“โดนไป 2,900 ค่ะ ปั๊มครีมออกมารู้สึกได้เลยว่าของปลอม เพราะเซรั่มเหลวมาก ขวดกับฉลากก็แบบต้องพิจารณาดีดีถึงรู้สึกถึงความแตกต่าง เอามาเปรียบเทียบกับของเคานเตอร์แบรนด์ที่ซื้อมาแล้วรู้เลย … เซ็งมากกกกกก 🙄🥲”

“ทำเวปซะเหมือนเลยค่ะ เคยพลาดซื้อไปแล้วของที่ได้เนื้อไม่เหมือนที่เคยใช้ เลยโยนทิ้งไปเลยค่ะ เสียดายเงินมาก“

“โดนไป 2900 เซ็งมากค่ะ แค่กล่องก้อดูปลอมมาก”

[…]

นั่นเป็นเพียงความคอมเมนต์บางส่วนของผู้ที่ถูกหลอกให้ซื้อของย้อมแมวจากเว็บไซต์เครื่องสำอาง Clinique ปลอม (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในโพสต์ของ Clinique ได้ครับ) มีผู้เสียหายหลายราย และที่สำคัญมันใกล้ตัวมาก ๆ เพราะภรรยาก็ ‘เกือบ’ โดนตกเช่นเดียวกัน

ช่วงเย็นวันหนึ่งเมื่ออาทิตย์ก่อน ภรรยาแชร์เรื่องนี้ให้ฟัง เธอบอกว่ามีคืนหนึ่งระหว่างที่นั่งเล่น Facebook ไปเรื่อย ๆ ก็เห็นโปรโมชันของเครื่องสำอาง Clinique โผล่ขึ้นมาบนหน้าฟีด ซึ่งเป็นเซรัม (อะไรสักอย่างที่เมื่อภรรยาพูดแล้วมันเหมือนทะลุผ่านสมองสามีไปเลย) ที่เธอใช้อยู่แล้วมันเป็น ‘1 แถม 1’ เธอจึงกดเข้าไปตามลิงก์ดังกล่าว เพราะราคาแบบนี้มัน ‘ดีมาก ๆ’

พอกดเข้าไปเสร็จปุ๊บก็จะเหมือนเว็บไซต์ทั่วไป มีรายละเอียดต่าง ๆ นานา และแน่นอนว่าโปรโมชันตรงนั้นก็เด่นขึ้นมาเลย เธอก็กด ‘ซื้อเลย’ แล้วแทนที่เว็บจะให้ไปเช็คเอาท์ตามขั้นตอนปกติ มันกลับให้ใส่ชื่อและที่อยู่แล้วก็มีแค่ปุ่ม ‘ซื้อเลย’ ไว้แค่นั้น

เธอก็ใส่รายละเอียดแล้วก็กดปุ่ม และกระบวนการทุกอย่างก็จบลง เธอก็งงว่าแล้วคือยังไงต่อ

เวลาผ่านมาสองสามวันก็มีขนส่งเจ้าหนึ่งมากดกริ่งหน้าบ้าน บอกมีพัสดุส่งมา ‘เก็บเงินปลายทาง’ ราคา 2,900 บาท เธอก็ตกใจเพราะปกติไม่เคยสั่งของมาเก็บเงินปลายทาง (โชคดีที่วันนั้นเธออยู่บ้าน เพราะไม่งั้นถ้าคนอื่นอยู่แล้วเกิดจ่ายไปก่อนนี้เสร็จเลย) เลยดูชื่อหน้ากล่อง เป็นบริษัทชื่อแปลก ๆ แล้วก็เริ่มนึกได้แล้วว่าต้องเป็นเจ้าเซรัมนั่นแน่นอน และมันก็แปลกมากที่มาเก็บเงินปลายทาง จึงตัดสินใจไม่รับของ

พี่พนักงานขนส่งก็ดีครับบอกว่า ‘ได้ครับผม เห็นช่วงนี้มีเยอะเลยแบบนี้’

แล้วเธอก็เอาเรื่องนี้มาเล่าให้ผมฟัง ผมเลยบอกว่า ‘โจรมันเก่งขึ้นทุกวันนะ ยังไงเรื่องใส่ข้อมูลบนเว็บไซต์หรือพวกโปรโมชันนี่ต้องดูดี ๆ เลย เพราะบางทีไม่ได้เสียแค่เงินค่าของ มันจะเอาข้อมูลเราไปทำอะไรต่อก็ไม่รู้’

