ตลอดเวลาที่ผ่านมา นอกจากคำปรึกษาในเรื่องของประกันแล้ว คำปรึกษาที่ผมต้องเจอมากที่สุดอยู่เรื่องหนึ่งก็คือคำถามนี้

“พี่ครับ...พี่คะ... ถ้าอยากเป็นนักวางแผนการเงิน จะต้องเริ่มยังไงดี?”

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ผมจึงขออนุญาตมาเล่าให้ฟังถึงเส้นทางของผมในอาชีพนักวางแผนการเงินตั้งแต่ต้นว่า ผมมาทำงานนี้ได้อย่างไร ทำไมผมถึงตัดสินใจก้าวเดินในเส้นทางนี้?

เมื่อก้าวเข้ามาแล้ว ผมต้องพบเจออะไรบ้าง งานในแต่ละวันผมต้องทำอะไร และอะไรที่ผมได้จากงานนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของคนที่กำลังสนใจในอาชีพนี้ดูนะครับ

จุดเริ่มต้นอาชีพนักวางแผนการเงินของ Insuranger

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณต้นปี 2557 ตอนนั้นผมกำลังทำงานประจำอยู่ฝ่ายสินเชื่อธุรกิจที่ธนาคารแห่งหนึ่งมาแล้วประมาณ 3 ปี… ผมรู้สึกว่าผมไม่ค่อยมีความสุขในชีวิตสักเท่าไหร่นักในตอนนั้น

“ไม่ใช่เพราะผมทำงานประจำเป็นลูกจ้าง แต่เพราะผมไม่รู้ว่าเราทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ไปเพื่ออะไร?
ปลายทางมันจะไปจบที่ตรงไหน แล้วนี่มันคือเส้นทางที่เราอยากจะเลือกเดินจริง ๆ รึเปล่า?”

ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีพัฒนาทางการทางความรู้ความสามารถเท่าที่ควร ผมทำแต่สิ่งที่ทำอยู่เดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่มีความก้าวหน้าใดๆ เงินเดือนไม่ขึ้น ตำแหน่งก็ไม่ขยับ รู้สึกตัวเองเป็นเหมือนเฟืองเล็ก ๆ ตัวหนึ่งของระบบที่ใหญ่มาก เมื่อขาดไปก็ไม่มีใครเดือดร้อน เดี๋ยวก็หาคนมาแทนได้

และด้วยความที่บ้านผมอยู่ชานเมือง ผมจึงต้องตื่นแต่เช้าประมาณตี 5  เพื่อให้รีบมาถึงที่ทำงานก่อน 8 โมงเช้า และทำงานจนถึงประมาณ 1-2 ทุ่มเกือบทุกวัน กว่าจะถึงบ้านก็เกือบ 3-4 ทุ่ม แล้วก็ต้องรีบเข้านอนอีกแล้ว เพื่อตื่นมาทำอย่างเดิมในวันต่อไป จนเหมือนเวลาชีวิตมีแต่เรื่องงานกับท้องถนน ไม่มีเวลาสำหรับเรื่องอื่นๆในชีวิตเลย

ผมจึงเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ชีวิตเรามันต้องเป็นแบบนี้ไปอีก 30 ปีจริง ๆ หรือ?”

จะมีอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์กับคนอื่น มีคนเห็นคุณค่าของเรา ทำแล้วเราสนุก สามารถพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเรื่อยๆ โดยที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีเวลาให้กับเรื่องต่างๆ มีเวลาพักผ่อน มีเวลาดูแลสุขภาพ ได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและคนที่เรารักมากกว่านี้ มันมีอาชีพอะไรที่จะตอบโจทย์ประมาณนี้ได้บ้าง?

หลังจากนั้นผมก็พยายามค้นหาตัวเองว่าเราถนัดอะไร อะไรที่เราทำได้ดี แล้วเราชอบ และยังเป็นประโยชน์กับผู้อื่น ด้วยการอ่านหนังสือ และไปเรียนคอร์สสัมมนาต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กับการพยายามสมัครงานหลาย ๆ ที่ จนได้รู้จักกับผู้คนที่หลากหลายยิ่งขึ้น และเมื่อผมปรึกษาปัญหาของผมให้หลายๆคนฟัง ก็มีคนที่แนะนำและชักชวนผมเข้าสู่วงการ “ตัวแทนประกันชีวิต”

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของผมในสายอาชีพนี้...

