้าให้กับเจ้าหนี้ ก็หมายถึงเขาสามารถนำเงินมาหมุนในการทำกิจการได้เรื่อยๆ เช่น

สั่งของมาอีก 6 เดือนจ่ายเจ้าหนี้ เอาไปขายของกับลูกค้าได้เงินสดตอนนั้น

และตำราพิชัยยุทธเขาก็บอกไว้ว่า หากธุรกิจไหนที่ไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไป แต่สามารถเพิ่มมูลค้าจากสินค้าที่ซื้อมาและผลิตออกไปจำหน่ายลูกค้าแล้วได้เงินสดทันที อันนี้ล่ะจะเป็นสุดยอดของธุรกิจที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างยอดเยี่ยม เช่น

สั่งไอศครีมมาต้นทุน 5 บาท กล้วยหนึ่งใบ 5 บาท นำไปขายเป็น บานาน่าสปริดราคา 130 บาท ได้รับเงินสดทันทีแล้วค่อยไปจ่ายต้นทุน 10 บาทที่หลังอีก 3 เดือน

รวยเมพๆเลยนะครับ

ธุรกิจที่มีเงินสดระยะสั้น นำเงินสดไปทำอะไรได้

เมื่อเรามีกระแสเงินสดวางไว้กับตัวเองเป็นเวลา 3-6 เดือน หลายคนก็คงถามว่า ทำไมไม่รีบเอาไปจ่ายคู่ค้าละครับ จะเก็บเอาไว้ทำแปะอะไร?

ถ้าผมขาย บานาน่าสริปต้นทุน 10 บาท กำไรขั้นต้น 120 บาท หักต้นทุนทั้งหมดเป็นกำไรแล้วสมมติได้ถ้วยละ 100 บาท ขายได้ซัก 1 แสนถ้วยต่อเดือน (เวอร์ไปไหม?) ผมคงจะมีกำไรประมาณ 10,000,000 บาท ถ้าผมเอาเงินตรงนี้ไปฝากในธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยระยะสั้นๆ เป็นเวลา 3-6 เดือนผมก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ถ้าผมจะเอาเงินก้อนนี้รีบสร้างสาขาใหม่ให้เสร็จภายใน 1 เดือน เดือนต่อมาผมก็อาจจะมีอีก 1 สาขาช่วยผมสร้างรายได้โดยที่ผมไม่ต้องออกตังลงทุนเองซักบาท แค่ใช้เงินหมุนของคู่ค้าเอานี่ล่ะ พอบอกตัวเลขแบบนี้ก็คงทราบได้เลยใช่ไหมครับว่า เงินสดนั้นถ้าอยู่กับตัวเรานานๆมันจะดีอย่างไร

เอาล่ะ นี่ก็คือเรื่องคร่าวๆของเงินสดและลูกหนี้การค้านะครับ หวังว่าหลายๆคนคงนำกลับไปนั่งดูได้ว่า ธุรกิจไหนที่มันน่าสนใจลงทุนบ้าง!!!! แต่อย่าลืมว่านี่ก็คือวิธีคิดแค่มุมหนึ่ง ต้องมองหลายๆมุมในการเลือกธุรกิจนะคราบ