“ช่วงนี้ลงทุนกับกองทุน จะเริ่มต้นยังไง” 
“จะไปงาน SET in the city จะซื้อกองทุนไหนดี”
“อยากเก็บเงินมากๆ มีกองทุนไหนที่น่าสนใจบ้าง”

คำถามเหล่านี้คงอยู่ในใจของใครหลายๆคนเป็นแน่ เพราะในวันพฤหัส-อาทิตย์ที่ 16-19 พฤศจิกายน 2560 นี้ มีงาน “ที่สุดของนวตักรรมการลงทุนแห่งปี SET in the City” ณ รอยัลพารากอนฮอล์ ชั้น 5 สยามพารากอน  เวลาตั้งแต่ 10.00 น. - 20.00 น.

ซึ่งในงานนี้ทุกคนจะได้มาอัพเดตนวัตกรรมแห่งอนาคต การเข้าถึงแหล่งข้อมูล ลงทุนออนไลน์ การใช้ Tools ต่างๆ  จากบูธการเงินการลงทุนกว่า 100 องค์กรชั้นนำ และมีเวทีสัมมนา Work Shop จากผู้เชี่ยวชาญ ถึง 2 เวทีด้วยกัน เรียกได้ว่าปีนี้ทางผู้ใหญ่ใจดีอย่าง SET ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดเต็มเหมือนเช่นเคยครับ

ใครที่สนใจในการลงทุน หรืออยากเริ่มต้นลงทุนห้ามพลาดจริงๆนะครับปีนี้ เพราะต้องยอมรับจริงๆครับว่า เรากำลังเดินทางมาถึง “ยุคใหม่ของการลงทุน” ที่มีนวัตกรรมทางการลงทุนเกิดขึ้นมากมาย

ดังนั้นการที่เราต้องรู้ให้เท่าทัน เตรียมความพร้อมสู่โลกของการลงทุนให้ทันต่อเทรนด์และเทคโนโลยีที่หมุดเร็วกว่าตัวเราจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ครับ

มือใหม่อยากจะลงทุน มางาน SET in the city ต้องเตรียมอะไรมาบ้าง?

ง่ายมากครับ แค่มางานนี้พร้อมกับเอกสาร บัตรประชาชน / ทะเบียนบ้าน / สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร เพียงเท่านี้ ก็สามารถทำธุรกรรมลงทุนจบได้ในที่เดียวเลยครับ จะลงทุนทั้งทีทำไมต้องรอ เห็นมะง่ายนิดเดียว~

เอาล่ะ แน่นอนว่าหลายๆคนคงมีคำถามในใจเยอะแยะมากมายแน่ๆ แต่ก่อนที่จะถามว่าจะซื้อกองทุนไหนดี? เรามาทำความเข้าใจกันก่อนดีกว่าครับว่า มีสิ่งที่ควรจะตรวจสอบ หรือ หาข้อมูลก่อนบ้างมาดูกันนะครับ

รับรองว่าถ้าใครได้อ่านบทความนี้เพื่อเตรียมตัวก่อนไปงาน SET in the city 2017 นี้ รับรองว่าจะไปพร้อมความมั่นใจและไม่มีผิดหวังแน่นอนครับ!

10 เรื่องที่ต้องทำ ก่อนจะถามว่า “กองทุนไหนดี?”

1. มีเป้าหมายในการลงทุน

ข้อแรกครับ คือ ต้องมีเป้าหมายในการลงทุนเสียก่อน เพราะว่า ถ้ามีเป้าหมายไม่ชัดเจนแล้ว จะทำให้เราเดินผิดทางได้ง่าย ๆ (หลงป่าไปเลยครับ) เมื่อเริ่มต้นไม่ถูก ที่สิ่งตามมาก็อาจจะผิดไปหมดได้

จำไว้เสมอว่า เป้าหมายการลงทุนของแต่ละคนจะไม่มีทางเหมือนกัน บางเป้าหมายสำคัญมาก บางเป้าหมายสำคัญน้อย และห้ามเอามาเปรียบเทียบกันนะครับ ดังนั้น ก่อนจะมาลงทุนได้นั้น เราเองก็ควรที่จะต้องวางแผนการเงินมาพอสมควรครับ ว่าเรามีเป้าหมายอะไรบ้างกี่อย่างที่ต้องบรรลุในอนาคตให้ได้ เริ่มคิดมันเสียตั้งแต่ตอนนี้เลย

