‘เงิน’ เป็นวัตถุหรือเอกสารใด ๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการ คอนเซปต์เรื่องเงินเป็นสิ่งที่เชื่อว่าเราทุกคนน่าจะเข้าใจดีเพราะอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ถ้าถามเด็ก 3-4 ขวบสมัยนี้ว่าเงินคืออะไร แม้จะไม่ทราบว่าหามายังไง แต่พวกเขาก็คงอาจจะตอบได้ว่ามันคือสิ่งที่เอาไปไว้เพื่อแลกของเล่นหรือสิ่งที่พวกเขาต้องการ

เราอาจจะหลงคิดไปว่าคอนเซปต์ของ ‘เงิน’ หรือ ‘สกุลเงิน’ นั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและเข้าใจในหมู่มนุษย์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วสัตว์ชนิดอื่นนอกจากจะแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของกับพื้นที่และของบางอย่างของตัวเองแล้ว ยังมีการแลกเปลี่ยนและแชร์อาหารกับตัวอื่น ๆ ที่ใกล้ชิดกันในกลุ่มด้วย และจากการทดลองของนักจิตวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยลในปี 2005 ก็พบว่าพวกเขาสามารถสอนให้ลิงคาปูชินใช้เงินได้และจากนั้นก็มีเรื่องที่เราคาดไม่ถึงตามมา


คีธ เฉิน (Keith Chen) นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำการทดลองนี้คู่กับ ลอรี ซานโตส (Laurie Santos) นักจิตวิทยา ได้อธิบายถึงลิงคาปูชินว่า “ลิงคาปูชินนั้นมีสมองขนาดเล็ก มันโฟกัสแค่สองอย่างก็คืออาหารและเซ็กส์ คุณอาจจะลองนึกถึงลิงคาปูชินเหมือนเป็นพื้นฐานความต้องการแบบต่ำที่สุดเลยก็ได้ ให้มาร์ชแมลโลว์มันทั้งวัน มันก็จะอ้วกแล้วกลับมากินใหม่”

ซึ่งพฤติกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยความต้องการพื้นฐานแบบนี้แหละที่เฉินและซานโตสพยายามจะศึกษาว่าสิ่งจูงใจกระตุ้นพฤติกรรมของพวกมันได้ยังไงและวิเคราะห์เหตุผลของพฤติกรรมเหล่านั้นด้วย

อันที่จริงแล้วนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฉินทำการทดลองกับลิงในเรื่องเศรษฐศาสตร์ของมนุษย์ ก่อนหน้านี้ระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ก็เคยทำการทดลองเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่หวังผลตอบแทนในลิงแทมารินหัวปุยฝ้าย (cotton-top tamarin) มาแล้วครั้งหนึ่ง

ตอนนั้นเขาเอาลิงแทมารินหัวปุยฝ้ายสองตัวใส่ไว้ในกรงแยกกัน (แต่เห็นกันอยู่) ในกรงก็จะมีเชือกให้ดึง เมื่อลิงตัวหนึ่งดึง อีกตัวหนึ่งจะได้อาหาร ซึ่งลิงปกติก็จะดึงประมาณ 40% สิ่งที่น่าสนใจก็เกิดขึ้นหลังจากนั้นครับ

เขาฝึกลิงสองตัว ตัวแรกฝึกให้ดึงแบบตลอด (ลิง A - 100%) และตัวที่สองฝึกให้ไม่ดึงเลย (ลิง B - 0%) ทีนี้ก็เอาลิงสองตัวนี้เข้ามาร่วมการทดลองด้วย

ในตอนแรกพวกเขาเอาลิง A ที่ดึงตลอดมาใส่ในกรง ลิงอีกฝั่ง (ซึ่งเป็นลิงปกติ) ก็จะดึงตอบประมาณ 50% แต่พอเวลาผ่านไป ลิงปกติก็รู้แล้วว่าลิงอีกตัวยังไงมันก็ดึง (เพราะถูกฝึกมาแบบนั้น) มันก็เริ่มดึงน้อยลงเหลือแค่ 30% เท่านั้น

คราวนี้ถึงตาลิง B ที่ถูกฝึกมาไม่ให้ดึงเชือกเลยบ้าง พอลิง B เข้าไปในกรงก็ไม่ดึงเชือก แต่อีกฝั่ง (ลิงปกติ) ก็ดึงตามอัตราปกติ แต่ลิง B ก็ไม่ดึงตอบ ลิงอีกฝั่งก็ดึงอีก ลิง B ก็เงียบกินอาหารของตัวเองไป (ที่ลิงอีกฝั่งดึงให้) ผ่านไปอีกสักพัก หลังจากลิงปกติดึงแล้วดึงอีก แต่ลิง B ก็ไม่ตอบสนองอะไร แถมยังกินอาหารสบายใจเฉิบ ทีนี้ลิงปกติโกรธครับ ยืนขี้ใส่เลยผนัง ไม่พอใจ เดินไปเข้ามุมนั่งทับมือตัวเองเหมือนจะบอกว่าไม่ทำแล้ว

สำหรับเฉินแล้วการทดลองนั้นทำให้เห็นว่าลิงฉลาดและมีหลักเหตุผลมากกว่าที่เราคิด


ครั้งนี้ที่เยล เฉินกับซานโตสไม่ได้มีเป้าหมายอะไรที่ชัดเจนกับการทดลองกับลิงคาปูชินในตอนเริ่มต้น เพียงแค่อยากรู้ว่าถ้าให้เงินกับลิงมันจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งสิ่งที่พวกเขาใช้แทนเงินก็คือเหรียญเงินขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งนิ้วมีรูตรงกลาง จะตี๊ต่างว่าเป็นสกุลเงินลิงก็คงได้ เพราะอย่างที่เรารู้ ‘เงิน’ เป็นวัตถุหรือเอกสารใด ๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการ และในสังคมของลิงคาปูชินกลุ่มนี้ เหรียญเงินที่มีรูตรงกลางก็คือ ‘เงิน’ สำหรับพวกมัน