หลังจากนั้นผมก็เข้าไปใน Facebook หาข้อมูลเกี่ยวกับ Clinique ปลอม จนกระทั่งเจอโพสต์ของ Clinique ว่าตอนนี้มีคนเอาชื่อไปแอบอ้างใช้เพื่อขายสินค้าปลอม (โพสต์ลิงก์ด้านบน) และก็มีเหยื่อจำนวนไม่น้อยที่เสียรู้ไปเรียบร้อย บางคนก็เกือบไปยกเลิกตอนขนส่งมาส่งที่บ้านทัน บางคนก็รู้สึกว่ามันทะแม่ง ๆ ตั้งแต่ให้ใส่รายละเอียดเลยกดปิดไปก่อน ผมเลยเอาจุดสังเกตต่าง ๆ ที่พอจะช่วยป้องกันความเสียหายมาแชร์กันครับ

  1. จำนวน Like ของเพจนั้นยังเป็นตัวกรองอันดับแรก เราจะเห็นเลยว่าเพจปลอมนั้นจำนวนจะน้อยกว่าค่อนข้างมาก ของปลอมหลักพัน กับ ของจริงหลักล้าน อันนี้เห็นได้ค่อนข้างชัด ยังไงก่อจะกดลิงก์สังเกตตรงนี้ก่อน
  2. ถ้าโปรโมชันมัน ‘ดีมาก ๆ’ หรือ ‘ดีเกินจริง’ ก็ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า แบรนด์ใหญ่ ๆ อย่าง Clinique ไม่เคยทำแบบนี้ และก็คงไม่ทำแบบนี้อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นก็คงไม่มีจริง
  3. ให้สังเกตติ๊กถูกสีฟ้าข้างหลังชื่อเพจบน Facebook ครับ (อันนี้จะเห็นว่าเพจปลอมเอาติ๊กสีฟ้าไปใส่ในรูป ซึ่งก็หลอกตาทำให้เรานึกว่าเป็นเพจจริงได้เหมือนกัน ตรงนี้สังเกตให้ดีครับ)
  4. สังเกตเรื่องโดเมนตอนที่กดลิงก์ก็เข้าไปด้วยก็จะช่วยได้อีกระดับหนึ่ง อย่างของปลอมจะเป็น .co (ซึ่งใครก็ซื้อได้) ของจริงจะเป็น .co.th ซึ่งเป็น domain สำหรับ การพาณิชย์และธุรกิจ ได้แก่ บริษัท, ห้างหุ้นส่วน และ เครื่องหมายการค้า ซึ่งจะต้องเป็นองค์กรพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือ บริษัทต่างประเทศที่มีตัวแทนอยู่ในประเทศไทย

ตรงนี้เป็นจุดสังเกตคร่าว ๆ ที่พอจะช่วยป้องกันการถูกหลอกได้ ยังไงใครมีจุดสังเกตอื่น ๆ ฝากแชร์ใส่คอมเมนต์ด้านล่างได้เลยนะครับ เผื่อคนอื่น ๆ ที่เข้ามาอ่านด้วย

อีกอย่างหนึ่งคือตอนนี้ไม่ใช่มีแค่แบรนด์เดียวที่เจอ มีเพจแอบอ้างไปอีกหลายแบรนด์และโจรก็ปรับกลยุทธ์ไปเรื่อย ๆ (ซึ่งก็เป็นอะไรที่น่ากวนใจไม่น้อย) เราอาจจะคิดว่าเราคงไม่พลาดหรอก แต่เราไม่มีทางรู้หรอกว่าเมื่อไหร่ที่เราหรือคนใกล้ตัวจะตกเป็นเหยื่อเพราะฉะนั้นระวังไว้ก่อนดีกว่า

“Only the Paranoid Survive” หรือแปลง่ายๆว่า “มีแต่คนขี้ระแวงเท่านั้นที่จะรอด” แนวคิดจากหนังสือเลื่องชื่อของซีอีโอระดับตำนานผู้ล่วงลับไปแล้วของ Intel อย่าง แอนดรูว์ โกรฟ ที่แม้จะถูกเขียนมาแล้วเกือบ 30 ปี ก็ยังใช้ได้ดีในปัจจุบัน

ระแวงไว้ก่อน ถ้าเห็นโปรฯ อะไรที่ดี ๆ ก็อย่าเพิ่งรีบกด หลักจิตวิทยา Loss Aversion (ความกลัวการสูญเสีย นับถอยหลังโปรฯหมดต่าง ๆ นานา) ที่เว็บไซต์หลาย ๆ แห่งใช้ยิ่งทำให้คนกดซื้อและรีบตัดสินใจผิดพลาดเยอะขึ้นด้วย

ลองหาเบอร์ติดต่อศูนย์หรือสาขาของแบรนด์นั้น ๆ เพื่อตรวจสอบรายละเอียดและคอนเฟิร์มก่อนก็จะช่วยได้เยอะเช่นกัน คิดในหัวเสมอว่า ถ้าเป็นโปรจริงแล้วเราพลาดเพราะซื้อไม่ทันหรือของหมด ก็ยังจะดีกว่าโดนหลอก หรือ ได้ของปลอมมาจะเสียอารมณ์มากกว่า

เมื่อโจรมันเก่ง เราก็ควรเก่งไม่แพ้โจรเช่นกัน