ที่สำคัญอย่าลืมเรียงลำดับ ความสำคัญ ด้วยนะครับ เพราะถ้าเราเรียงความสำคัญของเป้าหมายได้ จะทำให้เราวางแผนได้ดีขึ้นครับ

อะไรที่สำคัญเราคงต้องทำก่อน เพราะว่าไม่สำเร็จไม่ได้ เช่น เกษียณมีเงินไม่พอ, ชีวิตเราก็คงไม่สามารถอยู่ได้อย่างแน่นอน

2. ระยะเวลาการลงทุน

เรื่องระยะเวลาการลงทุน เราจะต้องคิดเป็นอันดับที่ 2 เนื่องจากว่าจะเป็นตัวกำหนด แนวทางการลงทุนของเราครับ ว่าจะเป็นอย่างไร เช่น ถ้าเป้าหมายเกษียนที่มีระยะเวลาการลงทุนนาน ถึงจะสำคัญ แต่ก็อาจจะเสี่ยงได้มากหน่อย เนื่องจากมีระยะเวลาการลงทุนที่ค่อนข้างนานทำให้ความผันผวนเวลาที่เราลงทุนไปแล้วนั้นไม่สูงจนเกินไปครับ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นเป้าหมายเกษียณ แต่มีระยะเวลาการลงทุนไม่นานเท่าไหร่ เราอาจะลงทุนแบบเน้นให้เงินต้นอยู่ครบ มากกว่าที่จะต้องเอาเงินที่หามาได้ในช่วงใกล้เกษียณไปเสี่ยงครับ หรือ ถ้าอยากเสี่ยงนิดหน่อย ก็คงต้องมีการจัดพอร์ตการลงทุนที่ดี และ รัดกุมมากขึ้นครับ

ดังนั้น ผมจึงขอแนะนำว่าให้เริ่มลงทุนกับเป้าหมายที่สำคัญ และใช้เวลานานก่อนซึ่งก็คือ "เป้าหมายเกษียณ"

เนื่องจากจะช่วยให้เราไม่ต้องเจอกับความผันผวนมาก และยังช่วยให้ได้ผลตอบแทนที่ดี เงินที่เก็บในแต่ละเดือนก็ไม่ต้องสูงมาก ก็มีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้นั่นเองครับ

“นอกจากเวลาจะช่วยเยียวยาหัวใจแล้ว เวลายังเป็นเพื่อนแท้ของนักลงทุนด้วย” (ฮิ้วววว)

3. รับความเสี่ยงได้ ต่ำ กลาง หรือว่า สูง

เรื่องความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคนก็อย่าละเลยครับ เนื่องจากว่าแต่ละคนมีความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากันอย่างแน่นอนครับ เช่น บางคนรับขาดทุนได้ 10% บางคันรับได้ถึง 50% ครับ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับหลายอย่างด้วย เช่น มีสินทรัพย์มากหรือว่าน้อย ,เงินที่ลงทุนนั้นมีภาระหรือไม่ (กู้มาลงทุน) ดังนั้นเราเองก็ควรที่จะตรวจสอบใจของตนเองก่อนนะครับว่ารับได้แค่ไหน

4. เข้าใจประเภทของกองทุน และสินทรัพย์การลงทุน

เนื่องจากกองทุนมีหลายแบบครับ ตั้งแต่กองทุนเสี่ยงต่ำ ๆ อย่างกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ ความเสี่ยงกลางก็เช่น กองทุนอสังหา ฯ, กองทุนผสม และกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนหุ้น กองทุนกลุ่มอุตสาหกรรม

ถ้าเราเข้าใจดี เราจะสามารถนำมาจัดให้เหมาะกับเป้าหมาย และความเสี่ยงของเราครับ เช่น เป้าหมายที่ต้องการความแน่นอน อาจจะต้องลงทุนกับกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำหน่อย เช่น เหลืออีก 5 ปีจะเกษียณแล้ว เราคงไม่สามารถลงทุนในกองทุนหุ้นได้ 100% ของเงินที่มี เราจะลงทุนกับกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำในสัดส่วนที่มากกว่ากองทุนความเสี่ยงสูงครับ เช่น กองทุนหุ้น 20% ที่เหลือเป็นกองทุนตราสารหนี้ หรือว่ากองทุนที่มีความเสี่ยงระดับกลางก็ได้ครับ

5.รู้จักระยะเวลาการลงทุนของแต่ละสินทรัพย์

เพราะอย่าลืมว่า "ระยะเวลาการลงทุนกับกองทุนแต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกันครับ"