สิ่งที่ต้องพบเจอในอาชีพตัวแทนประกันชีวิต

สาเหตุที่ผมตัดสินใจก้าวเข้ามาเป็นตัวแทนประกันชีวิต ก็เพราะหลังจากศึกษาข้อมูลของสินค้าและอาชีพนี้ดูอย่างละเอียดแล้ว ผมรู้สึกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีประโยชน์ เพราะประกันถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้คน ถ้าได้ทำอย่างเหมาะสม และลักษณะของการทำงานในอาชีพนี้ก็น่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ผมต้องการได้เป็นอย่างดี

แต่หลังจากลาออกมาทำงานเป็นตัวแทนประกันชีวิตมาได้สักพักผมก็พบว่า “ยังมีคนบางส่วนขายประกันแบบผิดๆ” เช่น ขอให้ช่วยซื้อเพื่อทำยอด พยายามตื๊อ พยายามกดดันด้วยการที่สร้างความรู้สึกผิดให้ลูกค้า หรือขายแต่ด้านดีๆ บอกข้อมูลไม่ครบไม่ตรงไปตรงมา จนทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดและเป็นการสร้างปัญหามากกว่าได้ช่วยเหลือผู้คน ซึ่งทำให้ผมรู้สึกไม่สบายใจ จนทำให้การทำงานด้านนี้ไม่ได้ช่วยให้ผมมีรายได้ที่ดีขึ้นเลย

(*ตรงนี้ไม่ได้มีเจตนาจะโจมตีอาชีพตัวแทนประกันนะครับ อย่างที่บอกไปว่าการกระทำแบบนี้มีแค่บางส่วนเท่านั้น แต่มันส่งผลต่อจิตใจในการทำงานส่วนตัวของผมครับ)

ระหว่างนั้นเอง ผมก็ได้เรียนรู้ว่า การเป็นตัวแทนประกันชีวิตนั้น สามารถต่อยอดไปสู่การเป็น “นักวางแผนการเงิน” หรือ “ที่ปรึกษาการเงิน” ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา หรือตอบโจทย์ทางการเงินแก่ลูกค้าได้ตรงจุดและหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางแผนเก็บเงิน การลงทุน การบริหารภาษี หรือการจัดการหนี้สิน นอกเหนือจากเรื่องของประกันอย่างเดียว ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้นทั้งสองฝ่าย คือทั้งกับตัวลูกค้าและตัวของคนทำงานเอง

“การเป็นนักวางแผนการเงิน ที่ทำงานในลักษณะของการให้คำปรึกษาอย่างถูกต้องนี่แหละ น่าจะเป็นทางออกของการขายที่ดี และมีคุณภาพ ที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด”

ผมจึงตั้งใจพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นนักวางแผนการเงินตั้งแต่บัดนั้น...

เตรียมตัวก้าวสู่การเป็นนักวางแผนการเงิน

สิ่งสำคัญในพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นนักวางแผนการเงินนั้น ผมคิดว่ามีอยู่ 2 ด้านหลัก ๆ ด้วยกัน คือด้านของ “ความรู้” และ “ความสามารถ”

ในด้านของความรู้ นอกจากจะศึกษาด้วยตัวเองแล้ว ผมก็ได้เข้าเรียน หลักสูตรคุณวุฒิ CFP?หรือ Certified Financial Planner ซึ่งมีสมาคมนักวางแผนการเงินไทยเป็นผู้ดูแลอยู่ โดยในหลักสูตรจะสอนทั้งในเรื่องของการตั้งเป้าหมาย, การวิเคราะห์ข้อมูลในปัจจุบัน การออกแบบแผนการเงินแต่ละเรื่องตามลำดับความสำคัญ, การบริหารรายรับรายจ่าย, การประเมินกระแสเงินสดล่วงหน้า, การบริหารจัดการเรื่องหนี้สิน, การวางแผนบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม, การวางแผนการลงทุน เพื่อสะสมเงินให้ถึงเป้าหมายชีวิตเรื่องต่างๆ, การบริหารจัดการภาษี รวมถึงการวางแผนส่งมอบทรัพย์สินและมรดก และยังสอนให้จัดทำแผนการเงินเพื่อนำเสนอลูกค้า ในแบบ “องค์รวม” เพื่อให้ตอบโจทย์การเงินทั้งหมดในภาพรวมด้วย ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการไปวางแผนเฉพาะเรื่อง พร้อมทั้งไล่สอบวัดความรู้ในแต่ละเรื่องจนครบ

