งานนี้ลูกจ้างมีเฮ... ทำไมมาดามเรียกมันว่า “ขุมสมบัติโชค 3 ชั้น” ??

หลายคนพอรู้จักว่ามันคืออะไร และอีกหลายคนยังไม่.. มาค่ะ มาเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร?

มันคือ... “ตัวช่วยลูกจ้างให้มีเงินเก็บ”

เพราะเค้ารู้นิสัยพวกเธอไงยะ.. ว่า คนทั่วไป ถ้าไม่บังคับ ก็ไม่มีเงินเก็บ!

ดังนั้น เค้าเลยให้เธอสมัคร แล้วออมโดยหักจากเงินเดือนเธอไปเลยจ้า!

เอาเงินตรงนี้จากทุกคนมากองรวมกัน แล้วมีคนช่วยจัดการเอาไปลงทุนต่อ

(ถ้าของข้าราชการก็คือ กองทุนกบข. ถ้าของครูเอกชนก็คือ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน)

...

ถ้าเปรียบเทียบกับรถยนต์ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ"
คือ "ยางสำรอง", "ยางอะไหล่"

เมื่อออกจากงาน ยางที่ใช้อยู่มันแตก ก็เอาไอ้เจ้านี่แหละ..

มาใช้ ถูไถ ขับชีวิตไปได้ต่อ

ฝากถึงเธอทุกคนที่อ่านอยู่ตอนนี้

ไม่ว่านายจ้างเธอมีกองทุนนี้ให้หรือไม่มี มันจะเป็นบุญเป็นความดีงาม

ถ้าเธอได้บอกกล่าวแชร์เรื่องนี้ให้คนรอบตัวได้ "ฉุกคิด"

ถ้านายจ้างเค้ามี > ให้เค้าไปใช้สิทธิรับโชค มีเงินสำรอง หรือยางอะไหล่ติดตัวยามออกจากงาน

ถ้านายจ้างเค้าไม่มี > เค้าจะได้รู้ตัวว่า...

มีคนอีกหลายคนที่มี "ยางอะไหล่สำรอง" ในชีวิตตรงนี้อยู่ ถ้าตอนนี้รู้ชัดแล้วว่าเราไม่มี ก็ควรคิดซื้อยางอะไหล่เป็นของตัวเอง

อ่ะ....ขุมทรัพย์หรือโชคหลายชั้น  คือยังไง? มาล้อมวงดูกัน

โชคชั้นที่ 1 “ออมดี..มีป๋าเบิ้ลให้”

ต้องเข้าใจกันก่อนว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้มันไม่ใช่ภาคบังคับ มันเกิดจากความสมัครใจของนายจ้างเฉยๆ

ถ้าตั้งเจ้ากองนี้ขึ้นมา นายจ้างเค้าต้องควักเงินออกจากกระเป๋าเพิ่มเพราะ...

เธอออมเท่าไร นายจ้างควักกระเป๋าเบิ้ลให้ด้วย!

เฮ้ย...ป๋ามั้ยล่ะ? ใจมั้ยล่ะ?

เนี่ยอ่ะแหละ... โชคชั้นที่ 1 ออมดี...มีป๋าเบิ้ล

มาดามชวนคิด

  • ถ้านายจ้างเธอ "ไม่มี" ตรงนี้ให้ เราไปบังคับเค้าไม่ได้ค่ะ ทำได้แค่จำใส่ใจไว้ว่า “ไม่มี” แล้วออมเองค่ะ สร้างทุนสำรองเลี้ยงชีพเอง เช่น ไปซื้อ RMF ก็แค่ไม่มีคนเบิ้ลให้แค่นั้นเอง... อะฮือ T_T
  • ถ้านายจ้างเธอ "มี" ตรงนี้ให้ จงรักเค้าแล้วอย่าปล่อยให้โชคลอยนวลค่ะ นายจ้างเค้ารักเธอระดับนึงเลยล่ะ เป็นห่วงอยากให้เธอมีเงินเก็บ และยังเป็นป๋าเบิ้ลให้ด้วย ไม่รักเค้าก็นะ..ใจร้ายเกิ๊น

ปกติการออมและสมทบ เริ่มต้นที่ 2%-15% ของรายได้ เราจะออมได้มากสุดเท่าไร ป๋านายจ้างจะเบิ้ลให้เท่าไหร่ ไปอ่านดูคู่มือสมาชิกกองทุนนะ เธอจงวิ่งไปขอที่ฝ่ายบุคคล แต่ละที่ไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างมาค่ะ!

ได้เงินก้อนนี้ตอนไหน แล้วจะได้เท่าไหร่???

เงินออมก้อนนี้เธอจะได้ตอนเธอออกจากงาน

ส่วนที่หักจากเงินเดือนเธอเองเธอได้เต็มๆแน่ๆ
แต่เธอจะได้จากป๋าเท่าไหร่อ่ะ ไม่แน่!