หลายเดือนผ่านไป ลิงคาปูชินกลุ่มนี้เริ่มเรียนรู้แล้วว่าเหรียญเงินอันนี้สามารถแลกผลไม้ที่ตัวเองต้องการได้ คอนเซปต์ของเงินที่ใช้สำหรับการแลกเปลี่ยนของที่อยากได้ก็เกิดขึ้น หลังจากนั้นลิงเหล่านี้ก็จะได้เหรียญตัวละ 12 เหรียญเพื่อเอาไว้ซื้อผลไม้ที่ตัวเองอยากได้ ผลไม้แต่ละอันก็ใช้เหรียญไม่เท่ากัน ลิงเหล่านี้ไม่เพียงแต่เข้าใจเท่านั้น พวกมันยังสามารถจัดสรรเงินสำหรับผลไม้ที่ตัวเองอยากได้อีกด้วย

ทีนี้การทดลองเริ่มยากขึ้นอีก เฉินกับซานโตสปรับลดราคาของเยลลี่ลง จากเมื่อก่อนต้องใช้สองเหรียญ ตอนนี้ใช้เหรียญเดียวก็แลกได้แล้ว ซึ่งก็เหมือนการลดราคาสินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อจะดูว่าลิงจะซื้อของที่ราคาถูกแทนที่จะซื้อของที่ตัวเองชอบไหม (ลิงจะชอบองุ่นมากกว่าเยลลี่) ปรากฏว่าลิงเอาเหรียญแลกเยลลี่เยอะกว่าจริง ๆ ด้วย

ถึงตรงนี้เราอาจจะเริ่มตั้งคำถามว่าลิงคาปูชินพวกนี้เข้าใจคอนเซปต์ของเงินจริง ๆ เหรอ หรือแค่ทำอะไรได้เพียงแค่อยากได้อาหารเท่านั้น? พวกเขาก็เลยทดลองหั่นแตงกวาเป็นแว่นกลม ๆ ทรงเหมือนกับเหรียญเงิน แล้วเอาให้ลิง (จากเมื่อก่อนที่หั่นเป็นลูกเต๋าเพื่อเป็นอาหาร) ลิงก็หยิบแตงกวาเป็นแว่นขึ้นมา กัดนิดหน่อย เพราะปกติมันก็กิน แต่ครั้งนี้ด้วยรูปทองที่เหมือนเหรียญ มันกลับรีบวิ่งไปที่นักวิจัยและพยายามเอาแตงกวาเป็นแว่นนี้ซื้ออาหารอย่างอื่นแทน

นอกจากนั้นแล้วยังมีการ ‘โจรกรรม’ เหรียญอีกด้วย คือปกติแล้วลิงคาปูชินทั้งหมด 7 ตัวนี้จะอยู่ด้วยกันในกรงใหญ่ ซึ่งการทดลองแต่ละครั้งลิงหนึ่งตัวก็ถูกแยกมาไว้ในส่วนแยกซึ่งนักวิจัยก็จะยื่นเหรียญที่ใส่ในถาดให้ ครั้งหนึ่งลิงตัวหนึ่งดึงถาดที่มีเหรียญเต็มถาดแล้วโยนไปในกรงใหญ่ ความโกลาหลก็เกิดขึ้นทันที นักวิจัยทั้งกลุ่มก็รีบวิ่งเข้าไปในกรงเพื่อแลกอาหารกับเหรียญเงินเหล่านั้นคืน

บางอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้นในตอนนั้นด้วยที่ทำให้เห็นว่าลิงคาปูชินเหล่านี้ ‘น่าจะ’ เข้าใจคอนเซปต์ของเงินจริง ๆ คือการใช้มันเพื่อซื้อหรือแลกเปลี่ยนบางอย่างที่ไม่ใช่แค่อาหารแต่บริการอย่างอื่นได้ด้วย ระหว่างที่ความโกลาหลเกิดขึ้น เฉินสังเกตเห็นว่าหนึ่งในลิงคาปูชินซื้อเซ็กส์จากลิงคาปูชินอีกตัว หลังจากที่เสร็จกิจลิงตัวผู้ก็ยื่นเหรียญเงินให้ลิงตัวเมีย หลังจากนั้นลิงตัวเมียก็นำเหรียญอันนั้นมาซื้อองุ่นทาน

ประเด็นนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ หลังจากลิงเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเงินและแรงจูงใจ มันก็ตอบสนองอย่างมีเหตุผลอย่างที่เรา ซึ่งเป็นมนุษย์คาดว่ามันจะเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะใช้เงินจนหมด จะซื้อของเมื่อลดราคา จะขโมยเมื่อทำได้ ใช้เงินเพื่อแลกอาหารและบางครั้งก็เอาไปแลกเป็นบริการอย่างอื่นเช่นเซ็กส์ด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งไม่ว่าจะลิงหรือมนุษย์ พอเป็นเรื่องเงิน เราก็ดูเหมือนจะเข้าใจว่าต้องใช้มันยังไงได้ดีไม่ต่างกัน

==========

ZME Science

ZME Science

NCBI

The New York Times