เมื่อสอบครบทุกด้าน รวมถึงมีประสบการณ์การทำงานในอาชีพที่เกี่ยวข้องครบ 3 ปี แล้ว เราก็จะได้รับการขึ้นคุณวุฒิ CFP? เป็นการรับรองว่า เรามีความรู้ทางการเงินอย่างถูกต้องที่ได้รับการยอมรับในหลักสากล ที่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและมีโอกาสได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามากขึ้นอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะมีความรู้ทางการเงินเป็นอย่างดี ก็อาจจะไม่ได้การันตีความสำเร็จในงานนี้ก็เป็นได้ ถ้าเราเป็นคนที่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่มีความสามารถที่จะจัดการสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีพอ เพราะบางที เราก็อาจจะเจอลูกค้าที่ไม่ได้ทำตามแผน หรือปฏิเสธคำแนะนำของเรา ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในการทำงาน เมื่อเจอแบบนี้ ผมจึงต้องรักษาทัศนคติที่เป็นบวกแล้วเดินหน้าต่อ พร้อมทั้งพัฒนาความสามารถด้านอื่นๆไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะทักษะความสามารถด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือการเขียน เพราะงานนี้เป็นงานที่ต้องสื่อสารกับลูกค้าและคนรอบข้างตลอดเวลา จึงต้องรู้จักสื่อสารอย่างมีศิลปะในการเข้าใจความต้องการและความรู้สึกของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกที่ดี สบายใจ และเชื่อมั่นเพียงพอที่จะลงมือทำตามแผนที่วางไว้

สุดท้าย ในการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบ นักวางแผนการเงินจำเป็นต้องมี “ใบอนุญาต” ในการทำงาน ทั้งในส่วนของทางฝั่งประกัน และฝั่งการลงทุน โดยทางฝั่งประกัน ก็จำเป็นต้องไปสอบให้ได้ ใบอนุญาต ตัวแทนประกันชีวิต หรือนายหน้าประกันชีวิต และถ้าจะแนะนำสินค้าประกันภัย (เช่นประกันอัคคีภัย, ประกันการเดินทาง) ก็ต้องมี ใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัย ด้วย ทางฝั่งลงทุน ในการจะแนะนำหลักทรัพย์ (เช่น หุ้น, ตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม) ได้ ก็ต้องไปสอบ ใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน หรือ IC (Investment Consultant) และหากมีการออกแบบแนะนำเป็นกลุ่มหลักทรัพย์ (พอร์ตการลงทุน) ก็ต้องไปสอบให้ได้ ใบอนุญาตผู้วางแผนการลงทุน หรือ IP (Investment Planner) อีกด้วย

งานประจำในแต่ละวันของอาชีพนักวางแผนการเงิน

การทำงานของผมจะเริ่มต้นที่ทุกปลายเดือน

ผมจะโทรติดต่อนัดหมายลูกค้าที่สนใจอยากขอปรึกษาเรื่องการเงินตามรายชื่อที่ได้รับมา จนมีนัดตลอดเดือนครบตามที่วางไว้ ในการโทรนัด ผมจะผมแจ้งให้ผู้ขอรับคำปรึกษารับทราบรายละเอียดคร่าวๆของบริการ และขอให้เตรียมข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการเงินต่างๆ มาให้พร้อมในวันนัดหมายด้วย เมื่อถึงวันนัดหมาย ผมก็จะไปอธิบายการให้บริการอย่างละเอียด ว่าผมทำอะไรได้บ้าง ลูกค้าจะได้อะไรกลับไป และลูกค้าต้องทำอะไรบ้าง จากนั้นก็จะพูดคุยสอบถามตามข้อมูลต่างๆที่ทางลูกค้าได้ให้มา เพื่อค้นหาความต้องการและเป้าหมายการเงินของลูกค้า เพื่อนำไปจัดทำแผนการเงินมาให้