อ้าว...แล้วจะรู้ได้ไง??

ให้ไปอ่านจากคู่มือสมาชิกกองทุน (อีกแล้ว) ส่วนใหญ่มีเงื่อนไขไว้อยู่ ว่าต้องทำงานนานกี่ปี ป๋าจะปล่อยเงินเบิ้ลให้กี่เปอร์เซ็นต์ ปกติยิ่งอยู่นาน..ยิ่งได้เยอะ เพราะจุดประสงค์ของการตั้งกองนี้ เค้าก็อยากให้พนักงานอยู่กับเค้านานๆ 

อย่าลืม!!

ตอนออกจากงาน เช็คเรื่องอายุงานและการยื่นภาษีด้วย

เงินที่ได้จากตรงนี้ถือเป็นเงินได้ ต้องยื่นภาษี

อะไรยังไง แนะนำให้คลิกอ่านอันนี้ >>>>>

ออกจากงานระหว่างปี...อย่าลืมยื่นภาษีด้วยนะจ๊ะ

ลงมือปฏิบัติ

จงเดินไปถามฝ่ายบุคคลว่าบริษัทเรามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมั้ย

  • ถ้าไม่มีก็เดินคอตก ร้องเพลงคนที่แพ้ก็ต้องดูแลตัวเองต่อไป คิดและเปิดบัญชีซื้อ RMF เองซะ
  • ถ้ามีจงดีใจ..สมัครด่วนแล้วขอคู่มือกฎระเบียบมาศึกษา

ประสบการณ์ตรง

ตอนมาดามเริ่มทำงาน เค้าให้เลือกว่าจะเอากี่ %

ด้วยความไม่รู้และไม่ขยันศึกษา ก็เลือกขั้นต่ำไป 3%

พอตอนออกจากงานนะเธอ!!!!! เพื่อนที่เค้าเลือก 5% ได้เงินก้อนเยอะกว่าเราเยอะเลยอ่ะ ฮือ... (T^T) ถ้าตัดใจใช้เงินให้น้อยลงได้ จงเห็นแก่ประโยชน์ระยะยาว เลือกอัตราสูงสุดที่เค้าให้ไปซะนะ

โชคชั้นที่ 2 เงินออมกองนี้ไม่ออมเปล่า..เอาไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย!

เฮ้ย..ดีเกินไปแล้ว! ไม่จริงใช่มั้ย?

จะให้ช่วยตบหน้าพิสูจน์มั้ยล่ะ..ว่ามันคือเรื่องจริงย่ะ!!!

เงินที่หักจากเงินเดือนเราเข้ากองทุนนี้ เอาไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกิน 15% ของรายได้และไม่เกิน 500,000 บาท

เนี่ยแหละ... โชคชั้นที่ 2 ออมดี..ประหยัดภาษี

คนที่ออมเก่ง ออมสองเด้ง คือออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย ซื้อRMF เพิ่มด้วย เธอต้องเอา 2 ก้อนนี้มารวมกันแล้วใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ไม่เกินตามที่ว่ามาข้างบนนี้แหละ

ลงมือปฏิบัติ

อย่าลืมเอายอดที่เราออมเข้ากองทุนสำรองฯ ในระหว่างปีมาใส่ลดหย่อนตอนยื่นภาษีด้วย เราควรต้องได้รายงานสรุปมูลค่าลงทุนทุกๆ 6 เดือน ถ้าไม่ได้รับก็วิ่งไปหาฝ่ายบุคคลอีกเช่นกันค่ะ

โชคชั้นที่ 3 เงินออมกองนี้ไม่แช่แข็ง มีโอกาสมีผลตอบแทนมีความเติบโต

อันนี้ก็แล้วแต่นายจ้างอีกแหละ ว่าเค้ามีกี่กอง แล้วเธอสมัครกองไหน?

ส่วนใหญ่แบ่งตามนโยบายในการลงทุน ชอบเสี่ยงเยอะหน่อยก็เลือกกองที่ลงทุนในหุ้นมากหน่อย กองที่เสี่ยงน้อยหน่อยเค้าก็เอาเงินเราไปลงทุนในพวกตราสารหนี้หรือพันธบัตร

คนไม่ชอบเสี่ยงหรืออายุเยอะแล้ว
มาดามแนะนำเลือกกองที่ลงทุนแบบเสี่ยงต่ำๆ หน่อย

เพราะเธอต้องการความนิ่งความแน่นอนของมูลค่ามัน คนอายุเยอะ "เวลารับความเสี่ยงของเธอเหลือน้อย" และเธอเองจะได้ไม่ปวดใจหัวใจวายเวลาตลาดหุ้นผันผวน