ถ้าเราจะเน้นความปลอดภัยของเงินลงทุนของเรา เช่น ถ้าเราจะลงทุนกับกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง อย่างกองทุนหุ้นนั้น เราอาจจะต้องคิดไว้เสมอครับ ว่าจะต้องเน้นการลงทุนระยะยาวประมาณ 5-7 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวงรอบของธุรกิจ และการลงทุนระยะยาว 5-7 ปีในกองทุนหุ้น จะทำให้ความเสี่ยงลดลงอย่างมากครับ โอกาสขาดทุนน้อยลง แต่ถ้าเป็นกองทุนตราสารหนี้นั้น เราก็คงเน้นการลงทุนในระยะเวลา 1-3 ปี ขึ้นกับประเภทของตราสารหนี้ และอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนว่าเป็นอย่างไร ถ้าอายุเฉลี่ยสูงก็มีโอกาสที่จะเห็นความผันผวนได้มาก แต่ก็ไม่ได้มากเกินไปนะครับ เนื่องจากกองทุนตราสารหนี้นั้น เป็นสินทรัพย์ที่ค่อนข้างจะปลอดถัยนั่นเอง

แต่บางคนเอาเงินที่ต้องใช้ในระยะใกล้ ๆ ไปลงทุนกับกองทุนที่มีความเสียงสูง ก็จะทำให้เงินเราไม่ปลอดภัยได้ และ จะรู้สึกร้อนรนถ้าหากเห็นราคากองทุนลดลง หรือว่าผันผวนแน่นอน

ดังนั้นเราจะต้องจับคู่ความสัมพันธ์ ของเป้าหมาย สินทรัพย์ ระยะเวลา ความเสี่ยง รวมถึง ความสำคัญให้ดีครับ จึงจะได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม และความเสี่ยงไม่สูงจนเกินไปนั่นเอง

6. ต้องรู้ว่าจะลงทุนเป็นเงินก้อน หรือว่า ทยอยลงทุน

การที่มีเงินก้อน หรือว่าการที่มีกระแสเงินสดเพื่อการลงทุน เองก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ด้วยกระแสเงินสดที่ต่างกัน แนวคิดการลงทุนเองก็ต่างกันไปด้วย

1. มีกระแสเงินสด

  • อันนี้เน้นการลงทุนแบบ DCA(ลงทุนทุกเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน) ไปน่าจะดีกว่านะครับ แต่ก็เหมาะกับกองทุนที่มีความผันผวนมาก ๆ เช่น กองทุนหุ้นต่าง ๆ นั่นเอง กองทุนที่เสี่ยงน้อย ๆ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้อง DCA ก็ได้ครับ หรือจะทำก็ได้ แต่ผลตอบแทนก็ไม่ได้ต่างกันมาก
  • เหมาะกับเป้าหมายไกล ๆ เนื่องจากเป้าหมายระยะไกลเราต้องการเงินก้อนใหญ่ แต่ถ้าเราไม่มี วิธีนี้ก็เป็นการสะสมเงินที่ดีครับ

2. มีเงินก้อน

  • ต้องเน้นไปทางจัดพอร์ตการลงทุน อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น โดยดูเป้าหมาย และความเสี่ยง หรือ บางครั้งมีเงินก้อนก็สามารถแบ่ง เพื่อที่จะทยอยลงทุนตามจังหวะของตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงก็ได้
  • การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ - กลาง เช่นกองทุนตราสารหนี้ ตลาดเงิน และ อสังหา ฯ พวกนี้ไม่จำเป็นต้องทยอยลงทุนนะครับ ลงทุนเป็นเงินก้อนได้ ยิ่งลงทุนเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสได้ผลตอบแทนเร็วเท่านั้นครับ

7. วางแผนการเงิน เตรียมแผนสำรอง

อันนี้สั้นๆ แต่สำคัญครับ มีเตรียมไว้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนหรือยัง?