วันที่ไม่ได้พบลูกค้า

ผมก็จะตื่นประมาณ 8.00 น. หลังอาบน้ำ ทานข้าวเสร็จ ก็จะเริ่มนำข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์และทำแผนการเงินให้ ทั้งวันจนถึงค่ำๆ ระหว่างวัน ช่วงเย็น ผมอาจจะพักไปออกกำลังกาย และทานอาหาร รวมถึงแบ่งเวลาพักผ่อน อ่านหนังสือบ้าง แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ อยู่แบบนี้ประมาณ 2-3 วันจนแผนการเงินเสร็จ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความละเอียดและยากง่ายของลูกค้าแต่ละราย หลังจากนั้น ก็จะโทรนัดหมายลูกค้าเพื่อขอนำเสนอแผนการเงินที่วางไว้ต่อไป โดยหลังจากเสนอแผนและลูกค้าได้ทำตามแผนที่แนะนำแล้ว ก็จะมีการทบทวนแผนที่ได้แนะนำไปปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าและมีการปรับปรุงแผนอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ในบางวันผมอาจจะต้องแบ่งเวลาไปทำงานเสริมอื่น ๆ บ้าง

เช่น เขียนบทความ ทำสไลด์สอน เตรียมตัวไปบรรยายเรื่องการเงินตามองค์กร หรือตามสถานศึกษา หรือไปให้ความรู้ตามสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ YouTube หรือ Podcast Channel ตามแต่โอกาสที่เข้ามาบ้างประปราย ซึ่งก็เป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่งอีกด้วย

สิ่งที่ได้รับจากอาชีพนักวางแผนการเงิน

หลักจากที่ผมทำอาชีพนี้อย่างเต็มตัวมาประมาณ 5 ปี ได้ผ่านทั้งช่วงที่ยากลำบากในการพัฒนาตัวเอง สร้างความน่าเชื่อถือ และการหาลูกค้า ผมพบว่า อาชีพนี้ให้อะไรกับผมมากมาย ที่ช่วยให้ชีวิตของผมดีขึ้น ไม่เพียงแค่เรื่องของรายได้ แต่รวมทั้งเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ ทำให้ผมมีเวลาใส่ใจกับเรื่องต่างๆในชีวิตมากขึ้น ทั้งเรื่องสุขภาพ ส่วนตัว และคนรอบข้าง ไม่ต้องรีบร้อนเบียดเสียด แก่งแย่งกับใคร

สิ่งทีทำ ก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ที่ได้ช่วยให้ชีวิตของคนที่เราเข้าไปสัมผัส ได้มีแผนชีวิต มีการจัดการการเงินที่เหมาะสมอย่างถูกทิศทาง ที่ช่วยสร้างความหวัง และความมั่งคั่งมั่นคงในชีวิตของเขาให้ดีขึ้น ทำให้เราได้เห็นคุณค่าในตัวเอง และมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการใช้ชีวิตเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ที่เป็นความสุขที่แท้จริงของชีวิต

แม้การทำงานอาจจะมีความไม่ราบรื่นไปเสียทุกอย่าง ต้องเผชิญปัญหาหลายด้านอยู่บ้าง แต่ปัญหาและอุปสรรคต่างๆในงาน ก็ช่วยให้ผมได้เรียนรู้ข้อบกพร่องของตัวเอง และนำมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง ทั้งเรื่องความสามารถและทัศนคติ ให้ดีขึ้น ทำให้เรามีโอกาสพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้เรื่อยๆอยู่เสมอ

นอกจากนี้ การเป็นนักวางแผนการเงิน ยังเปิดโอกาสการทำงานใหม่ๆให้ผมมีโอกาสได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง เช่น การได้เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ทางการเงิน การได้เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย การได้ก้าวไปเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท Fintech Start Up ซึ่งถือเป็นการได้พัฒนาตัวเองหลายๆด้าน และเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้มากขึ้นอีกด้วย

อยากเป็นนักวางแผนการเงินเริ่มต้นอย่างไรได้บ้าง?

