สิ้นปีอย่างนี้สิ่งที่จะเป็นยาชุบชูใจสำหรับความเหนื่อยล้าทั้งปี นอกจากงานปาร์ตี้ปีใหม่ จับสลากรางวัลใหญ่ของออฟฟิศแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นคำสั้น ๆ สองคำที่เป็นกำลังใจให้กับเราอย่างคำว่า “โบนัส” ใช่ไหมครับ? เรามีความสุขหัวใจหองโตทุกครั้งเวลาอ่านข่าวบริษัทเอกชนแห่งนั้น รัฐวิสาหกิจเจ้านี้ประกาศโบนัสกันโครม ๆ ที่แม้แต่เราฟังไปก็ได้แต่อิจฉาไป

แต่โบนัสปีนี้อาจจะดูหงอยๆกันไปบ้างตามสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย บางแห่งก็แจกโบนัสพร้อมกับประกาศเลิกจ้างปิดกิจการกันไป บางที่จาก 3-4 เดือน ก็เหลือแค่เดือนครึ่งแย่กว่านั้นก็ครึ่งเดือน แต่จะมากหรือจะน้อยถ้ายังได้ก็ขอให้รักษาไว้ให้ดี

ดังนั้นวันนี้เรามีเคล็ดลับในการบริหารโบนัสมาฝาก จะได้ไม่พลาดใช้หมดพร้อมกับ End Year Sale ที่มาจัดโปรโมชั่น

ข้อที่ 1

เราเรียกมันว่า “แบ่งโบนัสเป็น 4 ส่วน” โดยให้แยกจากเงินเดือนประจำออกไปเสียก่อน เช่น เงินเดือน 20,000 โบนัสอีก 40,000 บาท ก็ให้เอาก้อน 40,000 บาท มาแบ่งเป็น 4 ส่วน ๆ ละเท่า ๆ กัน คือ ส่วนละ 10,000 บาท

  • ส่วนแรก ให้เอาไปชำระหนี้สินก่อนเคลียร์ค่าบัตรหรือเงินที่ติดเพื่อนให้เรียบร้อยเริ่มต้นปีใหม่ 
  • ส่วนที่สอง ไว้เพื่อเป้าหมายระยะยาวเช่นมีแพลนจะทำประกันอุบัติเหตุหรือสมทบกับกองทุนที่จะซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี 
  • ส่วนที่สาม สำหรับเก็บไว้ใช้ในภาวะฉุกเฉินเราไม่รู้ว่าหลังปีใหม่อะไรจะเกิดขึ้นบ้างมีเงินสดไว้อุ่นใจกว่า 
  • และส่วนสุดท้ายอย่าลืมให้รางวัลตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อหล่อเลี้ยงขวัญกำลังใจ ซื้อของที่อยากได้ กินอะไรที่อยากกิน

ข้อที่ 2

“ออมอย่างไรให้โบนัสงอกเงย” ซึ่งตรงนี้เราต้องประเมินว่าโบนัสคือส่วนที่เกินจากปกติ สำหรับคนที่ไม่มีหนี้สิน การใช้โบนัสไปออม ถือเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาด เพราะไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายรายเดือน ถ้าคุณมีเงินเย็นในระยะสั้นแบ่งไปฝากประจำก็ไม่เลว  หรือถ้าหากระยะยาวแล้วชอบการลุ้นเสี่ยงดวง สลากออมสินหรือสลาก ธ.ก.ส. ก็ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าเพราะได้ทั้งดอกเบี้ยและได้ลุ้นรางวัลอีกด้วย

ข้อที่ 3

"เคลียร์หนี้ระยะยาว" สำหรับบางคนที่มีภาระการผ่อนบ้านระยาว เงินโบนัสเป็นของขวัญที่จะทำให้เรามีเงินไปโปะในส่วนนี้ได้ ยิ่งเราโปะได้มากเท่าไรเราก็สามารถ ลดต้น-ลดดอก ได้มากเท่านั้น ซึ่งดอกเบี้ยบ้านนั้นต่างจากดอกเบี้ยรถ  การผ่อนรถไม่จำเป็นต้องโปะเพราะว่าดอกเบี้ยเป็นอัตราคงที่ (Flat rate) จะส่งหมดเร็วหรือช้าดอกเบี้ยก็เท่าเดิม นอกจากกรณีที่ว่าเหลือไม่กี่งวดจะรีบปิดเพื่อความสบายใจก็สามารถทำได้

เท่านี้เองก็จะทำให้คุณเป็นคนบริหารโบนัสได้มีสติ มีแผนการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพได้สูงสุด ไม่ใช่ว่าโบนัสออกปุ๊บอีกสองวันหมดปั๊บ แล้วจะมานั่งเสียใจภายหลังอดสนุกปีใหม่ แล้วจะหาว่าไม่เตือน

Mr.Priceless  aomMONEY Writer

#SmartPaySmartShop #ฉลาดใช้ฉลาดช้อป #aomMONEY #PunPromotion #MoneyLiteracy