"ก่อนลงทุนต้องมีไว้นะครับ เผื่อว่าฉุกเฉินจะได้มีเงินมาใช้ ไม่ต้องรบกวนเงินในพอร์ตการลงทุนของเราครับ"

8. มีวินัยในการลงทุน

ถ้าทำ DCA แล้วไม่ทำต่อเนื่อง (อย่างน้อย ๆ ก็ต้อง 5-7 ปีละ) ผลตอบแทนในระยะยาว ๆ เราก็คงไม่เป็นดังหวัง และที่สำคัญคือ เจอวิกฤตก็อย่าหยุดทำ เนื่องจากเป็นจังหวะที่ดีในการเก็บของราคาถูก จนได้ราคาเฉลี่ยที่ต่ำลง และเมื่อตลาดฟื้นกลับมาตามวัฏจักรเศรษฐกิจ เราก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีครับ ไม่งั้น เฉลี่ยแต่ขาขึ้น ขาลงไม่เฉลี่ย ไม่มีวินัย รับรองว่า ไม่สำเร็จแน่ ๆ ครับ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราจะต้องเลือกกองทุนที่ดีด้วยนะครับ เลือกผิดกองทุนทำ DCA ไประยะยาว ๆ ก็อาจจะปวดใจก็ได้นะครับ

9. หาตัวช่วย คัดกรอง

การหาข้อมูลกองทุนเดี๋ยวนี้ก็ทำได้ง่าย ไม่ได้ยากเลยครับ แต่คลิกเพียงปลายนิ้วเราก็สามารถหาข้อมูลกองทุนได้อย่างง่ายดาย

เช่น เว็บไซต์ ของ Morningstar, siamchart ฯลฯ หรือจะขอข้อมูลโดยตรงจาก บลจ. เดี๋ยวนี้แค่ยกหูโทรศัพท์ ขอข้อมูลลึก ๆ ทาง บลจ. ก็มีคนที่จะส่งข้อมูลให้ อยู่แล้วครับ

ดังนั้น ก่อนที่จะถาม พี่หมอนัท คลินิกกองทุน ว่า "กองทุนไหนดี?" อย่างน้อยๆ หาตัวเลือกที่ดี ที่ชอบ แล้วเอามาคุยกันนะ รับรองว่า พี่หมอนัทจะตอบได้มันส์ และสนุกกว่าที่จะต้องมาเริ่มคุยกันตั้งแต่เรื่องการวางแผนการเงินแน่ๆครับ

ถ้าใครอยากคุยกับ พี่หมอนัท คลินิกกองทุน ก็มาคุยกันได้ที่ บูธ aomMONEY ในงาน "ที่สุดของนวตักรรมการลงทุนแห่งปี SET in the City" วันที่ 19 พ.ย. 2017 นี้นะจ๊ะ

10. ใฝ่รู้ ติดตามข่าวสารบ้าง และอย่าเชื่อใครง่าย ๆ

ข้อสุดท้าย ข้อนี้สำคัญมาก! อย่าเชื่อใครง่ายๆ สิ่งที่จะช่วยนักลงทุนทุกท่านได้คือ อ่านเยอะๆ หาข้อมูลเยอะ ๆ ลองหาหลายๆมุมมอง รับรองว่าจะได้แนวคิดดีๆ อีกเยอะเลย

ที่สำคัญอย่าลืม "หาอ่านหนังสือการลงทุนดี ๆ ซัก 4-5 เล่ม มาอ่านเพิ่มเติมความรู้กันด้วยนะครับ"

ลงทุนไปแล้วก็คงต้องติดตามข่าวกันบ้าง ไม่ใช่ว่าปล่อยเลยตามเลย เราเองก็เอาใส่เข้าไปในกองทุนแล้ว ก็ต้องถามถึงบ้างว่าเป็นอย่างไร เงินของคุณเอง ถ้าไม่ใส่ใจ แล้วใครจะดูแลให้เราละครับ

ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คงมีความพร้อมมากขึ้นแล้วใช่ไหมละครับ ใครที่สนใจจะไปงาน ที่สุดของนวตักรรมการลงทุนแห่งปี SET in the City ก็สามารถดูรายละเอียดภายในงานเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย https://goo.gl/ELrQQ1

สุดท้ายนี้ก่อนจะจากกันไปย้ำอีกสักครั้งนะครับว่า "ไม่มีกองทุนที่ดีที่สุด หรือ กองทุนที่จะดีตลอดไป" คุณต้องเลือกเอง ทั้งวิธีการลงทุน การวางแผนการเงิน

หน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายก็คือ ให้คำปรึกษาถึงแนวคิดการลงทุน แง่มุม ความเห็นต่อกองทุนที่คุณได้ไปเลือกมา แล้ว และ/หรือ แค่คัดกรองกองทุนที่น่าสนใจมาบางส่วนเท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ หรือทำให้เห็นภาพมากขึ้นเท่านั้นเอง

ดังนั้นต้องอ่านรายละเอียดก่อนลงทุนทุกครั้ง และทำการบ้านอย่างดีก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มต้นลงทุนนะครับ