อันที่จริงแล้ว การก้าวเข้ามาเป็นนักวางแผนการเงิน สามารถเข้ามาได้จากหลายสายงาน ทั้งทางฝั่งหลักทรัพย์และทางฝั่งประกัน ทั้งที่สังกัดบริษัท และไม่สังกัดบริษัทใดๆ เช่น เป็นที่ปรึกษาการลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.), การเป็น Relationship Manager ในการแนะนำผลิตภัณฑ์การเงินที่ธนาคาร หรือการเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิต กับบริษัทประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัย

แต่จากประสบการณ์ของผม การได้เริ่มต้นสายอาชีพกับบริษัทประกันชีวิต ถือว่าเป็นประโยชน์กับผมอย่างมาก เพราะเป็นสายที่สามารถทำงานได้อย่างอิสระ และการที่ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้ผมได้ฝึกฝนตัวเองให้สามารถทำงานได้อย่างมีวินัย มีแนวคิดอย่างผู้ประกอบการที่ได้ใช้ความคิด ความรู้ ความสามารถอย่างเต็มที่ ได้เรียนรู้การขายที่ทำให้เราเข้าใจความต้องการของผู้คนมากขึ้น และยังได้ฝึกฝนเรื่องบุคลิกภาพและการสื่อสาร จากการลงตลาดจริง ได้มีเวลา มีโอกาสได้ทำแผนการเงินจริงๆ ในแบบที่หากเข้าไปทำงานในสายงานประจำอาจไม่สามารถทำได้ ซึ่งหากผมไม่ได้ฝึกฝนทักษะความสามารถเหล่านี้จากการเป็นตัวแทนประกันชีวิตมาก่อน บางทีผมอาจจะไม่สามารถเป็นนักวางแผนการเงินได้อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็เป็นได้

ดังนั้น หากใครสนใจจะก้าวเข้าสู่อาชีพนี้จากฝั่งตัวแทนประกันชีวิต ทางบริษัท กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต ก็มีโครงการ  KT-AXA FSA หรือ กรุงไทย-แอกซ่า Financial Service Advisor ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้ก้าวไปเป็นนักวางแผนการเงินโดยเฉพาะ โดยมีทั้งการฝึกอบรมความรู้และทักษะ การสนับสนุนการสอบ CFP? มีระบบพี่เลี้ยงคอยเทรนนิ่ง รวมถึงเครื่องมือที่ทันสมัยที่ช่วยให้การทำงานวางแผนของเราง่ายขึ้นอีกด้วย สามารถศึกษารายละเอียดรวมถึงสมัครได้ที่ http://bit.ly/2SJrTjh

ใครสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องของอาชีพนักวางแผนการเงินนั้น ผมได้เคยเขียนไว้แล้วในบทความทั้ง 2 บทความนี้ https://bit.ly/2UY4vw3 และ https://bit.ly/2TKBfst

บทสรุป

อาชีพนักวางแผนการเงิน เป็นอาชีพหนึ่งที่ช่วยทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งตัวเราเองที่ได้มีโอกาสพัฒนาความรู้ความสามารถอยู่เสมอ ภายใต้การใช้ชีวิตที่สามารถออกแบบเองได้ พร้อมผลตอบแทนที่ยุติธรรม ตามความรู้ ความสามารถ ความขยันของแต่ละคน รวมถึงผู้คนอื่นๆที่เราได้เข้าไปช่วยให้มีเป้าหมายชีวิต ได้จัดการการเงินของตัวเองอย่างถูกทิศทาง

ดังนั้น ผู้ที่สนใจที่จะเข้ามาทำงานนี้ ก็ควรเป็นคนที่มีความกระตือรือร้น มีระเบียบวินัย มีแรงผลักดันในชีวิต ใฝ่หาการพัฒนาตัวเอง หรือกำลังมองหาอาชีพที่ทำแล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้ช่วยเหลือตอบโจทย์การเงินให้แก่ผู้คน โดยต้องมองผลประโยชน์ของผู้อื่นเป็นหลัก ก่อนผลประโยชน์หรือผลตอบแทนส่วนตัว จึงจะมีโอกาสประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้

หากประสบการณ์ทั้งหมดของผมตามที่ได้เล่ามา ตอบโจทย์ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ อาชีพนักวางแผนการเงินก็อาจเป็นอาชีพที่เรากำลังมองหาอยู่เป็นได้นะครับ

บทความนี้เป็น Advertorial